คลังเมินชงครม. ปรับเกณฑ์กู้บ้านประชารัฐ

คลังเมินชงครม. ปรับเกณฑ์กู้บ้านประชารัฐ

"สศค." เผยไม่จำเป็นต้องเสนอ ครม. ปรับเงื่อนไขปล่อยกู้โครงการบ้านประชารัฐ ชี้ออมสิน-ธอส.สามารถขออนุมัติจากบอร์ดได้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ตามที่ธนาคารออมสิน จะขอปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ในโครงการบ้านประชารัฐนั้น ธนาคารออมสิน สามารถตัดสินใจผ่อนปรนเงื่อนไขได้เอง แล้วขออนุมัติที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) โดยไม่จำเป็นต้องเสนอขอแก้ไขไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)

เนื่องจากมติ ครม. ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการในกรอบกว้างๆ โดยเงื่อนไขการปล่อยกู้นั้น 2 ธนาคารได้เป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง สศค.ไม่ได้มีรายละเอียดเงื่อนไขว่าจะต้องทำอย่างไร ส่วนการกำหนดราคาบ้านที่จะเข้าร่วมโครงการไว้ที่ 1.5 ล้านบาทนั้น มาจากผลการหารือกับทางผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์

“วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริงๆ ให้เข้าถึงสินเชื่อ และสามารถมีที่อยู่อาศัยของตัวเอง ทั้งรายละเอียดเงื่อนไขปล่อยกู้ และวงเงิน 2 หมื่นล้านบาทต่อธนาคารนั้น ทางธนาคารเป็นผู้กำหนด และเสนอขึ้นมาเอง หากติดขัดอะไร ก็สามารถเข้ามาคุยกันได้ ไม่ต้องถึงขั้นเสนอขอแก้ไขจากครม.”

แหล่งข่าวจากสศค. กล่าวว่า คงจะไม่มีการปรับเงื่อนไขปล่อยกู้โครงการบ้านประชารัฐ เพราะโครงการนี้ ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจริงๆ ซึ่งวงเงินการปล่อยสินเชื่อรวม 6 พันล้านบาท จากวงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ภายในเวลาไม่กี่เดือน ก็ถือว่าช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยได้จำนวนมากแล้ว และการที่ปล่อยกู้ได้เท่านี้ อาจเป็นเพราะสต็อกบ้านในระดับราคา 1.5 ล้านบาทนี้ ได้ขายออกไปหมดแล้ว หรือไม่

หากลูกค้ารายอื่นๆ ที่มาขอกู้ ติดเงื่อนไขในโครงการที่ไม่สามารถขอกู้ได้ ทั้ง 2 ธนาคาร สามารถโอนลูกค้ากลุ่มนี้ ไปขอกู้ในโครงการอื่นๆ ที่ธนาคารมีอยู่ได้ แต่ดอกเบี้ยอาจจะสูงขึ้น นอกจากนี้โครงการบ้านประชารัฐ ยังมีระยะเวลาถึง 2 ปี จำนวนการปล่อยกู้อาจจะเพิ่มมากชึ้น

นายกฤษฎา กล่าวอีกว่า สศค. กำลังศึกษาแนวทาง การปรับปรุง การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อให้คนชรา สามารถดำรงชีพ ภายใต้ค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นได้ โดยแนวทางหนึ่งในการพิจารณาก็คือ การกำหนดเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อให้คนชราที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพ ส่วนคนชรา ที่มีรายได้พอเลี้ยงตัวเอง ก็อาจไม่ได้รับเบี้ยยังชีพคนชราจากรัฐ

หากแนวคิดในการปรับปรุง เบี้ยยังชีพคนชราดังกล่าวได้รับการยอมรับ ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐ จะลดภาระการจ่ายเบี้ยยังชีพคนชรา แต่รัฐสามารถนำงบประมาณที่ประหยัดได้ ไปจ่ายเพิ่มให้แก่คนชรา ที่มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยยังชีพ เช่น อาจได้รับคนละ 2 พันบาท ซึ่งก็จะทำให้สามารถดำรงชีพภายใต้ภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ แต่เดิมก่อนปี 2553 รัฐบาล เบี้ยยังชีพคนชรา แบบมีเงื่อนไขให้เฉพาะคนสูงอายุที่มีรายได้ไม่พอยังชีพ ซึ่งรัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อจ่ายเป็นเบี้ยยังชีพคนชรา ราว 3 หมื่นล้านบาท แต่ในปี 2010 ได้ประกาศให้กับคนชราที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปทุกคน ทำให้งบประมาณเพื่อการนี้ ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นล้านบาท/ปี