จุดพลุ‘ประเทศไทย 4.0’จัดทัพแข่งเวทีโลก

จุดพลุ‘ประเทศไทย 4.0’จัดทัพแข่งเวทีโลก

แนวทางขับเคลื่่อนประเทศสู่ยุค "ไทยแลนด์ 4.0" ของรัฐบาล ไม่ต่างจากยุทธศาสตร์ขององค์กรธุรกิจ

หากชัดเจนและสามารถบูรณาการทุกภาคส่วนให้ไปในทิศทางเดียวกัน ย่อมมีโอกาสสูงในการบรรลุเป้าหมายสูงสุด (Ultimate Goals)

  เดอะมอลล์กรุ๊ป หนึ่งในภาคเอกชนรายใหญ่ สะท้อนมุมมองประเทศไทย ยุค 4.0 ผ่าน  เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ประธานเจ้าหน้าที่้บริหาร บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นนโยบายทันสมัยสอดคล้องกับเทรนด์ใหญ่ของโลก หรือในวงการธุรกิจ ยกให้เป็น “ยุคโกลบอล”

  “เป็นภาพใหญ่ที่ยากสำหรับคนที่ไม่บูรณาการ ยากสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องใหม่ที่ทุกคนต้องเร่งทำความคุ้นเคย เพราะมีหลายอย่างต้องปรับปรุง เปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด หลายองค์กรต้อง รี-เอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต้องทำอยู่แล้วเพื่อให้ทันโลก”

ทั้งนี้ ไทย ต้องขับเคลื่อนให้เร็ว!! เพราะประเทศอยู่ในช่วงสุญญากาศมานาน การวิ่งผ่านสุญญากาศต้องเร็ว ต้องใช้พลังทั้งประเทศจาก “โลคอล” สู่ “โกลบอล” วาระเร่งด่วนของรัฐบาล ต้องเริ่มจาก "Piority" จัดลำดับความสำคัญว่าอะไรคือหัวใจหลักและสำคัญที่สุด "united"  ความพร้อมใจกันทุกภาคส่วน “เมื่อพร้อมใจกันทุกภาคส่วนก็เหมือนการรวมพลังเป็นคลื่นลูกใหญ่” เรียกได้ว่า เป็น People for Thailand

สุดท้าย "Integration"  การผสมผสาน รวมเข้าด้วยกัน หรือ บูรณาการในทุกภาคส่วน เป็นหัวใจสำคัญ ซึ่ง “รัฐ” ต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงาน เพราะต้อง collaboration (ความร่วมมือ) อย่างมาก

  จะเห็นว่า “ไทยแลนด์ 4.0” เป็นนโยบายในภาพกว้าง แต่ละองค์กรหรือหน่วยงานที่นำไปปฎิบัติต้องทำความเข้าใจใน DNA ของ 4.0 โดยเฉพาะ “การแข่งขัน” ที่มี 2 ระดับ คือ ระดับประเทศ และระดับโลก

ขณะที่การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการก้าวสู่เวทีโลก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย “สตาร์ทอัพ” และ “เอสเอ็มอี” ที่เริ่มขยายฐานเติบโตเวลานี้ จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเร่งด่วน ทั้งด้านโอกาส แนวทางการพัฒนา ที่รัฐบาลต้องทำหน้าที่ “พี่เลี้ยง” โดยเฉพาะทางด้านแหล่งเงินทุน และการขจัดอุปสรรคทาง เรื่อง "funding" หรือ การเปลี่ยนเงินกู้ชั่วคราวให้เป็นเงินกู้ประจำ สำคัญมาก!! เพราะการเติบโตด้วย Value-Based ใช้เงินทุนค่อนข้างสูง

  เกรียงศักดิ์ วิเคราะห์รายเซ็กเตอร์ของอุตสาหกรรมที่เปี่ยมศักยภาพ เป็น “โอกาสทอง” สำหรับประเทศไทย ไล่ตั้งแต่ อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยยุคปัจจุบัน ก้าวหน้ามาก ศูนย์การค้าไทยเป็น “อัลทิเมท ชอปปิง พาราไดซ์” หรือ เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ลูกค้าต้องการ สร้างความพึงพอใจสูงจากประสบการณ์ใหม่ เป็นที่ชื่นชอบและชื่นชม เสมือน “บ้านหลังที่ 2” ของผู้บริโภค เรียกได้ว่า บรรลุเป้าหมายสูงสุดของผู้ประกอบการ

ไม่เพียงธุรกิจออฟไลน์ แต่ “ค้าปลีกออนไลน์” ของไทยมีความทันสมัยและเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ค้าปลีกออนไลน์ หรือระบบการค้าผ่าน “อีคอมเมิร์ซ” คือ ตลาดโลก เป็น “โกลบอล วินโดว์” สำหรับผู้ประกอบการที่โผล่หน้าออกไปก็คือผู้บริโภคทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม หากมองถึงอุตสาหกรรมสำคัญระดับโลก คือ “อาหาร” ที่้ต้องหล่อเลี้ยงผู้คนกว่า 7,000 ล้านคน!! “ไทย” จำเป็นต้องเร่งพัฒนาภาคเกษตรกรรมท่ามกลางภาวะที่เกษตรกรยุคนี้เผชิญปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้มากขึ้น โดยเฉพาะ “ภัยพิบัติ” รูปแบบต่างๆ การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อรายได้ประเทศไทย นับเป็น “วาระเร่งด่วน” หากไทยสามารถเป็น “ฟู้ด ออฟ เดอะ เวิลด์” จะสร้างความร่ำรวยและมั่งคั่งให้เกษตรกรและประเทศไทย

ในเซ็กเตอร์ “สปอร์ต” จะเห็นว่า “เฮลธ์โซไซตี้” ในโลกมาแรงมาก บรรดา ซูเปอร์สตาร์ และ เซเลบริตี้ ล้วนให้ความสำคัญกับสุขภาพ เพราะ “สุขภาพดี” หมายถึงการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายโดยภาพรวมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากโปรดักท์ “คลีนฟู้ด”  ซึ่งไทยมีฐานการผลิตอาหารขนาดใหญ่ หากสามารถพัฒนา “ฟู้ดเชน” จากระดับรากหญ้าทำให้เกิดความสะอาดของฟู้ดเชนซึ่งเป็นที่ต้องการของทั้งโลก คนทั่วโลกก็จะมองมาที่ไทย

  "การมีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วย ย่อมไม่เดือดร้อนคนข้างเคียง ซึ่งคนป่วย 1 คน ใช้ asset ของประเทศค่อนข้างมาก รอบข้างคนป่วยประสิทธิภาพก็ถดถอยแทนที่จะได้ประสิทธิผล 100% หากมองในระนาบของการแข่งขันเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่มีผลพวงไปสู่ประสิทธิภาพของบุคคล"

  ปัจจัยสำคัญไทยต้องเร่งพัฒนาและเชื่อมโยงระบบขนส่งทั้งทางบก น้ำ อากาศ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อ (connectivity) รองรับการ “เคลื่อนไหว” ของคนทั้งโลกที่มีการเดินทางท่องเที่ยว การขยายตัวทางการค้า การลงทุน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายฐานการผลิต แรงงาน

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็น “ขุมทอง” ของทุกประเทศ โดย “ทุกคนในโลกล้วนเป็น ทัวริสต์ ออฟ เดอะ เวิลด์” ฉะนั้นความพร้อมและสมบูรณ์แบบของโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คือ หัวใจสำคัญ ยกตัวอย่าง “สายการบิน” คือ ทัวริสต์ระดับท็อปที่ไทยต้องการ นักเดินทางทุกคนต้องการเส้นทางและเวลาที่สั้นที่สุด แต่ปัจจุบันไทยกลับยกเลิกไดเร็คไฟล์ในหลายเส้นทาง ไม่ต่างจาก “คนถูกตัดแขนข้างหนึ่งแต่จะต้องขึ้นชก”

สำหรับเซ็กเตอร์ “รถยนต์” ไม่น่าห่วง เพราะเป็น “โกลบอล อินโนเวชั่น”  จะทำอย่างไรให้สามารถใช้ประโยชน์จากความทันสมัยได้เต็มประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับ “ภาคเซอร์วิส”  ไทยมีทรัพย์สินในเรื่องบริการอย่างมาก มีความซื่อสัตย์ เป็นมิตร คือ สินทรัพย์ที่ไม่มีชาติใดในโลกแข่งขันได้ ต้องสร้างให้เป็น “โรลโมเดล” จะทำให้ธุรกิจเข้มแข็งและแตกต่าง!!

เกรียงศักดิ์ ย้ำกว่า หลายอุตสาหกรรมของไทยมีโอกาสเติบโตเป็นดาวเด่น ทุกฝ่ายต้องใช้ศักยภาพขั้นสูงในการรวมพลังขับเคลื่อนแบบ 360 องศา

เวลานี้ โลกหมุนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อนบ้านในเอเชียแปซิฟิกเติบโตเร็วมาก และมียุทธศสตร์ก้าวสู่ “โกลบอล” ด้วยความเข้มแข็งไม่ต่างกัน คือ เงื่อนเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องเห็นตรงกันว่าประเทศไทยจะช้าไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว!!