กทม.เร่งสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อ คืบหน้า70%

กทม.เร่งสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อ คืบหน้า70%

กทม.เร่งสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อ กำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คืบหน้า70 เปอร์เซ็นต์ แล้วเสร็จต้นปี 60 ป้องกันน้ำท่วม 6 เขตกรุงชั้นใน

นายจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ลงพื้นที่ตรวจจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ คลองหลุมไผ่ คลองโคกคราม และคลองเสือน้อย โดยมีคณะผู้บริหารสำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ที่บริเวณจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำพื้นที่ก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ เขตจตุจักร จากนั้นนายจุมพลลงพื้นที่ตรวจจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณก่อสร้างอาคารรับน้ำคลองบางซื่อ ถนนวิภาวดีรังสิต เขตพญาไท จุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณก่อสร้างอาคารรับน้ำคลองบางซื่อ ถนนรัชดาภิเษก เขตห้วยขวาง จุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณจุดตัดถนนลาดพร้าว-วังหิน คลองเสือน้อย เขตลาดพร้าว จุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณจุดเชื่อมคลองลาดพร้าว คลองหลุมไผ่-คลองโคกคราม เขตบางเขน และจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำบริเวณซอยรามอินทรา 34 คลองบางขวด เขตบางเขน  

นายจุมพล กล่าวว่า วันนี้มาลงพื้นตรวจโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ เพื่อดูความคืบหน้าในการก่อสร้าง ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดฝนตกหนักในเขตจตุจักร ลาดพร้าว และบางเขน ทำให้เกิดปัญหาน้ำขังรอการระบายในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยเฉพาะบริเวณถนนรัชดาภิเษก และหมู่บ้านย่านรามอินทรา ซึ่งในวันนี้ได้มาดูจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ส่วนโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปมากกว่าแผนดำเนินการ ซึ่งแผนกำหนดไว้ 51 เปอร์เซ็นต์ แต่การก่อสร้างดำเนินไปมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณต้นปี 2560 และจะสามารถรับน้ำจากถนนรัชดาภิเษก ถนนวิภาวดี ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีสถานีสูบน้ำกำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบสถานีสูบน้ำปลายคลองบางซื่อ กำลังสูบ 45 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในอนาคตเมื่อรวมกันทั้งสองแห่งแล้ว จะมีกำลังสูบ 100 กว่าลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในพื้นที่ 6 เขตในย่านนี้ได้เป็นอย่างดี 

“ระหว่างการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ ก็เป็นเรื่องปกติที่จะมีอุปสรรคต่อการระบายน้ำในคลอง ซึ่งคลองบางซื่อมีความกว้างประมาณ 20 กว่าเมตร สามารถระบายน้ำได้ 30-40 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เมื่อมีการก่อสร้างอุโมงค์จำเป็นต้องใช้พื้นที่ในคลองบางส่วนในการลำเลียงคอนกรีต เพื่อไปติดตั้งอุโมงค์ ทำให้ช่องระบายน้ำแคบลงเล็กน้อย แต่ในเบื้องต้นได้ให้สำนักการระบายน้ำหารือร่วมกับผู้รับเหมา ในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อให้การระบายน้ำโดยเฉพาะในช่วงเวลาฝนตกมีความคล่องตัวและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”นายจุมพล กล่าว     

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย มีสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณเกียกกายกำลังสูบ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมระบบเครื่องกลและไฟฟ้า 1 แห่ง อาคารรับน้ำ 3 แห่ง อุโมงค์ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.0 เมตร ยาวประมาณ 6.40 กิโลเมตร พร้อมกับมีอาคารสำนักงาน 1 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 เขต ประมาณ 56 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 1.เขตจตุจักร 2.บางซื่อ 3.พญาไท 4.ดินแดง 5.ห้วยขวาง และ6.ดุสิต 

“เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนสายสำคัญ ประกอบด้วย ถนนพหลโยธิน จากสี่แยกสะพานควายถึงห้าแยกลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต จากสี่แยกสุทธิสารถึงห้าแยกลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษก จากสี่แยกรัชโยธินถึงคลองบางซื่อ ถนนลาดพร้าว จากสี่แยกรัชดาลาดพร้าวถึงคลองบางซื่อ ถนนกำแพงเพชร จากใต้ทางด่วนศรีรัชถึงตลาดนัดสวนจตุจักร และถนนสามเสน จากคลองบางกระบือถึงสี่แยกเกียกกาย รวมทั้งช่วยการระบายน้ำในคลองบางซื่อบริเวณคอขวด ช่วงถนนพหลโยธินถึงถนนวิภาวดีรังสิตด้วย”รายงานข่าวระบุ