'พีระศักดิ์'ชี้เฟสบุ๊คไลฟ์จ้อรธน.ทำได้ ให้ดูเจตนา

'พีระศักดิ์'ชี้เฟสบุ๊คไลฟ์จ้อรธน.ทำได้ ให้ดูเจตนา

“พีระศักดิ์” ชี้เฟสบุ๊คไลฟ์ จ้อรธน.ทำได้ หากไม่ขัดกม.ประชามติ ผิดหรือไม่ต้องดูที่เจตนา

ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ (มปท.)  ออกมาพูดถึงสาระร่างรัฐธรรมนูญ พรัอมบอกว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ ว่า นายสุเทพทำคนเดียวหรือไม่ ถ้าทำคนเดียวก็ทำได้ เพราะไม่ขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งทุกคนมีสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 ที่ให้แสดงความเห็นที่ตรงกับข้อเท็จจริงตามร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่จูงใจให้ใครไปใช้สิทธิรับหรือไม่รับ เพราะนั่นถือเป็นการชี้นำ ดังนั้นอยากฝากประชาชนว่าอย่ากังวลและอย่าดูเพียงมาตรา 61 วรรคสองเท่านั้น เพราะมาตรา 7 ให้เสรีภาพอยู่ 

“กฎหมายประชามติ เป็นกฏหมายอาญาประเภทหนึ่ง จึงต้องมีเจตนากระทำผิดจึงจะได้รับโทษ ถ้าไม่มีเจตนาจะไม่มีโทษ ผมพูดในฐานะที่เคยเป็นอัยการมากว่า 20 ปี ได้ทำคดีอาญามาเยอะ จึงขอให้กำลังใจ ครู ก. ครู ข. และครู ค.ที่ทำหน้าที่ชี้แจงสาระสำคัญของคำถามพ่วงประชามติอยู่ในขณะนี้“ นายพีระศักดิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดนปช.ตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการช่วยกกต.ในการทุจริตในระหว่างการทำประชามติ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า คงทำไม่ได้ อยู่ที่การตีความของผู้รักษากฏหมาย ซึ่งคสช.มองว่า ศูนย์ปราบโกงฯเป็นการชุมนุมทางการเมืองชัดเจน ดังนั้นถ้ามีคนทำผิดแล้วรัฐไม่ดำเนินการจะถือเป็นการละเว้น จึงต้องเอาผิด ส่วนคนที่มองว่าทำไมนายสุเทพทำได้ แต่แกนนำนปช.ทำไม่ได้ คงเป็นการเข้าใจผิด เพราะรัฐมีหน้าที่รักษากฏหมาย ต้องไม่ 2 มาตรฐานว่า คนนั้นทำได้ อีกคนห้ามทำ ดังนั้น จึงต้องดูว่าอีกฝ่ายทำอย่างไรถึงทำได้ ขณะที่ฝ่ายทำอย่างไรถึงทำไม่ได้ ทั้งนี้ การที่มีหลายฝ่ายมองว่า บรรยากาศก่อนการทำประชามติที่แต่ฝ่ายทางการเมืองออกมาเคลื่อนไหวกันมาก อาจไม่เอื้อต่อการให้ประชาชนออกมาใช้สิทธินั้น ตนเชื่อว่า รัฐบาล คสช.กกต. กรธ.จะร่วมกันดูแลให้บรรยากาศมันราบรื่นจนผ่านไปได้  

ต่อข้อถามที่ว่า ถ้าแกนนำนปช.หรือฝ่ายอื่น ๆ จะออกมาเฟสบุ๊คไฟล์เพียงคนเดียวทำได้ใช่หรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ทำได้ ถ้าไม่มีลักษณะของการชี้นำหรือปลุกระดมที่เข้าข่ายผิดมาตรา 61วรรคสองของกฏหมายประชามติ     

นายพีระศักดิ์  ยังกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติฯ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญคงจะวินิจฉัยไม่เกินคำขอของผู้ตรวจการแผ่นดินถ้าหากชี้ว่าขัดก็จะขัดเฉพาะมาตรา 61 วรรคสอง ไม่ใช่ขัดทั้งฉบับ และจะไม่มีผลจนต้องเลื่อนวันประชามติอย่างแน่นอน คงไม่มีการนำกลับมาที่สภาฯเพื่อออกพ.ร.บ.ประชามติฯฉบับใหม่ เพราะจะไม่ทันวันที่ 7 สิงหาคมนี้ นายกฯคงมีทางออก ซึ่งอาจจะใช้คำสั่งคสช.ดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำได้ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกผันทุกองค์กรอยู่แล้วเพื่อความรวดเร็ว   

ต่อข้อถามที่ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตัดมาตรา61 วรรคสองจะถือเป็นบกพร่องในการออกฏหมายของสนช.หรือไม่ นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ก็คงต้องรับผิดชอบร่วมกัน