84 ปีปชต.ไทยชี้ "เผด็จการไม่ได้โง่"

84 ปีปชต.ไทยชี้ "เผด็จการไม่ได้โง่"

วงเสวนาครบรอบ 84 ปี 2475 ชี้ "เผด็จการไม่ได้โง่ เขาเรียนรู้จะอยู่ยาว ด้วย 7 เงื่อนไข”

วงเสวนา “ครบรอบ 84 ปี 2475”  ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงานเสวนาทางวิชาการ ฉลองครบรอบ 84 ปี เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ในหัวข้อ "อนาคตประเทศไทยกับการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย" 

นายสติธร ธนานิธิโชติ นักวิชาการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เผด็จการไม่ได้โง่ เขาเรียนรู้ที่จะอยู่ยาว ด้วย 7 เงื่อนไข ได้แก่ 1.ทำให้ภาคประชาสังคมมีพื้นที่ต่อสู้ ข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนอง 2.คงให้มีโครงสร้างการปกครองต่างๆ ทั้งพรรคการเมือง หรือองค์กรต่างๆ 3. สามารถสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจให้กับนักลงทุนต่างชาติ มีนโยบายที่ชัดเจน เช่น การให้มีโรดแม็ประยะยาว ทั้งทำให้ประชาชนพอมีพอกิน 4.การมีโครงการความร่วมมือแบบพึ่งพา ระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน 5.เป็นผลสืบเนื่องจากข้อ 4 คือความเหลื่อมล้ำที่น้อยลง หรือไม่มากจนเกินยอมรับ 6.การฉกฉวยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากโลกภายนอก รักษาผลประโยชน์ชนชั้นนำ ไม่ให้ถูกกระทบมากจนเกินไป รักษาการเคลื่อนย้ายทางเศรษฐกิจให้เดินไปได้ โอกาสที่คนกลุ่มนี้จะสนับสนุนก็มีสูง และ 7.โลกาภิวัฒน์ทางการเมือง รู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว ตามข้อเรียกร้องขององค์กรนานาชาติ รับฟัง ทำตามบ้างเล็กๆน้อยๆ

นายสติธร กล่าวว่า นับตั้งแต่ ปี 2475 จนถึงการครบรอบ 72 ปี หรือตรงกับปี 2547 การมีประชาธิปไตย ประเทศไทยขึ้นสู่สุดสูงสุดของการมีประชาธิปไตย และวันนี้เราอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน จากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง ซึ่งมันอาจจะไม่ได้นำไปสู่ผลที่ตั้งไว้ว่าจะเป็นประชาธิปไตย เพราะประเทศประชาธิปไตย ทั้งสหรัฐฯ หรืออังกฤษ ต่างกำลังถูกท้าทายในหลายเรื่อง อีกทั้งประชาธิปไตยเองมีเงื่อนไขที่ไม่สามารถทำได้ 4 ประการ คือ 1.ไม่สามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง 2.คนที่มีส่วนร่วมทางการเมืองไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น เพราะอำนาจรวมที่ศูนย์กลาง 3.ในช่วงหลังรัฐบาลไม่ทำสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง อยากให้ทำอย่างนี้ แต่กลับไปทำอีกอย่าง และ 4.ไม่สามารถทำให้เกิดความสมดุลในทุกด้าน

นอกจากนั้น ในส่วนของนายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประชาธิปไตยของประเทศไทย แบ่งได้ 3 ระลอก คือ 1.ช่วงปี 2475, 2. ช่วง 14ต.ค.2516, และ3.ช่วงพฤษภา 2535 ซึ่งหลายคนคิดว่าการรัฐประหารเมื่อปี 2534 จะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ตนไม่เคยเชื่อแบบนั้น เพราะหลายอย่างยังมีจุดอ่อน กระทั่งการรัฐประหารครั้งล่าสุด คือปี 2557 ก็เห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่มีมาก เชื่อว่าเป็นการสถาปนาอำนาจนิยมชุดใหญ่ที่สุด ดังนั้น ถ้าโลกตะวันตกกดดัน ไทยก็มีทางออกคือจีนและรัสเซีย

ทั้งนี้ อำนาจนิยมที่ถูกสถาปนาขึ้นใหม่นั้น จะอยู่ได้นานขึ้น มีปัจจัย 3 อย่าง คือ 1.เข้ามาสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่ 2.ล้างการทุจริตคอร์รัปชั่น และ3.สร้างมิติใหม่ทางสังคม แต่ถ้าให้สัญญาไว้มาก แล้วทำไม่ได้ การล่มสลายของเผด็จการในประเทศในแถบละตินอเมริกาก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนนำมาสู่วิกฤติเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง

นายสุรชาติ กล่าวอีกว่า ดังนั้น สิ่งที่ต้องตอบในขณะนี้คือ จะจัดการกับรัฐธรรมนูญอย่างไร เพราะดูแล้วฝ่ายผู้มีอำนาจกลัวการสูญเสียอำนาจ จากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย กลัวการจัดสรรอำนาจใหม่ที่เปิดพื้นที่ให้ชนชั้นล่างมีอำนาจมากขึ้น และเงื่อนไขเรื่องรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การประนีประนอมได้ต้องคิดใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งครั้งใหม่ นอกจากนั้น ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างในกองทัพ โดยเฉพาะขอบเขตกฎหมายทหาร ต้องออกแบบใหม่ ทั้งต้องจัดการมรดกของเผด็จการ เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงต้องปฏิรูปการเมือง เช่น บทบาทฝ่ายค้าน ที่เคยมีปัญหา

ถามเรื่องใหญ่กว่า "ประชามติ" คือทำอย่างไรให้ "ประชาธิปไตย" เป็นกติกาเดียว ที่ทุกฝ่ายยอมรับ

ด้านนายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2475 เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนระบบการปกครอง มีความพยายามเปลี่ยนผ่านสังคมไปสู่ประชาธิปไตยมาโดยตลอด แต่ความไม่มีเสถียรภาพก็เกิดขึ้นตลอดเช่นกัน จนนำไปสู่การรัฐประหารหรืออยู่ในช่วงของเผด็จการ แต่ระบบนี้ก็มีความไม่มั่นคงภายในเช่นเดียวกัน ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ4 ของโลกที่มีการรัฐประหารมากที่สุดราว 18 ครั้ง

นายพิชญ์ กล่าวว่า จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตย เป็นกฎกติกาเดียวในสังคม ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งเป็นคำถามใหญ่กว่าการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมา สังคมไทยแก้ปัญหาประชาธิปไตยโดยใช้อำนาจนอกประชาธิปไตย มากกว่าการทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งจากภายใน

ขณะที่นายบัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คล้ายรัฐธรรมนูญ ปี 2521 คือร่างขึ้นหลังการรัฐประหาร และมีเงื่อนไขคือต้องเลือกตั้งตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งคนไทยจำนวนมากอยากข้ามวิกฤติการเมืองที่มีมายาวนานกว่า10 ปี แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่าน องค์กรต่างๆจะมีสถานะอย่างไร เพราะมันจะซ้ำรอยช่วงที่รัฐธรรมนูญ ปี 2521 บังคับใช้ ที่ทำให้กระบวนการทางรัฐสภาถดถอย นอกจากนั้น การทำประชามติที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นการแสดงความเห็นคัดค้านได้ เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนสามารถเข้าชื่อยับยั้งกฎหมายได้ มันต้องเปิดเวทีให้มีการถกเถียงให้ถึงแก่น ไม่ใช่มีทางเลือกแคบๆ อย่างที่เป็นอยู่