เจ้าผีเสื้อ : มองเด็ก “พม่า” ระยะ ประชิด

เจ้าผีเสื้อ : มองเด็ก “พม่า” ระยะ ประชิด

ละครเยาวชนกระชับสัมพันธ์ สัมผัสตัวตน ที่มีอยู่ในสังคม “ไทย” ใกล้กรุงเทพฯ ของ เด็กๆ ที่ถูกเรียกเหมารวมว่า “พม่า” บนแผ่นดินไทย

“สวัสดีค่ะ หนูชื่อ ... เป็นคนมอญ..” “สวัสดีครับ ผมชื่อ...ผมเป็นคนไทย นับถือศาสนาพุทธ”

เสียงเด็กเจื้อยแจ้ว 13 คน ได้เอ่ยแนะนำตัว เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงละครเรื่อง “เจ้าผีเสื้อ” ละครเพื่อเยาวชน ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานแสดงนิทรรศการ “พม่าระยะประชิด” โดย พิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้มิวเซียมสยาม จัดระหว่างวันที่ 15 มีนาคมจนถึง 31 กรกฎาคม 2559

ละคร “เจ้าผีเสื้อ” ส่วนหนึ่งเป็น การแสดง(ออก)ของเด็กนักเรียน ส่วนหนึ่งเป็น สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่าง เด็กจากครอบครัวแรงงานเพื่อนบ้าน เหล่านี้ กับ ผู้ชมที่ถูกเชื้อเชิญมาทำความรู้จัก

“โดยหลักๆ เราก็อยากให้เป็นการทำความรู้จักแบบ คน ต่อ คน” ดร.ปวลักขิ์ อธิบายถึง เนื้อในละครเยาวชน ที่เป็นการจัดทำในรูปแบบ “กระบวนการ” เพื่อการพัฒนาโดยในกรณีนี้ กลุ่มเป้าหมายไม่ใช่การพัฒนาเด็กๆ ไปเป็นนักแสดง แต่เป็นการพัฒนา “ระยะความสัมพันธ์” ระหว่าง พวกเขาที่อยู่ในสังคมแคบ ณ ชุมชน และพื้นที่โรงเรียนประถมในย่านมหาชัย ใกล้แหล่งทำมาหากินของผู้ปกครองพวกเขาเท่านั้น กับ คน(ไทยหรือชาติใดก็ได้) ที่อยู่สังคมวงกว้าง

“ชอบเล่นละคร เคยเล่นกับครูแล้วสนุกดี” ชานเมี๊ยะอ่อง เด็กชายวัยเก้าขวบ เป็นหนึ่งในนักแสดงละคร เล่าความรู้สึกในการร่วมกระบวนการ

ในบ่ายวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ ห้องจัดแสดงนิทรรศการของมิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ  รอบแสดงจริงรอบแรกของละคร เจ้าผีเสื้อ เด็กๆ ได้พบกับผู้ชมหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งนักวิชาการและนักพัฒนา และคนที่ผ่านเข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการฯ หลังจากผ่านกระบวนการซ้อมมา 8สัปดาห์ๆละ 1 ครั้ง

การแสดงของพวก มีทั้ง การแนะนำตัวชื่อ เชื้อชาติ ศาสนา อายุ และ การเสนอชีวิตประจำวัน ตื่นเช้าล้างหน้าแปรงฟัน ชีวิตในห้องเรียน จนถึงการพูดถึงความฝันของพวกเขา

 “หนูชื่อ เยซอทอล พี่หนูชื่อ เยซอมอญ” เด็กหญิงวัย 7 ขวบ ที่วิ่งเล่นซอกแซกไปตามมุมต่างๆของนิทรรศการฯ พื้นที่ที่เธอและพี่สาว วัย 12 ขวบ ได้รับอนุญาตให้ออกนอกสถานที่ “เขตมหาชัย” โดยไม่เสี่ยงต่อการถูกตำรวจจับส่งหน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองในสถานะคนต่างด้าวที่ออกนอกบริเวณโดยไม่มีใบอนุญาต (กรณีนี้หน่วยงานของม.มหิดลและมิวเซียมสยาม ดูแลรับผิดชอบ) ความเสี่ยงที่มาพร้อมกับประเด็น การค้ามนุษย์ และอีกหลายประเด็น

หนูน้อย เยซอทอล ไม่ได้ร่วมแสดง แต่ในวันพฤหัสที่ 26 พฤษภาคม รอบซ้อมใหญ่ของทีมนักแสดงละคร ที่มิวเซียมสยาม พี่สาวของเธอต้องหอบหิ้วเธอมาด้วย เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงาน ไม่มีใครดูแล

ขณะที่ พี่สาวและนักแสดงคนอื่น กำลังตั้งสมาธิกับลำดับและวิธีการแสดงกับครูผึ้ง เยซอทอล รับกล้องมือถือจากนักข่าว ไปแอบ “สแนป” พี่ๆ และแอบ “เซลฟี่” ตัวเอง ได้ภาพสาวน้อยทำปากจือ กลบรัศมี รอยยิ้มของพี่สาวและเพื่อนๆ บนจอภาพมือถือเหล่านั้น มาอวด แก้มลายพร้อยด้วยรอยแป้งทานาคา ฝนสดๆ จากแป้นแสดงนิทรรศการ เป็นความสุขเล็กๆ ที่เด็กน้อยสนุกกับมันได้ลำพังไม่รบกวนกระบวนการซ้อมละคร แต่สักครู่ใหญ่เธอต้องลบมันออก เพื่อไม่ทิ้งรอยให้เสี่ยงต่อการถูกจับ เมื่อทีมงานละครจะพาไปเยี่ยมชมพระบรมมหาราชวัง หลังจบงานวันนี้

“(ขณะที่เล่นละคร) ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมาครบทุกครั้งที่นัดซ้อมในโรงเรียนนะ อย่างวันนี้ก็มีคนไม่ได้มา ซึ่งอาจจะเป็นเพราะเขาไม่สะดวก พ่อแม่ไม่ให้มา หรือเขาติดภารกิจที่บ้าน” ดร.ปวลักขิ์ อธิบายสถานการณ์ของการเข้าร่วมงานละคร ซึ่งมีการลงพื้นที่ ไปซ้อมในโรงเรียน ไปรับส่งถึงบ้าน ย่านมหาชัย ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนเปิดการแสดงรอบแรก โดยทางทีมงานยึดถือความสะดวกของเด็กๆ เป็นสำคัญ

และในฐานะ นักพัฒนาสังคม ที่ทำงานกับเยาวชนมาหลายวาระ ดร.ปวลักขิ์ เสริมว่า ถ้าในเคสเด็กไม่สะดวกมา ทางทีมงานจะไม่ตาม เพราะรู้ว่า เงื่อนไขนั้นยาก และชีวิตที่มีปัญหาปากท้อง สถานะพลเมืองและเศรษฐกิจสังคมซับซ้อนอยู่แล้ว

 “ทั้งตัวนิทรรศการฯและละครเด็ก เสนอเรื่องการมีอคติ ส่วนหนึ่งคือ มันเป็นแสดงให้เห็นว่าเด็กเหล่านี้เขามีตัวตนอยู่จริงๆ คีย์ของการเสนอละครก็คือให้เกิดการรับรู้ในหมู่คนดูด้วย”

เด็กน้อยนักแสดงทั้ง 13 คน วัย 8-15 ขวบ ในละคร “เจ้าผีเสื้อ” เป็น นักแสดงสมัครเล่น และสมัครใจ เข้ามาร่วมกระบวนการกับดร.ปวลักษขิ์ สุรัสวดี และ ครูผึ้ง-ลัดดา คงเดช ผู้ฝึกสอนละครและผู้กำกับการแสดงชุดนี้ ผ่านการประสานงานระหว่างทีมงานกับ โรงเรียนวัดศรีสุธาราม (โรงเรียนวัดกำพร้า) อ.มหาชัย จ.สมุทรสาคร ซึ่งเปิดรับนักเรียนพลัดถิ่นเหล่านี้ ไม่ว่าพวกเขาจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม

นักแสดงกลุ่มนี้ ไม่ได้เป็น ชนชาติ “พม่า” อย่างที่คนไทยเรียกเหมารวมๆ เท่านั้น มีครึ่งหนึ่งเป็น ชนชาติพม่า อีกครึ่งหนึ่งเรียกตัวเองว่า มอญ แต่ทั้งหมดเกิดในแผ่นดินไทย แม้พ่อแม่จะอพยพข้ามแดนมาจากเมียนมาร์ที่เต็มไปด้วยปัญหาซับซ้อนเรื่องเชื้อชาติ มาเร่ขายแรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรมและไซต์ก่อสร้างในประเทศนี้ก็ตาม

ในพาร์ทหนึ่งของการแสดงราวหนึ่งชั่วโมง ละครเจ้าผีเสื้อ ได้ใช้อุปกรณ์ประกอบฉาก “หน้ากาก” เปเปอร์มาเช่ ระบายสี มาจาก “แบบพิมพ์ใบหน้า” ของเด็กน้อยแต่ละคน และระบายสีตามใจชอบโดยมีครูผึ้งเป็นพี่เลี้ยงควบคุมดูแลตลอดกระบวนการผลิต

เมื่อถึงคิวแสดง เด็กๆหยิบหน้ากาก ของตัวเอง มาแนบกับใบหน้า ขณะที่ยืนประจันหน้าระยะใกล้กับเพื่อนอีกคน วนไปหลายๆคน และ ก้าวออกมาหา ผู้ชมที่นั่งอยู่ด้านหน้า

“ฉันชื่อ.....” เด็กชายเปล่งเสียงอยู่ใต้หน้ากาก “เธอชื่อ.....” เสียงเดิมบนใบหน้าเปลือย กล่าวกับผู้ชมตรงหน้า ที่ถูกหน้ากากใบเดิมทาบไว้หลวมๆ

ดูเหมือนว่า กระบวนการนี้ จะเป็นความตื่นเต้นของทั้งเด็ก “ผู้แสดง” และ “ผู้ชม”

“มันทำให้เขากล้าที่จะเผชิญคนแปลกหน้า และเป็นการทำความรู้จัก ระหว่าง คนกับคน” ครูผึ้ง อธิบายแนวคิดที่ซ่อนอยู่

“เนื้อหาที่มีประเด็นบางอย่างที่มันเกี่ยวข้องกับตัวเขา กระบวนการเป็นเหมือนเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เขามองเห็นและเข้าใจ และคอนเนคตัวเองกับโลกและชุมชน” ดร.ปวลักขิ์ ในฐานะผู้ควบคุมการจัดกระบวนการละคร เจ้าผีเสื้อกล่าว

ในการออกแบบกระบวนการ(ละคร) ครูผึ้ง เผยว่า เป็นตั้งโจทย์ให้เด็กที่เข้าร่วมคิดเองว่า “ถ้าเขาพูดเองเขาจะพูดอะไร เรื่องในชีวิตเขาจะเล่าอะไร และก็บอกความฝันอยากเป็นอะไร”

การนำเสนอชีวิตของเด็กๆ ในละคร มีการท่องอาขยานคำไทยที่ใช้สระไอ ไม้ม้วน และช่วงของการประสานเสียงร้องเพลง “กล่อมเด็ก” ในภาษาพม่า ที่เด็กๆทุกคนร้องได้ และเป็นเพลงที่พวกเขาคุ้นเคย แต่เป็นเพลงในภาษา “แปลกหู” ของผู้ชมต่างชนชาติของพวกเขา

 

ใกล้แค่ไหนคือใกล้

ประเด็น ความเป็นอื่นในพื้นที่เดียวกัน สะท้อนผ่านเรื่องเล่าที่เด็กๆ แบ่งปันประสบการณ์ในการพบปะเพื่อนในโรงเรียนบนแผ่นดินประเทศไทย

นอกห้องนิทรรศการ ความจริงในชีวิตของเด็กๆ บางคน อาจจะไม่ได้อยู่โรงเรียนนี้ต่อไป บางคนยังไม่รู้อนาคต พ่อแม่ต้องย้ายจากโรงงานแกะกุ้ง หรือโรงงานหมักปลาย่านมหาชัย ไปอยู่โรงงานใดสักแห่งที่ สมุทรปราการ หรือไม่

บางคนไม่รู้ว่า ชุดนักเรียนปักอักษรย่อ ศ.ธ. ที่พวกเขาใส่ในวันมาซ้อมละคร เมื่อพฤหัสที่ 26 พฤษภาคมนั้น พวกเขาจะได้สวมมันไปจนจบการประถมศึกษาพื้นฐานหรือไม่

บทเรียนการพลัดหลงจากระบบการศึกษา ปรากฏตัวในทีมละครนี้ด้วย

เธอชื่อ ชบาแก้ว เด็กหญิงผิวเข้มหน้าใส ตัวเล็กไล่เลี่ยกับเพื่อนๆในกลุ่มละคร แต่เธอสูงวัยกว่าทุกคน( 16 ปี) และไม่ได้เป็นนักเรียนแล้ว หลังจากเรียนถึงแค่ประถม 5 ด้วยเหตุผลว่า เธอต้องออกมาช่วยแม่ทำงาน เป็นลูกจ้างในร้านพิซซ่า ที่ศาลพันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร วันนี้ (28 พ.ค.)วันเสาร์เป็นวันหยุดของเธอ จึงได้มาร่วมกระบวนการละครนี้ได้

เธอถูกนักเรียนไทย ชี้หน้าด่าประนาม ว่า เธอเป็น “พม่า” และไม่รู้ว่า ความผิดของการเป็นเด็กพม่าคืออะไรและความจริงที่ว่า เธอเกิดในประเทศไทย และไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพ่อแม่เป็นชนชาติพม่าที่ย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองอะไร รวมถึงการถูกประนามว่าเป็น เด็กผู้หญิงไม่ดี เพราะวัยของเธอที่ฮอร์โมนพัฒนาไปเกินกว่าเพื่อนร่วมชั้นถึงสองสามปี

“เด็กคนไทยเขาชอบใช้คำไม่สุภาพ แบบว่ามาด่าหนู เด็กพม่ามาเรียนที่นี่ทำไม และด่าพ่อแม่หนู (ไม่ยอมบอกว่าด่ายังไง)

การดิ้นรนของเด็กหญิงผิวพม่านัยน์ตาแขกคนนี้ ผ่านภาวะถูกรังแกทางความรู้สึกมาได้ ด้วยการ “โต้ตอบเสียงแข็ง” กลับไป

“หนูทนไม่ไหว หนูก็ตะโกนเสียงดังกลับไปว่า ทำไม หนูไม่ได้ทำอะไรให้ทำไมเขามาว่าหนู เขาก็เลิกว่าหนู” (เพราะอะไร?) “เขาคงกลัวหนูมั้งคะ” เด็กหญิงเล่า และส่งยิ้มกว้างให้คนถาม

บางคนเล่าว่า เธอได้เรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่อนุบาล แต่มีคนสนิทคนแรกเมื่ออยู่ประถม 2 นั่นคือสามปีหลังจากไปเรียนที่นั่น 5 วันในหนึ่งสัปดาห์

ความร่าเริงของเด็กๆ ในวันถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตในรูปแบบละคร ไม่อาจกลบเกลื่อนความจริงที่ว่า อนาคตพวกเขาลอยคว้างดุจฝุ่นผงในไซต์งานก่อสร้าง

“โตขึ้นหนูอยากเป็นนักเต้นค่ะ เพราะสนุกสนานดี” .. “หนูอยากเป็นนักร้องค่ะ อยากให้ทุกคนมีความสุข” เสียงเด็กหญิงเอ่ยถึงความฝัน ในช่วงการแสดงว่า ด้วย โตขึ้นอยากเป็นอะไร “หนูอยากเป็นคุณครู เพราะอยากสอนให้เด็กๆไม่ไปยุ่งกับยาเสพติด”

ขณะที่ ชบาแก้ว หรือ ซีซี่ (ชื่อเล่นที่เพื่อนๆเรียก) บอกว่า เธอไม่ได้พูดความฝันในตอนแสดงละคร เพราะ “หนูไม่รู้จะพูดเป็นภาษาไทยยังไง หนูพูดได้แต่เป็นภาษาพม่าก็เลยไม่พูด”

เยซอมอญ ช่วยอธิบายว่า เด็กในละครไม่ได้พูด(ความฝันโตขึ้นจะเป็นอะไร)กันทุกคน พูดหรือไม่พูดตามความสมัครใจ

 “พวกเขาดูเหมือนจะมีชีวิตอิสระเสรีเหมือนเด็กไทยทั่วไป แต่มันยังมีจุดที่ยังเป็นขีดจำกัดไม่ให้เขาโตไปได้นอกขีด” ครูผึ้ง ผู้กำกับกล่าวกับผู้ชม ในช่วงเปิดวงสนทนา หลังจบการแสดงเจ้าผีเสื้อรอบปฐมทัศน์

 “มีอันหนึ่งมันย้อนแย้งมาก คือมีวันหนึ่งเด็กคนหนึ่งบอกว่า คราวหน้าหนูซ้อมไม่ได้นะคะ เพราะหนูต้องไปเตรียมสอบโอเน็ต คือพูดเหมือนเด็กไทยทั่วๆไปที่เห็นว่าไอ้คะแนนเหล่านี้เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายชีวิต เราก็ได้แต่นั่งนึกน้ำตาตกในใจว่าเธอรู้มั้ยเนี่ยว่าต่อให้เธอขยันเรียนแค่ไหนเธอก็ไปต่อไม่ได้หรอก เธอไปไกลกว่านี้ไม่ได้หรอก” ดร.ปวลักขิ์ กล่าวถึงชะตากรรมของเจ้าผีเสื้อเหล่านี้

การทำความรู้จักกับพวกเขาผ่านกระบวนการละครเยาวชนเพื่อการพัฒนา ทีมงาน ตั้งความหวังจะ “ลดอคติ” และปูทาง การอยู่ “ร่วมกันระหว่างคนกับคน”

“ถ้าให้พูดตรงๆ ก็มีคนดูเขาก็บอกว่าเด็กพวกนี้ไม่ใช่เด็กพม่าแล้ว เด็กพวกนี้ข้างในเขาเป็นคนไทย ฟังเพลงเกาหลีชอบดาราไทย เพียงแต่ว่าเขาไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่านั้นเอง” ดร.ปวลักขิ์ กล่าว

------------------

หมายเหตุ ติดตามชมและไปทำความรู้จักกับเด็กๆ ในละคร “เจ้าผีเสื้อ” ได้อีกสองครั้ง ในรอบการแสดงวันเสาร์ที่ 25 มิถุนายน และวันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม ศกนี้ เวลา 14.00-15.00 น. ที่มิวเซียมสยาม ถนนสนามไชย (ท่าเตียน) กรุงเทพฯ ร่วมกิจกรรมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย (จำกัดจำนวน 20 คนต่อรอบ) สำรองที่นั่งและสอบถามโทร. 0-2225-2777 ต่อ 420, 421

รายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www..museumsiam.org และอ่านบทสัมภาษณ์เบื้องหลังกระบวนการละครฯได้ที่ www.facebook/judprakai