ของไม่งาม ถ้าอยู่ถูกที่ก็งามได้

ของไม่งาม ถ้าอยู่ถูกที่ก็งามได้

จากสิ่งของเหลือทิ้งที่วางตรงไหนก็ไม่งาม กลายเป็นผลงานศิลปะชิ้นใหม่ที่มีแง่มุมของความงามทางด้านทัศนศิลป์ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความรู้สึกสะเท

 ชิ้นส่วนเล็กใหญ่ของสิ่งที่เคยประกอบร่างเป็นจักรยาน โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าเกินเก็บ ตอไม้ถูกทิ้ง ไม้หมอนรถไฟที่ไม่มีใครแยแส รวมไปถึงเศษเหล็กเศษไม้ที่ไม่มีใครต้องการ เหล่านี้คือสิ่งที่ วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สื่อประสม) ปีพ.ศ.2555 เก็บมาสร้างชีวิตใหม่

            จากสิ่งของเหลือทิ้งที่วางตรงไหนก็ไม่งาม กลายเป็นผลงานศิลปะชิ้นใหม่ที่มีแง่มุมของความงามทางด้านทัศนศิลป์ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความรู้สึกสะเทือนอารมณ์

            ในนิทรรศการเชิดชูเกียรติศิลปินอาวุโส ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี  ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป์ ( 3 – 30 มิถุนายน 2559) เราจะได้เห็นดอกไม้  ต้นไม้ขนาดสูงท่วมศีรษะนับสิบต้น ยืนเรียงราย อยู่ท่ามกลางผลงานศิลปะสื่อผสมที่ล้วนแล้วแต่นำของเหลือทิ้งเหลือใช้มาเป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ผลงาน ยิ่งเข้าไปมองใกล้ๆคุณจะยิ่งพบว่าหลายชิ้นเป็นของคุ้นเคยที่คุณเลือกที่จะทิ้งขว้างมากกว่าจะเก็บมาใช้ใหม่

“ตอนนี้จักรยานกำลังเป็นที่นิยม อีกด้านหนึ่งผมเห็นชิ้นส่วนจักรยานที่ทิ้งกันเยอะ กลายเป็นขยะสิ่งแวดล้อม เราไปซื้อจากร้านขายของเก่าแล้วนำมาทำเป็นรูปทรงของต้นไม้ที่กำลังเติบโต ไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะแต่มันกำลังเคลื่อนไหวเป็นสัญญาณให้รู้ว่ากำลังเกิดรูปแบบใหม่ขึ้นในสังคม รูปร่างของสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนโฉม ซึ่งเราต้องอยู่กับมัน อาจจะหนีออกหรือไม่ออกก็ได้

นอกจากต้นไม้ที่เติบโตขึ้นมาจากตอไม้ที่ถูกขุดทิ้งไว้  ผมก็นำมาทำโครงสร้างใหม่เป็นรูปทรงของดอกไม้ที่กำลังเติบโต เปรียบเหมือนเป็นสัญญาณของชีวิต แต่ประกอบด้วยวัตถุที่เป็นขยะ ล้อจักรยานมีแทบทุกแบบ

จัดงานให้เกิดแสงเงา วางเรียงกันซ้ำๆหลายชิ้น เพื่อตอกย้ำความรู้สึก เมื่อมองไปในธรรมชาติเราจะเห็นสิ่งแปลกปลอม ถามว่าไม่สวยเหรอ แต่เรานั่นแหละเป็นคนทำ” อ.วิโชค กล่าวถึงผลงานประติมากรรมที่นำมาจัดแสดงเต็มผนังห้องนิทรรศการถึง 2 ห้อง  โดยย้ำว่าที่นำมาจัดแสดงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานที่ทำไว้เท่านั้น

            นอกเหนือจากงานชุบชีวิตใหม่ให้เศษวัสดุแล้ว ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นความโดดเด่นในการนำวัสดุมาผสมผสานกับงานจิตรกรรมที่อัดแน่นไปด้วยพลังและความเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศิลปิน ดังจะเห็นได้จาก เรื่องราวจากเอดินเบอระ ผลงานสื่อผสมที่มีทั้งสีอะคริลิก ดิน ไม้ และเศษวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับ เศษโลหะ รวมไปถึงชิ้นส่วนของเรือ

            “ ช่วงปี 2554 - 55 เดินทางไปต่างประเทศบ่อยทำให้เรามีข้อมูลในการทำงานค่อนข้างเยอะ ไปเมืองเอดินเบอระ ที่สก็อตแลนด์ โบราณสถานประกอบกับประวัติศาสตร์ทำให้อยากจะเขียนถึงการต่อสู้ ชีวิตที่ต้องดิ้นรน

ตอนทำโดยนิสัยเป็นคนชอบใช้วัสดุ เลยเป็นการผสมระหว่างเพ้นท์ติ้งกับวัสดุ ดรออิ้งขึ้นมาก่อน ใส่วัสดุที่เราสนใจเข้าไปในงาน มีทั้งเครื่องประดับหิน เครื่องรางของขลังกระจาย อาวุธ ยุทโธปกรณ์ มีความเคลื่อนไหว นี่คือ ไอเดีย ฟิลลิ่งกำลังสู้กัน ท้องฟ้ามีเมฆหมอกควันไฟ มีการเคลื่อนที่ รสชาติเป็นอย่างนั้น” ศิลปินอธิบายถึงที่มาของผลงานขนาด 270 x 400 ซม. 2 ชิ้นที่มีชื่อเดียวกันคือ เรื่องราวจากเอดินเบอระ ซึ่งตั้งเผชิญหน้ากันในห้องนิทรรศการแรก

ในขณะที่ห้องถัดมาบอกเล่าอารมณ์ที่ผ่อนคลายลง ด้วยผลงานสีอ่อนหวานที่มาพร้อมกับเรื่องราวของคู่รัก ที่นำเสนอในเทคนิค triptych หรือภาพต่อเนื่อง 3 ชิ้น

“เราเคยดูภาพพระบฎ ภาพผนังในโบสถ์เป็นภาพต่อเนื่อง ผมทำเป็นเรื่อง คู่รัก ในที่นี้แปรความหมายได้หลายอย่างเป็นคู่รักเพศเดียวกันก็ได้ เป็นภาพต่อเนื่องในพื้นที่จากมุมหนึ่งไปอีกมุมหนึ่ง เขาอาจจะมีความสุข อาจมีตัวแปร ตัวที่ซ่อน มีคนชอบเขาที่ซ่อนตัวอยู่ หรือมีสัตว์เลี้ยงเป็นแมว

เรื่องราวนี้เป็นเรื่องคู่รักผู้หญิงกับผู้หญิงที่เราพบในชีวิตตริงแล้วนำมาแปรความหมาย  ชอบกันแต่มีคนอีกคนซ่อนตัวอยู่ในใจ อาจเป็นผู้ชายอีกคนหนึ่ง เป็นเรื่องของคู่รัก มีชายหญิง วิธีการทำภาพต่อเนื่อง แบบที่เรียกว่า triptych  ศิลปินร่วมสมัยชื่อ ฟรานซิส เบคอน ทำเป็นเพ้นติ้ง 3 ชิ้น แต่ผมทำเป็นวัสดุแล้วเพ้นต์ลงไปด้วยสีพ่นรถยนต์อีกครั้งหนึ่ง”

            ดูเหมือนว่าศิลปินกำลังสนุกกับ triptych  หรือ การเล่าเรื่องด้วยภาพต่อเนื่อง 3 ชิ้น ที่เราจะได้เห็นในห้องจัดแสดงสุดท้ายในผลงานความบันดาลใจจากฮิโรชิมา

          “เรื่องที่เกิดขึ้นที่ฮิโรชิมามันเครียดมาก ผมอ่านหนังสือและไปชมพิพิธภัณฑ์ รู้สึกสะเทือนใจมาก ชุดนี้ทำเป็นงานดรออิ้ง เป็นภาพต่อเนื่องเพราะว่าเรื่องราวเยอะใส่เนื้อหาในภาพเดียวไม่หมด

ภาพเริ่มต้นจากระเบิดปรมาณูที่สร้างความหายนะให้กับผู้คนและเมืองฮิโรชิมา ผู้คนต้องดื่มกินน้ำที่เต็มไปด้วยสารพิษ เมื่อดื่มไปแล้วรู้สึกร้อนไปทั้งตัว ถัดมาเป็นภาพของเมืองและผู้คนที่เสียหาย ผมวาดลายเส้นให้มือเหมือนกระดูก เขียนให้เหมือนเป็นจิตวิญญาณที่เคลื่อนไหว

เป็นการสำแดงอารมณ์ ที่ทำให้คนดูสัมผัสถึงอารมณ์ที่เราอยากสื่อออกมา”

สำหรับนิทรรศการในครั้งนี้ อ.วิโชค กล่าวถึง “สาร”ที่ต้องการ “สื่อ”ถึงผู้ชมว่า

“ในแง่ของตัวศิลปิน เราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราค้นเราพบ น่าจะเป็นประเด็นให้เขาได้เห็น เช่น ความงดงาม เราอาจให้สติ ความคิด ชวนให้มองโลกในอีกมุมหนึ่งบ้าง ไม่ใช่มองต่อต้าน หรือว่ายอมรับ แต่ให้มองในหลายแง่หลายมุม มีทั้งบวก ลบ ทั้งสองอย่างอยู่ด้วยกันได้  

ของที่ไม่งาม ถ้าอยู่ถูกที่มันก็งามได้ อย่าเชื่อเหมือนกันว่าน้ำหอมนี้ดี เสื้อนี้ดี บางทีเสื้อที่ขาดก็สวยได้ อันนี้เป็นมุมมองที่อยากนำเสนอให้เห็นถึงสิ่งที่ศิลปินคิด

อีกอันหนึ่ง คืองานศิลปะร่วมสมัย ไม่ได้มีรูปแบบของความเหมือน ไม่จำเป็นต้องเป็นความละเมียดละไม หรือจำเป็นต้องเหมือนจริงอย่างเดียว มันเป็นเชิงความคิดได้”

บางสิ่งที่เรามองว่าไม่งาม เมื่อนำมาวางให้ถูกที่ถูกทาง เราจะมองเห็นความงามในอีกแง่มุมหนึ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็ได้ ศิลปินทิ้งท้ายไว้อย่างชวนคิด