Daily Market Outlook (7 มิ.ย.59)

Daily Market Outlook (7 มิ.ย.59)

ถ้อยแถลงประธาน Fed หนุนตลาด

คาดหุ้นไทยวันนี้ปรับตัวขึ้นต่อตามทิศทางของหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นโลกหลังจากประธาน Fed เจเน็ท เยลเลน ระบุเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มเป็นบวกไม่ใช่ลบ และยืนยันทิศทางนโยบายการเงินนับจากนี้จะค่อยๆ ลดการผ่อนคลายลง แต่ไม่ได้ส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในทันที ซึ่งทำให้ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ปัจจัยภายในประเทศวันนี้ก็เป็นบวก ข้อเสนอของกระทรวงการคลังให้ใช้ ม.44 จัดการกับผู้ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยสูงนอกระบบ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และส่งผลบวกต่อผู้ประกอบการ อำนวยสินเชื่อรายย่อย ในขณะที่เงินสนับสนุนการท่องเที่ยวต่างจังหวัด 5 พัน ลบ. ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค


หุ้นเด่นวันนี้: BBL(Bt165.50; ซื้อ, ราคาเป้าหมายปี 59 ของ AWS 188.00 บาท)

ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นหุ้นแนะนำในวันนี้เนื่องจากเราคาดว่าธนาคารจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยหลายๆโครงการจะเริ่มทยอยลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งจะทำให้เกิดการขยายตัวของสินเชื่อขนาดใหญ่ เราเชื่อว่าการลงทุนของภาครัฐดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากภาคเอกชน แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะยังไม่แน่นอนในปัจจุบัน คุณภาพสินทรัพย์ของ BBL ยังคงแข็งแกร่งโดยที่อัตราส่วนเงินสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 174.4% ในไตรมาส 1/59 แม้จะลดลงมาจาก 185.3% ณ สิ้นปี 58 ซึ่งการตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนมากนี้จะทำให้ธนาคารได้เปรียบคู่แข่งที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการพยายามที่จะเพิ่มปริมาณเงินตั้งสำรองให้เพียงพอ และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ปัจจุบันหุ้น BBL น่าสนใจมากอิงจากอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชีที่ถูกที่ 0.9 เท่า และมีอัตราเงินปันผลตอบแทนน่าสนใจที่ 4.2% เราคาดการณ์กำไรจะเติบโตที่ 5.5% และ 11.8% ในปี 59 และปี 60 ตามลำดับ Price Pattern ของ BBL กลับมาเกิดความแข็งแกร่งระยะสั้นอีกครั้งจากการกลับมาเกิด Daily Buy Signal ครั้งใหม่ โดยหาก Price Pattern ของ BBL สามารถปิดตลาดรายสัปดาห์ได้เหนือ 167 บาท ก็จะกลับมาเกิดความแข็งแกร่งในระยะกลางเพิ่มขึ้นมาอีกจากการกลับมาเกิด Weekly Buy Signal ครั้งใหม่ โดย Price Pattern ของ BBL ยังคงอยู่ในแนวโน้มหลักที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) จากการเกิด Monthly Buy Signal ไปแล้ว ทั้งนี้เมื่อพิจารณา Price Pattern ของ BBL คาดว่าน่าจะได้เห็นการปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไปทดสอบเป้าหมายเบื้องต้นในรอบนี้ที่ 177 บาท โดย BBL มีจุด Stop Loss ระยะสั้นในรอบนี้อยู่ที่ 161.50 บาท (Resistance: 167.00, 168.50, 170.50; Support: 164.00, 162.00, 160.50)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• ใช้มาตรการ 44 จัดการเงินกู้นอกระบบ รมว.กระทรวงการคลังได้เสนอให้ใช้อำนาจภายใต้มาตรการ 44 จัดการกับเงินกู้นอกระบบซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ กล่าวโดย นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ทางกระทรวงยังจะเสนอให้กรมสรรพากรตรวจสอบผู้ประกอบการปล่อยเงินกู้นอกระบบว่าได้มีการจ่ายภาษีรายได้อย่างถูกต้อง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามช่วยผู้มีรายได้น้อยจากผู้ให้เงินกู้นอกระบบ (Bangkok Post) ความเห็น: ข่าวดังกล่าวเป็นบวกต่อผู้ประกอบการนาโนไฟแนนซ์ เช่น MTLS (ราคาปิด 20.00, ซื้อ,AWS 59 TP 25.50) และ SAWAD (ราคาปิด 40.00, ซื้อ,AWS 59 TP 57.00)

• อนุมัติงบ 5 พันลบ.ปฎิรูปอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หน่วยงานรัฐวานนี้ ได้อนุมัติข้อเสนอสำหรับการใช้งบประมาณ 5 พันลบ. จากงบส่วนกลางในการปฎิรูปอุตสาหกรรมท่องเที่ยว งบประมาณใหม่นี้เป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนระหว่างปี 59-63 ของกลุ่มการท่องเที่ยว 5 รูปแบบและยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คนในชุมชน ข้อเสนอดังกล่าวจะส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเป็นลำดับถัดไป (Bangkok Post)

ต่างประเทศ

• เยลเลนมองเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันจันทร์ว่า “ปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจมีอิทธิพลเหนือปัจจัยลบ” หลังจากการประกาศตัวเลขการจ้างงานที่น่าผิดหวังเมื่อวันศุกร์ นางเยลเลนย้ำว่าไม่ควรจะยึดติดกับรายงานฉบับใดฉบับหนึ่งมากเกินไป อีกทั้งเน้นถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อันได้แก่ความต้องการและกำลังการผลิตที่ชะลอตัว อัตราการขยายตัวของเงินเฟ้อต่ำและปัจจัยเสี่ยงของโลกเช่นการออกจากการเป็นสมาชิกสภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) นางเยลเลนยังกล่าวอีกว่าเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่ได้ระบุถึงกำหนดเวลาที่เฉพาะเจาะจงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของนางเยลเลนอาจเป็นความเห็นต่อสาธารณชนครั้งสุดท้ายก่อนการประชุมนโยบายในวันที่ 14-15 มิ.ย. นี้ (Reuters) ความเห็น : ตลาดดูเหมือนจะลดความคาดหวังที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. และก.ค.

• ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ เมื่อวันจันทร์ เนื่องจากความเห็นของนางเยลเลน ประธานเฟดบ่งบอกถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างชัดเจนแต่ไม่มีการดำเนินการทันทีเกี่ยวกับความกังวลในการลงประชามติของอังกฤษที่จะออกจากสหภาพยุโรปหรืออียู ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นในช่วงสั้น ๆ ก่อนกลับมาปรับตัวลงพอสมควรและล่าสุดปิดลดลง 0.1% อยู่ที่ 93.925 จุด (Reuters)

• ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อวันจันทร์ เนื่องจากนักลงทุนประเมินว่ารายงานการจ้างงานที่อ่อนแอในเดือนพ.ค. ทำให้มีความเป็นไปได้ลดลงที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนที่กำลังจะมาถึง ราคาพันธบัตรอ้างอิงอายุ 10 ปี ลดลง 6/32 ผลตอบแทนอยู่ที่ 1.725% เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนที่ 1.697% เมื่อวันศุกร์ (Reuters)

สหรัฐ:

• ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดบวกเมื่อวันจันทร์ โดยดัชนี S&P500 ปิดเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือนหลังจากนางเยลเลน ประธานเฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่งแต่ได้ให้ความรู้สึกเล็กน้อยเกี่ยวกับกำหนดเวลาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่กำลังจะมาถึง หุ้นกลุ่มพลังงานได้กระตุ้นตลาดหลังจากราคาน้ำมันปิดเพิ่มขึ้น (Reuters)

ยุโรป:

• ตลาดหุ้นยุโรปเมื่อวันจันทร์ปรับตัวสูงขึ้น หนุนจากหุ้นกลุ่มสินแร่และน้ำมันหลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์ฯ ที่อ่อนค่าลงได้ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ ปรับตัวสูงขึ้น (Reuters)

เอเชีย:

• นายกฯ ญี่ปุ่นเตรียมพร้อมมาตรการใหม่เพื่อรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ผ่านการใช้มาตรการกระตุ้นทางการคลัง โดยมีแผนจะจัดเตรียมงบประมาณไว้ราว 5-10 ล้านล้านเยน (4.7-9.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ) สำหรับขยายแรงงานในประเทศและชะลอสังคมผู้สูงอายุ (Reuters)

• ตลาดหุ้นจีนเมื่อวันจันทร์ปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนเฝ้ารอตัวเลขข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญๆ ที่จะประกาศในช่วงสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นปรับตัวลดลงในกรอบจำกัด เนื่องจากยังได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากความคาดหวังที่ MSCI จะรวมหุ้นจีนเข้าไปอยู่ในดัชนีตลาดเกิดใหม่ของ MSCI ซึ่งจะมีการพิจารณาในช่วงสัปดาห์หน้า (Reuters)

• ยังคงต้องจับตาข้อมูลเศรษฐกิจจีนในช่วงสัปดาห์นี้ ได้แก่ เงินทุนสำรองต่างประเทศที่จะประกาศในวันนี้ รวมไปถึงข้อมูลการค้าของประเทศ (ส่งออก-นำเข้า) ในวันพุธ และตัวเลข CPI และ PPI ในวันพฤหัสบดี ขณะที่ข้อมูลตัวเลขสินเชื่อจะประกาศภายในช่วงวันที่ 10-15 มิ.ย. และข้อมูลภาคเศรษฐกิจจริง (การลงทุน, ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม, และยอดค้าปลีก) ในวันที่ 12 มิ.ย. (Reuters)



สินค้าโภคภัณฑ์:

• ราคาน้ำมันบวกวันจันทร์ เพราะเหตุโจมตีท่อส่งน้ำมันในประเทศไนจีเรียและน้ำมันถูกถอนออกจากสต็อกของสหรัฐล่าสุดแม้การบวกจะถูกหักล้างโดยคาดการณ์ดอกเบี้ยสหรัฐปรับขึ้น Brent ล่วงหน้าปรับขึ้น 68 เซนต์ ปิดที่ 50.32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยในช่วงต้นการซื้อขายขึ้นไปแตะ 50.83 ดอลลาร์สหรัฐ จุดสูงสุดนับแต่ พ.ย. ราคาน้ำมันสหรัฐปรับขึ้น 80 เซนต์ (+1.6%) ปิดวันที่ 49.42 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากที่แตะจุดสูงสุดของวัน 49.90 ดอลลาร์สหรัฐ (Reuters)

• ราคาทองบวกสู่จุดสูงสุดรอบ 2 สัปดาห์ และจึงย่อลงมาเท่าเดิมหลัง Janet Yellenประธาน Fed กล่าวว่ายังคงคาดว่า Fed จะค่อยๆ ขึ้นดอกเบี้ย ราคาทองคำตลาดจรเพิ่มขึ้น 0.02% ปิด 1,244.31 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำล่วงหน้าสหรัฐส่งมอบ ส.ค. เพิ่มขึ้น 0.4% ปิด 1,247.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (Reuters)