สธ.คุมซิการะบาด อุดร-บึงกาฬ เฝ้าระวังต่อ28วัน

สธ.คุมซิการะบาด อุดร-บึงกาฬ เฝ้าระวังต่อ28วัน

สธ.เร่งคุมโรคซิการะบาดใน 2 จังหวัด อุดรธานี-บึงกาฬ มั่นใจหยุดแพร่ระบาดได้ เฝ้าระวังต่อ 28 วัน ก่อนประกาศพื้นที่ปลอดโรค

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการว่า จากที่มีการระบุว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทยนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการควบคุมโรคใน2จังหวัด คือ จ.อุดรธานี และ จ.บึงกาฬ แต่มีผู้ติดเชื้อเพียง1-2คน เท่านั้น ถือว่าสถานการณ์อยู่ในระดับที่ควบคุมการแพร่ระบาดโรคได้แล้ว และหากในอีก 28 วัน ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ก็จะสามารถประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคได้ ทั้งนี้ ไม่ได้มีการห้ามเดินทางไปมาระหว่างพื้นที่ ประชาชนยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

“ ที่ประชุมคณะกรรมการฯยังได้มีการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในกลุ่มนักกีฬาและบุคลากรคนอื่นๆ ที่จะเดินทางไปร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ประมาณเดือนส.ค.นี้ ด้วย เบื้องต้นต้องมีการให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองก่อนการเดินทาง โดยจากนี้จะมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง”พล.ร.อ.ณรงค์กล่าว

 พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบ3เรื่อง ได้แก่1.แผนปฏิบัติการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการดำเนินงานด้านสุขภาพหนึ่งเดียวเพื่อความมั่นคงของประเทศ พ.ศ.2560 – 2564ซึ่งเป็นแนวคิดในการปฎิบัติงานร่วมกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพคน สัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยมอบ8กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศึกษาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกษตรและสหกรณ์ มหาดไทย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สภากาชาด และสาธารณสุข ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการดังกล่าวให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย4ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.)พัฒนาระบบความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และข้อมูลข่าวสาร 2.)พัฒนาระบบการทำงานแบบบูรณาการ 3.)พัฒนาศักยภาพบุคลากร ตามสมรรถนะหลักสุขภาพหนึ่งเดียว และ4.)การสื่อสารความเสี่ยง และประชาสัมพันธ์

2.การสนับสนุนด้านนโยบาย เรื่องการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เช่น ยา วัคซีน ชุดตรวจทางห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์การป้องกันควบคุมโรค เพื่อแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ทั้งการวางแผน สนับสนุนการผลิต กำลังคน เทคโนโลยี สนับสนุนผลิตภัณฑ์ การใช้ การตลาด ซึ่งตั้งเป้าขยายสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและพึ่งพาตนเองของประเทศ ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว โดยมอบให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบจัดการความรู้และส่งเสริมการวิจัยพัฒนา จัดทำแผนการดำเนินงาน การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับรองรับโรคติดต่ออุบัติใหม่ของประเทศ เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการต่อไป และ3.กรอบแนวทางการสื่อสารและประชาสัมพันธ์โรคติดต่ออุบัติใหม่ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ใช้เป็นแนวทางในการประชาสัมพันธ์สื่อสารความเสี่ยงโรคติดต่ออุบัติใหม่แก่ประชาชนได้อย่างทันเหตุการณ์ มีความรู้ความเข้าใจ เกิดความเชื่อมั่น และลดความตื่นตระหนก

ด้าน นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับการส่งตัวนักกีฬาไปแข่งขันโอลิมปิกนั้นต้องดำเนินการตามมาตรฐาน มีการตรวจร่างกายก่อนเดินทาง การระหว่างอยู่ที่เมืองริโอจะต้องมีมาตรการในการดูแลตัวเอง มีการทายากันยุง ป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วยวิธีการต่างๆ และหลังกลับมาก็ต้องตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มนักกีฬาหญิงต้องมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ เบื้องต้นคาดว่าน่าจะมีนักกีฬาและผู้ร่วมเดินทางประมาณร้อยกว่าคน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องมีการหารือกับคณะกรรมการโอลิมปิกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงาน

นพ.อำนวย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีการเตรียมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ ทำให้สามารถตรวจหาการติดเชื้อไวรัสซิกาได้เองแล้วส่งผลให้ปีนี้จะมีการพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นบ้างแต่ยังไม่นับเป็นการระบาดของโรคที่รุนแรงดังเช่นที่ปรากฏในประเทศแถบลาตินอเมริกา ซึ่งขณะนี้มีรายงานการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาใน 9 จังหวัด แต่สามารถควบคุมได้แล้ว 7 จังหวัดคือ นนทบุรี นครราชสีมา พิษณุโลก สุโขทัย กรุงเทพมหานคร อุตรดิตถ์ และกาญจนบุรีส่วน2จังหวัดที่อยู่ระหว่างการควบคุมคือ จ.อุดรธานี และ จ.บึงกาฬ.