ผลสำรวจ 'กก.บริษัท' ส่วนใหญ่ชี้เพิ่มโทษผู้กระทำผิด

ผลสำรวจ 'กก.บริษัท' ส่วนใหญ่ชี้เพิ่มโทษผู้กระทำผิด

"ไอโอดี" เผยผลสำรวจกรรมการบริษัท ส่วนใหญ่ต้องการให้เพิ่มโทษผู้กระทำผิด ประเด็นผู้บริหารกระทำความผิดในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้น

นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของกรรมการไทย ปี 2559 ว่า กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า บทลงโทษกรรมการหรือผู้บริหารที่กระทำความผิดในลักษณะที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นในปัจจุบัน รวมถึงการใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งส่วนใหญ่สิ้นสุดที่การถูกปรับนั้น
เบาเกินไป และกรรมการที่กระทำผิดควรได้รับทั้งโทษปรับ จำคุก และตัดสิทธิการเป็นกรรมการด้วย นอกจากนี้ ยังมองว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้กรรมการขาดจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เกิดจากการขาดวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม

ปีนี้เป็นปีที่สองที่สถาบัน IOD ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของกรรมการไทยประจำปีขึ้น เพื่อรวบรวมความคิดเห็นของกรรมการในประเด็นที่เป็นที่สนใจของกรรมการ และกรรมการควรให้ความสำคัญ โดยทำการสำรวจระหว่างเดือนมีนาคมถึง พฤษภาคม 2559 มีกรรมการที่ร่วมแสดงความคิดเห็น 416 คน ซึ่งมีความหลากหลายทั้งด้านประสบการณ์ของกรรมการ ขนาดของกิจการและประเภทของอุตสาหกรรม ทำให้ข้อมูลที่ประเมินสามารถสะท้อนมุมมองและความคิดเห็นของกรรมการไทยได้เป็นอย่างดี

จากผลการสำรวจ กรรมการส่วนใหญ่ร้อยละ 65 เห็นว่า บทลงโทษสำหรับกรรมการหรือผู้บริหารที่กระทำผิดในลักษณะการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือการเอาเปรียบผู้ลงทุนในการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น การใช้ข้อมูลภายใน การสร้างราคาหุ้น ในปัจจุบันนั้นเบาเกินไป โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า ผู้กระทำผิดดังกล่าวควรได้รับทั้งโทษปรับและจำคุก รวมถึงการตัดสิทธิการเป็นกรรมการด้วย

จากการศึกษาข้อมูลตามที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. IOD พบว่า ส่วนใหญ่กรรมการหรือผู้บริหารที่กระทำผิดในลักษณะการกระทำอันไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้น จะถูกลงโทษด้วยการเปรียบเทียบปรับเท่านั้น และยังคงสามารถดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการต่อไปได้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีกรรมการหรือผู้บริหารบางรายกระทำผิดซ้ำในเรื่องเดียวกัน แต่ต่างกันที่ช่วงเวลา ดังนั้นในแง่บทลงโทษ จึงควรมีความเข้มข้นขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยต้องเพียงพอที่จะทำให้ผู้จะกระทำเกิดความเกรงกลัวที่จะกระทำผิด

“ในส่วนของ IOD เห็นว่า การกระทำผิดของกรรมการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกิดขึ้นในบริษัทจดทะเบียนนั้น ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่คณะกรรมการบริษัทไม่ควรเพิกเฉย เนื่องจากเป็นการกระทำผิดทั้งทางกฎหมายและจริยธรรม ดังนั้น คณะกรรมการจึงควรตรวจสอบให้มั่นใจว่า บุคคลที่จะเสนอชื่อเป็นกรรมการนั้นไม่มีประวัติการกระทำผิดตามพ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มาก่อน” ดร. บัณฑิต กล่าว

สำหรับปัจจัยที่กรรมการไทยเห็นว่า มีผลทำให้กรรมการขาดจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ คือ วัฒนธรรมองค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องจริยธรรม (ร้อย 60) คณะกรรมการให้ความสำคัญกับเรื่องกำไรมากกว่าจริยธรรม (ร้อยละ 47) ระบบการตรวจสอบควบคุมภายในไม่มีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 36) ซึ่งการปรับเปลี่ยนควรเริ่มจากคณะกรรมการในฐานะผู้นำองค์กรที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญ ผลักดันให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เป็นแบบอย่างที่ดี และจัดให้มีระบบที่รองรับกับการกำกับดูแลให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามจริยธรรมที่ได้กำหนดไว้

ในด้านการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการนั้น กรรมการร้อยละ 74 มองว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการที่มีทักษะความรู้หลากหลายและสอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจมีความสำคัญมากที่สุดในการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของกรรมการ โดยประเด็นที่คณะกรรมการส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญในการประชุมกรรมการมากขึ้นในปีนี้ คือเรื่องกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ (ร้อยละ 61) และการบริหารความเสี่ยง (ร้อยละ 54)

สำหรับมุมมองของกรรมการไทยที่มีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ร้อยละ 35 มองว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มทรงตัว เมื่อเทียบกับปี 2558 ในขณะที่ร้อยละ 33 มองว่า เศรษฐกิจจะแย่ลงเล็กน้อย และร้อยละ 10 มองว่าจะแย่ลงมาก โดยร้อยละ 22 มองว่าจะดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีนี้ก็มีลักษณะคล้ายกัน โดยร้อยละ 39 มองว่าจะทรงตัว ในขณะที่ ร้อยละ 33 เห็นว่ามีแนวโน้มแย่ลงเล็กน้อย ร้อยละ 12 มองว่าจะแย่ลงมาก และร้อยละ 16 มองว่าจะดีขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ กรรมการไทยมองว่าประเด็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ความไม่ชัดเจนของทิศทางเศรษฐกิจ (ร้อยละ 22) ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง (ร้อยละ 21) และ การทุจริตคอร์รัปชัน (ร้อยละ 20)