เมื่อครอบครัวไทย..ไม่เหมือนเก่า

เมื่อครอบครัวไทย..ไม่เหมือนเก่า

ลืมอุดมคติครอบครัวแบบ ‘พ่อ-แม่-ลูก’ ไปสักพัก เพราะผลสำรวจอธิบายได้ถึงโครงสร้างครอบครัวไทยที่ไม่เหมือนเดิม ทั้งคือสัญญาณบอกให้เราต้องปรับตัว

 “ก่อนคุณเข้ามา ผมก็เพิ่งวางสายกับคุณแม่คนหนึ่ง” ดร.สมใจ รักษาศรี ผู้อำนวยการสถาบันครอบครัวไทย บอกกับผู้มาเยือน พร้อมๆ กับเปิดตารางนัดหมายซึ่งคะเนเอาคราวๆ จากสายตาได้ว่า ตลอด1-2 เดือนนี้ การงานของเขาค่อนข้างรัดตัวเอาการอยู่

ต่อให้มีเว็บบอร์ด-กระทู้ดังว่าด้วยเรื่องสารพันปัญหาครอบครัว หรือจะมี LINE Chat แอพลิเคชั่นอีกนับสิบเพิ่มความสะดวกให้ทุกคนได้ปรับทุกข์-พูดคุยเท่าที่ใจต้องการ แต่กับการหาที่ปรึกษาอย่างจริงๆ จังๆ เพื่อเข้ากระบวนการรักษายังคงดำเนินอยู่ เพียงแต่มันเคลื่อนที่อย่างเงียบๆ และไม่มีกระแสดราม่า (Drama) พอให้ใครเอาไปแชร์ต่อ

“เราเองก็ใช้สื่อออนไลน์นำเสนอข้อมูล ทุกวันผมจะนั่งตอบอีเมล์ รับโทรศัพท์ แต่บางราย มันต้องใช้เวลา ต้องนัดแนะเข้ามาพูดคุยกัน มีคอร์สระยะสั้นๆ เพื่อฝึกทักษะให้ผู้ที่ไม่เคยศึกษาเรื่องนี้มาก่อน เช่น สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ การรับมือกับลูกวัยรุ่น การเจอกับคู่ครองที่ประสบปัญหาจิตใจ มีสองบุคลิก ฯลฯ แต่ถ้าบางรายหนักก็ต้องไปถึงจิตแพทย์ หรือบางรายมีปัญหามากจากสุขภาพก็ต้องให้แพทย์ดูแลรักษา”

ดร.สมใจ บอกว่า นับแต่รับให้คำปรึกษามามากกว่า 15 ปี ปัญหาหลักของครอบครัวมีความแตกต่างกันไปตามยุคสมัย แต่ถ้าลองจัดลำดับก็จะพบว่า ลำดับแรกๆ หนีไม่พ้นเรื่องปัญหาของสามี-ภรรยา ซึ่งมาจากความไม่เข้าใจกัน, ปัญหาเศรษฐกิจ, ปัญหามือที่สาม หรือเรื่องการเลี้ยงดูลูก ซึ่งพ่อแม่มักสงสัยว่าทำไมลูกของตน “เลี้ยงยาก” ส่วนถ้าเป็นวัยรุ่น แน่นอนว่ามักมาจากเรื่อง “ท้องไม่พร้อม” และเซ็กซ์บนความรู้ผิดๆ

“คุยกันทีไร ทะเลาะกันทุกที เขาคุยกันเองไม่ได้ ก็ต้องมาหาคนที่สามช่วยเจรจา ปัญหาครอบครัวหลัก คือความเข้าใจและการปรับตัวหากัน ถ้าเป็นคู่รักปัญหาจะเกิดจากวัฒนธรรมที่ต่างกัน วัฒนธรรมเป็นตัวกำกับวิธีคิดของแต่ละคน เช่น ผู้หญิงบางคน แม้จะแต่งงานแล้วแต่ก็ยังส่งเงินให้ที่บ้าน กังวลกับปัญหาที่บ้านมากกว่าครอบครัวใหม่ตัวเอง แต่คู่ของตัวเองไม่เข้าใจก็จะทะเลาะกัน บางคนมีความคาดหวังแอบแฝงที่ซ่อนอยู่ภายใน และไม่เคยบอกคนรัก จนมันถูกสถานการณ์กระตุ้นออกมาและกลายเป็นปัญหา”

“ถ้าเป็นผู้ใหญ่กับวัยรุ่น ก็จะเป็นการไม่ยอมรับโลกของกันและกัน เช่น หลานก็มีโลกของหลาน ส่วนยายก็รักในแบบของยาย นั่นเพราะกรอบความคิด ความคาดหวังของคนแต่ละวัยมันต่างกัน” ผู้อำนวยการสถาบันครอบครัวบอกและตั้งข้อสังเกตประเด็นหนึ่งที่น่าคิดไม่น้อย

เรื่องมีอยู่ว่าในอดีตสังคมไทยมักยกประเด็นเรื่องการหาที่ปรึกษาครอบครัว การพบจิตแพทย์ ให้เป็นเรื่องของคนป่วย ขาดที่พึ่ง มีสภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ ฯลฯ

หากแต่ทุกวันนี้ การแชร์ปัญหาของตัวเองลงใน Facebook การอีเมล์สอบถาม นัดพบกับผู้เชี่ยวชาญ กระทั่งการสืบค้นวิธีการรับมือกับคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงานซึ่งมีบุคลิกแตกต่างกันดูเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งส่วนหนึ่งมันก็พอจะอธิบายได้ว่า เมื่อปัญหามันซับซ้อนขึ้น การจะเอาตัวรอดด้วยความรู้สึก สัญชาติญาณอย่างเดียวมันคงไม่พอ

หากเรายังต้องการข้อมูล ต้องการเพื่อนช่วยคิด เพื่อให้มั่นใจว่าเราไม่ได้ยืนเผชิญหน้ากับความหนักใจดังกล่าวเพียงลำพัง

 

โครงสร้างครอบครัว ไม่เหมือนเก่า

  เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) สำนักงานงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงเปิดตัว รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2558 เรื่อง “โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน” ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลโดยอ้างอิงจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยผลสำรวจระบุว่า ปัจจุบันครอบครัวในประเทศไทยมีความหลากหลายมากขึ้น และองค์ประกอบของครอบครัวเดี่ยวแบบพ่อ-แม่-ลูก แบบที่เราเคยชิน ไม่ใช่รูปแบบหลักของสังคมอีกต่อไป

ครอบครัวสามรุ่นในครอบครัวเดียว (ปู่ย่า/ตายาย ลูก หลาน) คือรูปแบบครอบครัวซึ่งมีจำนวนมากที่สุด คิดเป็น 33.6% ของทั้งหมด อันดับ 2 คือครอบครัวแบบพ่อ-แม่-ลูก อยู่ที่ 26.6% อันดับที่ 3 คือคู่สามี-ภรรยา ที่ไม่มีบุตร 16.2% อันดับที่4 คือ ครัวเรือนที่อยู่คนเดียว 13.9% อันดับ 5 คือครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 7.1% อันดับ6 คือครัวเรือนข้ามรุ่น 2.1% และอันดับสุดท้ายคือครัวเรือนที่ไมใช่ญาติ 0.6%

  “ครอบครัวเดี่ยว ซึ่งเคยเป็นรูปแบบครอบครัวหลัก ในช่วง 26 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2530-2556) จาก 52.4% เหลือ 26.6% ขณะที่ครอบครัวขยาย โดยเฉพาะครอบครัวสามรุ่นมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวขึ้น และเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเขาจึงกลับมาอยู่รวมกันเพื่อช่วยกันในเรื่องเศรษฐกิจ” ดร.วาสนา อิ่มเอม รองผู้แทน UNFPA Thailand คณะทำงานสำรวจ ขยายความ

ส่วนประเด็นที่สอดคล้องยุคสมัย คือมีครอบครัวคู่สามีภรรยาซึ่งสมัครใจไม่มีลูกนี้เพิ่มเป็นประมาณ 3 เท่าจากการสำรวจครั้งก่อน คือจากร้อยละ 5.6% เป็น 16.2% เช่นเดียวกับครัวเรือนซึ่งอาศัยอยู่คนเดียว เพิ่มจากร้อยละ 6.1% เป็น 13.9%

ขณะที่ครอบครัวพ่อกับแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวซึ่งเพิ่มจำนวนจาก 9.7 แสนครัวเรือนเป็น 1.37 ล้านครัวเรือนนี้ มีถึง 80% จากจำนวนทั้งหมดที่เป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว

“ความอบอุ่นในครอบครัวไทยแบบดั้งเดิม คือพ่อ-แม่-ลูกลดลง ถูกแทนที่ด้วยลักษณะของครอบครัวที่ความหลากหลายในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย อาทิ การหย่าร้าง ความสมัครใจที่ไม่ต้องการมีลูก การมีบุตรยาก ความอิสระของความรักในเพศเดียวกัน" ดร.วาสนา กล่าวเสริม

ณัฏฐ์ เหล่าอมต อายุ 51 ปี ให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ส่วนตัวว่า ในอดีตเมื่อสมรสแล้วได้ซื้อบ้านและย้ายออกมาอยู่กับภรรยาและลูกอีก 2 คน โดยจ้างคนรับใช้เพื่อเป็นธุระจัดการบ้าน แต่เมื่อ 5-6 ปีหลังประสบปัญหาเศรษฐกิจประกอบกับบิดา-มารดามีอายุมากขึ้น จึงปรับเปลี่ยนมารวมเป็นครอบครัวใหญ่เพื่อความคุ้มค่าในค่าใช้จ่าย ลดภาระการจ้างคนรับใช้ และลงทุนต่อเติมพื้นที่ภายในบ้านเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนสมาชิกที่มากขึ้น

“ผมไม่ได้คิดว่าการกลับมาอยู่รวมกับพ่อแม่ คือความล้มเหลวหรือถอยหลังของการสร้างครอบครัวใหม่ แต่มันเป็นการปรับรูปแบบชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน และทุกวันนี้ครอบครัวผมมีความสุขดี ลูกผมก็มีพ่อแม่ช่วยสั่งสอนเลี้ยงดู เราขยายพื้นที่บ้านให้กว้างขวางขึ้นให้มันโอเคสำหรับทุกคน” หัวหน้าครอบครัวบอก

 

ตัวแปร Gen Y ตัวแปรเพิ่มประชากร

  การเลือกที่จะไม่มีบุตรของคนวัยเจริญพันธุ์ คือประเด็นที่ถูกพูดถึงมาสักระยะ โดยนักวิชาการบางสำนัก ถึงขนาดคาดการณ์ว่าหาก สถานการณ์ยังออกมาในรูปนี้ ไม่แคล้วการขาดแคลนแรงงานจะกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาของประเทศในอนาคต ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวมีกลุ่มคน Generation Y (Gen Y) ซึ่งเป็นกลุ่มวัยเจริญพันธ์เป็นตัวแปรสำคัญ (อีกแล้ว)

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับเดียวกันยังให้ข้อมูลว่า คู่ครองที่ไม่สมัครใจมีบุตรนั้นมีผลมาจากหลายปัจจัย ในจำนวนนี้ เกี่ยวข้องกับทัศนคติของคนรุ่นใหม่ ซึ่งมองการมีลูกเป็นภาระ และเป็นทางเลือกของผู้หญิงที่ต้องเลือกระหว่าง “ความเป็นแม่” กับ “งาน” กระทั่งเรื่องภาระค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่ต้องคิดหนัก เพราะคำนวณกันว่าการเลี้ยงดูเด็กสักคนตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 20 ปี ต้องใช้จ่ายรวมกันประมาณ 1.9 ล้านบาท

ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ให้มุมมองว่า แนวโน้มการเพิ่มจำนวนประชากรที่ลดลงมีอัตรามานานแล้ว แต่ที่กำลังส่งผลถึงจำนวนประชากรในอนาคตมีตัวแปรอยู่ที่กลุ่ม Gen Y (Generation Y) จำนวน 22 ล้านคนทั่วประเทศ หรือประมาณ 34% ของประชากรทั้งหมด

แม้กลุ่ม Gen Y แบ่งได้เป็น 4 ช่วง คือ 13-18 ปี, 19-24 ปี, 25 -30 ปี และ 30-35 ปี แต่โดยเฉพาะ Gen Y ใน 2 ช่วงหลังคืออายุ 25-35 ปีนี้ พวกเขาอยู่ในช่วงเวลาของวัยเจริญพันธุ์ ทั้งยังเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการมีครอบครัวก็จริง แต่จากผลการวิจัยกลับพบว่า พวกเขามีความต้องการอย่างอื่นๆ ที่ “นอกเหนือ” จากการมีครอบครัวมีบุตรด้วย อาทิ พวกเขาต้องการซื้อรถ ซื้อบ้าน มีการงานที่มั่นคง มีธุรกิจส่วนตัว

“คนช่วงอายุ 25-35 มีความคาดหวังในหลายเรื่อง พวกเขาอยากซื้อรถแล้วค่อยซื้อบ้าน อยากทำงานดีๆ อยากมีธุรกิจส่วนตัว ไม่ใช่ไม่อยากมีครอบครัว แต่พวกเขาอยากทำเรื่องอื่นให้ประสบความสำเร็จด้วย กว่าจะคิดเรื่องชีวิตคู่ ก็อาจจะไปถึงอายุ 35 หรือมากกว่า ซึ่งภาวะเจริญพันธุ์เหลือน้อย อีกทั้งกลุ่ม Gen Y ยังรักอิสระ มีความฝันที่จะใช้ชีวิต ท่องเที่ยว ดื่มกาแฟร้านเก๋ๆ ซึ่งมองว่าการมีลูกจะทำให้เสียโอกาสตรงนี้ไป”

 

‘ปรับ’ เพราะ ‘เปลี่ยน’

  ถึงตรงนี้คงต้องพักอุดมคติว่าด้วยพ่อ-แม่-ลูกที่อบอุ่นไปชั่วครู่ เพราะเมื่อสภาพครอบครัวไทยทุกวันนี้ เปลี่ยนไปจากเก่าแล้ว ดีที่สุดคงต้องหาทางปรับเพื่อสอดรับกับความเป็นจริงให้ได้

เริ่มจากกลไกที่มีอยู่แล้วอย่างศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน ซึ่งมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำกับดูแล ใน 7,011 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งต้องยกระดับให้เป็นที่พึ่งของประชาชนในทุกมิติ ทำตัวให้เป็นที่รู้จักและเท่าทันกับข้อมูลสถานะครอบครัวไทยในปัจจุบัน อย่างน้อยๆ แต่ละครอบครัวไทยจะได้มีเพื่อนปรึกษา เป็นสื่อกลางเพื่อเข้าถึงชุดข้อมูลอื่นๆ ต่อไปได้

ขณะที่ข้อเสนอของ UNFPA Thailand ส่วนหนึ่งระบุว่า รัฐจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะเพื่อตอบสนองครัวเรือนประเภทต่างๆ โดยเฉพาะสนับสนุนสมาชิกในครอบครัวที่เปราะบางที่สุด อาทิ การเปลี่ยนทัศนคติการมีลูกคือภาระด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐช่วยให้คู่สมรสมีความคล่องตัวทางการเงิน ส่งเสริมสวัสดิการและความช่วยเหลือทางการเงินตามจำนวนบุตร การบริการดูแลเด็กเล็กที่เหมาะสมและมีคุณภาพ เพิ่มเติมจากสถานเลี้ยงเด็กของรัฐที่มีอยู่ประมาณ 22,000 แห่งทั่วประเทศซึ่งจะสามารถช่วยพ่อแม่ใบเลี้ยงเดี่ยวที่ต้องทำงานให้เบาใจขึ้นได้

เช่นเดียวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีบุตรด้วยการให้สิทธิการลาคลอดหรือลาช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรของฝ่ายชายซึ่งสามารถลดความกังวลของฝ่ายหญิง การช่วยเหลือครอบครัวข้ามรุ่นที่มีหัวหน้าครัวเรือนอยู่ในวัยชราและเกษียณอายุ ขาดรายได้ เป็นต้น

บัว นอสูงเนิน อายุ 64 ปี ซึ่งอาศัยอยู่กับหลานชายอายุ 14 ปี แบบ 2 คน ย่า-หลาน บอกว่า เมื่อลูกชายมีทายาทตั้งแต่อายุยังน้อย เธอเองก็ต้องปรับตัว โดยการยืดอายุการทำงานให้นานขึ้น เพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูหลานที่ยังเล็ก อย่างไรก็ตาม แม้บางจังหวะชีวิตจะขรุขระไปบ้าง แต่ชีวิตของพวกเธอทุกคนก็มีความสุขตามอัตภาพ และจะดีกว่านี้ได้อีก หากรัฐเองมีนโยบายที่จะการันตีถึงความเป็นอยู่ที่ดี อย่างน้อยๆ ก็ขอให้หลานชายได้ร่ำเรียนอย่างที่ใจอยาก

“ลูกอยู่คนเดียวในกรุงเทพ เขาก็จะส่งเงินมาให้บ้าง เราก็ไม่ได้หยุดทำงาน ยังเป็นครูพิเศษในโรงเรียนเอกชน หาเงินให้พอกับครอบครัว ไม่ได้คิดว่าคือปัญหา เพียงแต่เราก็ต้องปรับชีวิตไปตามความเป็นจริง”

เมื่อสถานการณ์ของครอบครัวเปลี่ยนไป อุดมคติความอบอุ่นแบบเดิมคงต้องพับเก็บไปสักพัก ยอมรับเถอะว่านี่คือสัญญาณให้เราต้องปรับตัว ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง.