'ปลูกป่า' หมดเวลาโลกสวย

'ปลูกป่า' หมดเวลาโลกสวย

ปลูกต้นไม้ได้ป่า สมการที่ว่านี้อาจจะง่ายเกินไป

          ทะเลภูเขาสีน้ำตาลโล้นแล้ง ไม่เพียงสะท้อนสถานการณ์น่าเป็นห่วงของการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชพาณิชย์ และความเสียหายของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติในระดับที่เรียกว่า‘วิกฤติ’ ยังกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียลที่ค่อยๆ เขยิบสู่การเป็นวาระแห่งชาติอย่างไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะวิวาทะว่าด้วย “การปลูกป่า”

          ขณะที่กระแส “ปลูกเลย” มาแรงกว่าสัญญาณ 4G ฝ่ายค้านที่เสนอว่า “อย่าปลูกเลย” ก็มีคำอธิบายที่เรียกคะแนนได้ไม่น้อย โดยเฉพาะตรรกะที่ว่า “ปลูกต้นไม้ ไม่ใช่ปลูกป่า” ทว่า เสียงที่หายไปกลับเป็น...เสียงของคนในพื้นที่ที่ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ

          “ปลูกดี ไม่ปลูกดี” บางทีนี่อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ หากนักรักษ์โลกออนไลน์ได้รู้ว่าที่ผ่านมากว่าทศวรรษ ประเทศไทยมีหน่วยงานที่อาสาปลูกป่านับสิบ มีพื้นที่ปลูกป่านับล้านๆ ไร่ แต่ผลที่ได้...ก็อย่างที่เห็น

          .............................

          "เท่าที่ผมตั้งข้อสังเกตมาประมาณ 15-16 ปี การปลูกป่าจาก 100% มันเกิดขึ้นไม่ถึง 20 % ด้วยซ้ำไป หลายหน่วยงานที่เข้ามาปลูกป่าในพื้นที่ ระดมคนมาปลูก พอปลูกเสร็จก็ขึ้นป้ายถ่ายรูปว่าปลูกป่าสำเร็จเรียบร้อย แล้วทุกคนก็กลับไป บางหน่วยที่ผมเห็นไม่รู้ว่าจะตลกหรือว่าเศร้าดี ไปถางต้นไม้เดิมที่มีอยู่แล้ว แล้วเอากล้าพันธุ์ไม้อะไรไม่รู้ที่เตรียมไว้ไปปลูกแทน เพื่อที่จะได้ถ่ายรูปสวยๆ ว่าตัวเองได้ปลูกป่าแล้วนะ อันนั้นมันกิดขึ้นมาตลอดในประเทศเรา" เมธวัฒน์ พุทธิธาดากุล นายก อบต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ประเมินผลงานการปลูกป่าจากประสบการณ์ตรง 

          "สาเหตุประการหนึ่งที่มันไม่รอด ก็คือหลังปลูกเสร็จแล้วไม่มีคนดูแลต้นไม้ที่ปลูกไว้ พอหน้าแล้งก็ไม่มีใครสนใจ ผลสุดท้ายกล้าไม้เหล่านั้นก็ตายไป ประการที่สอง กล้าพันธุ์ไม้ที่นำมาปลูกมันไม่ใช่เป็นกล้าพันธุ์ไม้ในท้องถิ่น เอาต้นอะไรก็ไม่รู้มาปลูกในพื้นที่ เสร็จแล้วกล้าไม้เหล่านั้นพอเจอสภาพอากาศบ้าง ความหนาวบ้าง ความแห้งแล้งบ้าง ในที่สุดก็ตาย ประการที่สาม ไม่มีใครสนใจ หลังจากปลูกไปแล้วมีวัชพืชมีหญ้ามีอะไรคลุมหมด สุดท้ายต้นไม้เหล่านั้นก็ไม่เหลือ ตาย"    

          แม้ไม่ใช่ทั้งหมดของการปลูกป่าที่เป็นงานซีเอสอาร์ฉาบฉวย แต่หากความตั้งใจดีนั้นขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ผลลัพธ์ก็เท่ากับจุดเริ่มต้น ณรงค์ อภิชัย ผู้อำนวยการภาคสนาม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง อธิบายเพิ่มเติมว่า

          "วิธีปลูกป่ามีหลายวิธี การปลูกป่าแบบไม่ปลูก การปลูกป่าแบบปลูกเสริม การปลูกป่าแบบเข้าแถว สิ่งต่างๆ นั้นคือการปลูกทั้งหมด แต่ถ้าเรามองตามธรรมชาติ ธรรมชาติมีชีวิตของเขา มีสัตว์มีนกมีหนู มันมีการปลิวมีการไหลของเมล็ดพืชพันธุ์ สิ่งนั้นมันจะช่วยให้ป่าฟื้นขึ้นได้ แต่เราต้องดูว่าต้นไม้เรือนยอดมีพอไหม ถ้าบนภูเขานั้นมีแต่หญ้าคาไม่มีอะไรเลย ถูกเผาทำลายแล้วก็พ่นยากำจัดวัชพืชต่อเนื่องยาวนานสิบปียี่สิบปีเนี่ย การที่จะให้นกหรือสัตว์คาบเมล็ดมาตก หรือคนเอาหนังสติ๊กไปยิงเพื่อที่จะให้มันตกลงไปแล้วให้มันโตขึ้นคงเป็นไปได้ยาก ต้องดูบริบท ถ้ามันมีไม้เรือนยอดและมีความชุ่มชื้น สภาพดินไม่เลวร้ายเกินไป การที่ไม่ได้ช่วยอะไรให้เขาเติบโตด้วยตัวเอง 3 ปี 5 ปีมันก็เขียวแล้วครับ อันนั้นได้"

          สอดคล้องกับความเห็นของคุณหมอนักอนุรักษ์ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ที่โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัวว่า "การทำลายป่าของเรา ที่ผ่านมาไม่ได้เพียงทำลายพื้นที่ป่าไม้ แต่เราได้ทำลายศักยภาพของป่าในการฟื้นฟูตนเองด้วย..." 

          "พันธุ์ไม้ในป่ามีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีวิธีกระจายเมล็ดพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป ต้นยาง พยอม เหียง ประดู่ป่า มีผลติดปีก อาศัยลมพัดพาไปไกลๆ ได้ ในขณะที่มีพันธุ์ไม้ป่าอีกหลายชนิดใช้วิธี ออกผลสีสด มีเนื้อนุ่ม รสอร่อย เชื้อเชิญให้สัตว์มากิน กลืนเมล็ดเข้าไป และไปถ่ายเมล็ดในที่ห่างไกลออกไป การสูญพันธุ์ของสัตว์ที่กินผลไม้เป็นอาหารหลักไปจากพื้นที่ มีผลอย่างมากต่อความสามารถในการกระจายพันธุ์ และศักยภาพในฟื้นฟูตนเองของป่าดิบเขตร้อน แม้ว่าในบางพื้นที่ยังเหลือนกเล็กๆ และค้างคาวกินผลไม้ทำหน้าที่ดังกล่าว แต่พันธุ์ไม้หลายชนิดมีวิวัฒนาการมาจำเพาะให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่าง ชะนี หมี หรือ นกขนาดใหญ่อย่างนกเงือกเป็นตัวกระจายพันธุ์ 

          หากป่าถูกทำลายพร้อมกับสัตว์ป่า พันธุ์ไม้เหล่านี้ก็จะไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ มนุษย์เราต้องช่วยด้วยส่วนหนึ่งครับ มิเช่นนั้น ความหลากหลายพันธุ์ไม้ในป่าที่ฟื้นใหม่จะมีเพียงไม้เบิกนำบางชนิดที่กระจายพันธุ์โดยลมและนก หรือค้างคาวขนาดเล็กเท่านั้น

          ดังนั้นหากถามผมว่าเราต้องปลูกป่าหรือไม่ ผมขอตอบว่า ต้องปลูก แต่ต้องปลูกอย่างถูกวิธี อิงข้อมูลทางวิชาการ และเวลาในการฟื้นฟู่ป่าที่ดีที่สุดคือ เมื่อ 50 ปี ที่แล้ว ส่วนเวลาที่ดีรองลงมา คือวันนี้"

          .................

          กลับไปที่ตรรกะของฝ่ายค้าน “ปลูกต้นไม้ ไม่ใช่ปลูกป่า”... ต้องยอมรับว่าการปลูกต้นไม้ในนามการปลูกป่าที่ทำกันเป็นกิจกรรมประจำปีนั้น ส่วนใหญ่มักเลือกพันธุ์ไม้โดยไม่ได้พิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ ปลูกพืชชนิดเดียวเป็นแถวเป็นแนวเพื่อความสวยงาม ผลที่ได้ถ้าไม่ตาย ก็ขาดความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความเป็นป่าอย่างหนึ่ง

          ณรงค์ ชี้เงื่อนไขที่ทำให้การปลูกป่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไม่อาจฟื้นฟูสภาพแวดล้อมได้อย่างแท้จริงว่า "ต้องดูว่าพื้นที่เหล่านั้นมีการดูแลต่อเนื่องหรือเปล่า เราจัดการเป็นลุ่มน้ำหรือเปล่า หรือทำเป็นแปลงๆ การมีส่วนร่วมของชาวบ้านเป็นอย่างไร เขามีสิทธิ ถึงแม้จะไม่ใช่กรรมสิทธิ์ แต่ก็ต้องมีสิทธิในการดำเนินการเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าไม่ต้องขยับขยายไปที่อื่นหรือเปล่า พื้นที่ที่ปลูกเป็นป่าไม้ของรัฐ ป่าไม้ของเอกชน ชาวบ้านเป็นแค่ลูกจ้างในการปลูกอย่างนั้นใช่มั้ย 

          พันธุ์ไม้นั้นเหมาะสมหรือเปล่า เราไม่ได้บอกว่าการปลูกต้นสนที่ผ่านมาไม่ดี แต่ว่าต้นสนก็เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ต้นสนเป็นไม้เมืองไทยหรือเปล่า ดูแล้วก็พอจะมีบ้าง แต่ถ้าเราปลูกอะไรที่มันหลากหลาย สัตว์ต่างๆ นก กระรอก กระแต สามารถที่จะกินได้ มันก็จะพาเมล็ดนั้นเติบโต ความหนาแน่นความหลากหลายทางชีวภาพของป่าของต้นไม้มันก็จะมากมายขึ้น...หรือเปล่า หรือก้มหน้าก้มตาปลูกแต่สนอย่างเดียว หรือต้นอะไรอย่างเดียว ซึ่งปัจจุบันเราคิดว่าการปลูกผสมผสานหลากหลายน่าจะถูก ปลูกคละกันไป ดูแลระวังให้เขาเติบโต ลูกไม้เดิมไม่ต้องตัด ต้นไม้เดิมที่มีเหลือไม่ต้องตัด ให้เขาอยู่อย่างสง่างาม ไม่ควรขุดหลุมเรียงแถวปักสเปคเรียงแนว เพราะมันจะเกิดแลนด์สไลด์ ดินถล่ม ไม่เป็นธรรมชาติ แบบนั้นเขาเรียกปลูกป่าไร้เพื่อน" ณรงค์ แนะแนวทางในการปลูกป่า และว่า

          "ที่ผ่านมาบางครั้งมันเป็นการปลูกป่าแยกส่วน เอาคนออกจากป่า เอามาตรการอื่นมาใช้ที่ไม่ใช่มาตรการชุมชน ไม่คำนึงถึงบริบทของสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมจ๋า เศรษฐกิจจ๋า สังคมจ๋า สังคมกฎระเบียบชุมชนมีประโยชน์ เศรษฐกิจก็มีประโยชน์ในการดำรงชีวิต ธรรมชาติก็ต้องอยู่ได้ เพราะฉะนั้นสามสิ่งนี้ทำอย่างไรให้มันสมดุลกันในแต่ละพื้นที่ สิ่งเหล่านั้นแหละเราต้องคุยกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนเอง"

          การฟื้นฟูป่าเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ว่ากันตามจริงจึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่หยิบกล้าไม้วางลงในหลุมดินแล้วรอให้มันเติบโตเปลี่ยนความแห้งแล้งเป็นชุ่มชื้น แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าความตั้งใจจริง เพียงแต่อาศัยทั้งความรู้และความเข้าใจ

          "แน่นอนการฟื้นฟูป่าให้สำเร็จ ต้องคำนึงถึงปัจจัยองค์ความรู้ด้านอื่นๆ อีกมากมายโดยเฉพาะด้านสังคมเศรษฐกิจ (ซึ่งผมไม่มีความรู้ใดๆ เลย) หากขาดมิติด้านนี้ไป ที่พูดมาทั้งหมดก็สูญเปล่า ในบริบทที่เป็นจริงของประเทศไทย งานนี้จึงต้องเป็นงานที่เกิดจากความร่วมมืออย่างจริงจังจากทุกๆ ฝ่ายในสังคม 

          และงานที่เร่งด่วนสุดๆ ยิ่งกว่าการฟื้นฟูเขาหัวโล้นคือการรักษาป่าไม้ที่มีอยู่ให้ได้ มิให้ถูกทำลายเพิ่ม แม้เพียงกระเบียดนิ้ว ที่สำคัญต้องไม่ใช่การรักษาพื้นที่สีเขียว หรือวิวสวยๆ เพียงเท่านั้น แต่ต้องรักษาความหลากทางชีวภาพของสังคมป่าไว้ให้ได้ ป่าไม้ไทยจึงจะอยู่รอดอย่างยั่งยืน" นพ.รังสฤษฎ์ ให้ความเห็น

          ............................

          ความยากจน การขาดแคลนที่ทำกิน การรุกคืบของทุนด้านการเกษตร นโยบายที่ผิดพลาดของภาครัฐ ความโลภและความมักง่ายของผู้คน ฯลฯ ทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างน่าใจหาย และเป็นเงื่อนไขเดียวกันกับความเป็นได้ที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้กลับคืนมา

          "ป่าหัวโล้นเนี่ยถ้าเป็นพื้นที่ทำกิน แล้วเราต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ต้องช่วยให้ชาวบ้านเขามีรายได้ระยะยาวเป็นกอบเป็นกำ สามารถทดแทนพืชเชิงเดี่ยว ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ยางพารา หรืออื่นๆ ได้" ณรงค์ กล่าวบนพื้นฐานที่ว่าคนกับป่าต้องอยู่ร่วมกัน

          ในมุมมองของจำเลยหน้าเดิม คนน่านผู้ถูกกล่าวหาว่าทำลายป่า เมธวัฒน์ยกตัวอย่างประสบการณ์การฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำบ้านดงพญา จนปัจจุบันสามารถประกาศเป็นเขตปลอดข้าวโพดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่า ต้องเริ่มจากการสร้างความตระหนักในความสำคัญของดินน้ำป่าและเสริมพลังการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในฐานะเจ้าของทรัพยากรอันมีค่า

          "พื้นที่ดงพญาเราไม่ได้ปลูกป่า แต่ช่วยกันรักษาป่าเดิมที่มันมีอยู่แล้ว ประมาณสองสามปี ห้าปี ต้นไม้ก็เริ่มโต สิบปีนี่โตหมดแล้ว ผมยังคิดในใจว่าถ้าเราสามารถเอาเงินจากการปลูกของหน่วยงานต่างๆ มาเปลี่ยนเป็นการให้ชาวบ้านดูแลป่าที่มันเสื่อมสภาพให้กลับคืนมาจะดีไหม โดยเราไม่ต้องไปเสียงบประมาณในการปลูกเลยแม้แต่บาทเดียว แต่ใช้งบตรงนั้นมาจ้างคนดูแลผืนป่า อาจจะทำเป็นเหล่าเป็นดอยไปว่า เหล่านี้ดอยนี้ครอบครัวไหนจะดูแล ให้เขาบริหารจัดการดูแลของเขา แล้วเขาได้ประโยชน์จากป่าตรงนั้น โดยที่เขาไม่ต้องไปตัดต้นไม้ อาจจะเป็นลักษณะว่าปลูกกาแฟ ปลูกไม้ผลบางประเภทแซมลงไป ผมว่าตรงนี้น่าจะได้ผล"

          ตามโมเดลนี้แทนที่จะระดมทุนซื้อกล้าไม้ที่่ไม่รู้ว่าปลูกไปจะขึ้นหรือเปล่า หรือขึ้นมาแล้วจะยั่งยืนหรือไม่ ทางที่ง่ายกว่าก็คือสนับสนุนงบประมาณให้ชุมชนช่วยกันดูแลสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง เพียงไม่กี่ปีหน่ออ่อนก็จะแทงยอดออกมาจากผืนดิน พร้อมๆ กับความเข้มแข็งของชุมชนในฐานะผู้ปกป้องฐานทรัพยากร ...เพียงแต่ทางเลือกนี้ต้องมีความเชื่อใจเป็นทุน 

          "ชาวบ้านบางพื้นที่เขาก็มีจิตสำนึกอยู่ จิตสำนึกของความเป็นคนไทยในการรักษาป่า รักษาธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสมบัติของชาติ หัวใจบริสุทธิ์ของชาวบ้านมีเต็มร้อย ปล่อยให้ชาวบ้านคิดเองทำเอง แล้วภาครัฐหรือคนภายนอกช่วยหนุนเสริมจะดีกว่า" หนึ่งเสียงของคนน่านที่อยากให้ทุกคนได้ยิน 

          "ผมอยากเปรียบเทียบให้เห็นว่า ป่าในจังหวัดน่านหลายพื้นที่่อย่างดงพญามันอยู่ได้เพราะอะไรครับ เพราะชาวบ้านทั้งหมดร่วมใจกันรักษาป่าต้นน้ำ ป่าชุมชน ป่าลำห้วยต่างๆ ไว้ อันนี้ก็เกิดขึ้นจากชาวบ้านไม่ได้เกิดขึ้นจากความคิดหรือการกระทำของหน่วยงานรัฐ ผมว่าขอให้เชื่อใจชาวบ้านเถอะครับ อย่ามองชาวบ้านเป็นจำเลยของสังคมในการทำลายป่าเลย ที่เขาต้องทำไร่ทำสวนเพราะเขาไม่มีอะไรกินจริงๆ ถ้าท้องเขาอิ่มไม่มีใครอยากทำหรอกครับ"

          เช่นนี้แล้ว บางทีหนทางสู่การอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนอาจจะไม่ได้หมายถึง การหอบกล้าไม้ไปปลูกป่าในดินแดนห่างไกล แต่เริ่มจากความเข้าใจในมิติที่เชื่อมโยงกัน รวมถึงปรับโฟกัสให้ชัดขึ้นว่า ไม่ว่าจะเป็นคนที่ลงมือตัดต้นไม้ หรือคนที่บริโภคเนื้อของสัตว์ที่เติบโตจากข้าวโพดที่ปลูกในป่าต้นน้ำ ต่างก็ต้องร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วเท่าๆ กัน

          "เราต้องย้อนมองกลับมาว่าคนเมืองเราใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างฟุ่มเฟือยไปหรือเปล่า เรากำลังโทษคนอื่นหรือเปล่า เราบอกว่าเรารักสิ่งแวดล้อม เราลงมือทำอะไรบ้าง ตอนนี้ใครๆ ก็สนใจเขาหัวโล้นที่น่าน คนต้นน้ำเขาก็อยากจะทราบว่า ถ้าเขารักษาป่า คนเมืองจะใช้น้ำและจะดูแลป่าดูแลน้ำร่วมกันอย่างไรครับ" ณรงค์ เสนอให้ตั้งคำถามกับตัวเองก่อน ส่วนจะ"ปลูก"หรือ“ปล่อย”ให้ป่าฟื้นฟูตัวเอง ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำ เลือกวิธีที่เหมาะสม เลือกแนวทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งกับคนและป่า

แต่ถ้าจะให้ดีนาทีนี้สิ่งที่ทำได้แบบไม่ต้องรอ ก็คือการดูแลพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่แล้ว อย่าตัด อย่าทำลาย อย่ามักง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่มีเหตุจำเป็นใดๆ ที่เราต้องสูญเสียเพิ่มเติมอีก ทั้่งจากขบวนการมอดไม้ และโครงการพัฒนาต่างๆ ที่รอกินป่าแบบถูกต้องตามกฎหมาย

          ไม่เช่นนั้น...อาจกลายเป็นว่า เราปลูกต้นไม้ในที่สว่าง แต่ถูกถางป่าในความมืด