ชี้เศรษฐกิจภูมิภาคครึ่งปีแรก ฟื้นตัวเปราะบาง

ชี้เศรษฐกิจภูมิภาคครึ่งปีแรก ฟื้นตัวเปราะบาง

ม.หอการค้าไทย เผย ผลสำรวจเศรษฐกิจภูมิภาคครึ่งปีแรกพบว่า การฟื้นตัวยังเปราะบางจากวิกฤตภัยแล้ง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนสูง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจเศรษฐกิจภูมิภาคครึ่งแรกปี 2559 และประมาณการภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคปี 2559 พบว่าทั้งประเทศยังไม่ได้รับรู้การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจไทย โดยการฟื้นตัวยังเปราะบางได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่ดึงเม็ดเงินออกจากระบบมากกว่า 120,000 ล้านบาท การส่งออกชะลอตัวดึงเม็ดเงินไปมากกว่า 200,000 ล้านบาท กำลังซื้อในประเทศซบเซา ขณะเดียวกันมีหนี้ครัวเรือนสูง ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าเศรษฐกิจยังไม่ค่อยฟื้นตัว โดยคาดว่าจะฟื้นตัวครึ่งปีแรกของปี 2560

ทั้งนี้ ภาคตะวันออกฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุด มาจากการขนส่ง การท่องเที่ยว ค้าส่งค้าปลีก ตามลำดับ ขณะที่กำลังซื้อภาคใต้ฟื้นตัวดีขึ้นสูงสุดจากราคายางสูงขึ้น การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐ ปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจภูมิภาคปี 2559 ยังเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น การส่งออกเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ราคายางพารามีแนวโน้มสูงขึ้น และการเมืองในประเทศมีเสถียรภาพ ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ หนี้ครัวเรือนระดับสูง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังชัดเจน ถ้ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลังอย่างชัดเจนจะทำให้นักลงทุนเริ่มกลับมาลงทุนครึ่งปีหลังประมาณร้อยละ 20.4 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวร้อยละ 3 การส่งออกคาดว่าขยายตัวร้อยละ 0.8 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวร้อยละ 0.4

ส่วนดัชนีความสามารถแข่งขันของเอสเอ็มอีไตรมาส 1/2559 พบว่ายอดขายและรายได้ของเอสเอ็มอีมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง แต่ยังอยู่ระดับคาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการร้อยละ 46.3 มองว่ายอดขายและรายได้ยังไม่ถึงจุดต่ำสุด และร้อยละ 34.4 บอกว่ายอดขายและรายได้ยังไม่ฟื้นตัว เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ยอดขายลดลงร้อยละ 31.7 โดยจะปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วยการปรับแผนการตลาดหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้น ปรับโครงสร้าง ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาสินค้าและบริการด้วยการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่มากขึ้น สิ่งที่กังวล คือ disrupt จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ พฤติกรรมผู้บริ โภคที่เปลี่ยนแปลง ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และสถานการณ์การแข่งขันรุนแรงตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการร้อยละ 26.8 มั่นใจว่ายอดขายและรายได้จะเริ่มฟื้นตัวครึ่งปีหลังปี 2559 โดยปัจจัยบวก คือ มาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ที่มีผลต่อการบริโภคและการลงทุน การค้าชายแดน การท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน และราคายางพาราที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อเกษตรกรชาวสวนยางเพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยลบ ยังเป็นเรื่องของภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำส่งผลต่อกำลังซื้อเกษตรกรลดลง หนี้ครัวเรือนระดับสูง การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจีดีพีเอสเอ็มอีปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3.9