รมว.ยธ.ชี้2ปีกฎหมายออกมามาก แต่ใช้ไม่ได้จริง

รมว.ยธ.ชี้2ปีกฎหมายออกมามาก แต่ใช้ไม่ได้จริง

"พล.อ.ไพบูลย์" ย้ำ2ปีรัฐบาลคสช. ออกกฎหมายมากแต่ใช้ไม่ได้จริง เหตุกฎหมายลูก-กฎกระทรวงไม่ออก ชี้รมต.บางคนไม่รู้แนวทางทำงานตามกม.ใหม่

ระบุเคยคิดปฏิรูปกฎหมายซ้ำซ้อน แต่คิดปมผลประโยชน์-หลายหน่วยไม่ยอมลดลาวาศอก ชูงานปราบโกงทำได้ดี แต่ผลล่าช้าเหตุติดขัดในหน่วยงานที่มีหน้าที่ ครวญมีแต่คนด่ารัฐบาล

ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำนักกิจการยุติธรรม (สกธ.) กระทรวงยุติธรรม จัดประชุมวิชาการระดับชาติ ว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 14 ในหัวข้อ "การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง แนวทางปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามนโยบายรัฐบาล ตอนหนึ่งว่า 2 ปีที่ดำรงตำแหน่งตนพยายามเรียนรู้งานด้านกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่ก่อนหน้านั้นตนเป็นเพียงอาแป๊ะเท่านั้น แต่การเข้าดำรงตำแหน่งได้ อาจเป็นเพราะเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตลอดเวลาที่เข้าทำหน้าที่พยายามแก้ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม อาทิ กฎหมายเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม , กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ และเดินหน้าการปฏิรูป โดยรัฐบาลชุดปัจจุบันพยายามควบคุมงานเกี่ยวกับกฎหมายให้มากที่สุด ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เคยระบุว่ามีกฎหมายมากถึง 465 ฉบับซึ่งถือมากกว่ารัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่าน ๆ มา ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนด้านกฎหมายที่ผ่านมาพบว่ามีกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว 151 ฉบับ แต่เกิดปัญหาคือ มีเกินครึ่งที่พบว่าไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง เพราะกฎหมายลูก หรือประกาศกระทรวง ไม่สามารถออกมาบังคับใช้ได้ ซึ่งตนมองว่าเป็นปัญหาของประเทศไทย ทั้งนี้ในข้อเท็จจริงมีรัฐมนตรีบางคนยังไม่ทราบว่าเมื่อมีกฎหมายแล้ว หรือกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วยังไม่ทราบว่าต้องปฏิบัติงานอย่างไรบ้าง และรัฐมนตรีบางคนยังไม่ทราบว่ากฎหมายลูกของกระทรวงตนเองไม่ออก

“ผมไม่ใช่นักกฎหมาย แต่พยายามเรียนรู้ และพยายามบอกที่กระทรวงยุติธรรมว่าต้องบูรณาการกฎหมายให้ได้ โดยเครื่องมือที่จะทำได้สำเร็จ คือ ฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตามการจัดประชุมวิชาการของกระทรวงยุติธรรม ทั้ง 13 ครั้งที่ผ่านมา สามารถนำข้อมูลไปใช้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เม้าท์กัน แต่ข้อเท็จจริงไม่มีใครนำรายละเอียดไปสานต่อหรือขับเคลื่อนต่อ จึงถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เมื่อพูดถึงการพัฒนากฎหมายในประเทศไทย ที่ผ่านมามีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย มีสำนักพัฒนากฎหมายในคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักกิจการยุติธรรม แต่ทุกหน่วยงานไม่มีการคุยกัน แต่เมื่อผมเรียกประชุมและให้หน่วยงานได้หารือกัน ที่ผ่านมาพบว่ามีกฎหมายขยะ กว่า 1,000 ฉบับ มีกฎหมายล้าสมัย กฎหมายที่มีเนื้อหาซ้อน ๆ กันอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ที่มีอยู่ถึง 7 ฉบับกระจายอยู่ในกระทรวงต่างๆ แต่2 ปีที่ผ่านมา ได้แค่คิด แต่ยังทำไม่ได้ เพราะหน่วยงานไม่ยอดลดลาวาศอก มีเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวข้อง​จึงทำให้การขับเคลื่อนดังกล่าวยังไม่สำเร็จ” พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวด้วยว่ามีสิ่งที่ตนกังวลที่สุด คือ การขาดการบูรณาการด้านกฎหมาย ซึ่งตนคาดหวังว่ากระทรวงยุติธรรมจะเป็นผู้แทนฝ่ายบริหารที่จะบูรณาการกระบวนการ และมีหน่วยงานที่เกี่ยวกับระบบงานยุติธรรม อาทิ อัยการ ตำรวจ องค์กรอิสระ จะเป็นหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาและบูรณาการด้านกฎหมายรวมถึงกระบวนการยุติธรรม โดยไม่ปล่อยให้ประเทศเสียประโยชน์ อย่างไรก็ตามช่วงแรกที่ตนเข้ามาทำหน้าที่ตนทำงานด้านปราบทุจริต แต่เมื่อทำงานแล้วพบว่ามีส่วนที่เกี่ยวข้องงานยุติธรรม โดยขั้นตอนในการตรวจสอบทุจริตที่ผ่านมา พบว่ามีข้อติดขัดอยู่ในกระบวนการตรวจสอบของฝ่ายต่างๆ ทำให้ผลตรวจสอบล่าช้า แต่ไม่มีใครด่าหน่วยงาน ด่าแต่รัฐบาลเท่านั้น​