'อัยการคดีอาญา' มั่นใจ สั่งคดี 'สรยุทธ' ทันอายุความ

'อัยการคดีอาญา' มั่นใจ สั่งคดี 'สรยุทธ' ทันอายุความ

"อัยการคดีอาญา” มั่นใจ สั่งคดี “สรยุทธ-ไร่ส้ม" ฐานร่วมกันฉ้อโกง-ร่วมกันปลอมเอกสาร ทันหมายอายุความ ก.ค.นี้

นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา, นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุมและนายวิเชียร ถนอมพิชัย รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา หัวหน้าคณะทำงานคดีบริษัทไร่ส้มจำกัด ฉ้อโกง อสมท. ร่วมกันแถลงข่าวถึงความคืบหน้าสั่งคดี ภายหลังรับมอบสำนวนหลักฐาน จากพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวางเมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่สรุปความเห็น สมควรสั่งฟ้อง นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรรายการเล่าข่าวชื่อดัง และกก.ผจก.บจก.ไร่ส้ม , บจก.ไร่ส้ม จำกัด, น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม และนางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือนางชนาภา บุญโต อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของบริษัท อสมท.จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหา ฐานร่วมกันฉ้อโกง และร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอมทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และทำลายเอกสารของผู้อื่น จากเหตุที่ไม่ชำระค่าโฆษณาส่วนเกินกว่า 138 ล้านบาท

โดยนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า หลังจากรับสำนวน ก็ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวน ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย โดยจะพิจารณาสำนวนให้แล้วเสร็จก่อนที่คดีจะหมดอายุความในเดือน ก.ค. การสั่งคดีจะพิจารณาตามพยานหลักฐานที่ปรากฏอย่างชัดเจน ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ขณะที่นายปรเมศวร์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา กล่าวว่า ผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมขึ้นมาแล้วมีประเด็นใกล้เคียงกันเรื่องข้อกฎหมายว่าคดีมีการฟ้องซ้ำคดีที่ อสมท.ยื่นฟ้องเอง และคดีที่ ป.ป.ช.สรุปสำนวนทุจริตให้อัยการฟ้องไปแล้ว ซึ่งการพิจารณาจะไม่ยาก ต้องดูว่าเป็นการกระทำผิดกรรมเดียว ที่ผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือไม่

โดยจะให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายมากที่สุด ซึ่งจะนำคำพิพากษาที่ศาลอาญาตัดสินคดีทุจริตมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยคดีนี้ มีการแจ้งความ ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งคดีมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 ปี อายุความจะอยู่ที่ 10 ปี ดังนั้นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา มีความเป็นห่วง เกรงว่าคดีจะหมดอายุความในดือน ก.ค.นี้เสียก่อน จึงกำชับคณะทำงานพิจารณาโดยเร็ว ดังนั้นจะพยายามพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ซึ่งอัยการนัดผู้ต้องหาทั้งหมด ฟังคำสั่งในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ แต่หากพิจารณาสำนวนไม่เสร็จก็จะต้องเลื่อนการสั่งคดีออกไป แต่จะไม่ให้เกินเดือน ก.ค.อย่างแน่นอน เพื่อไม่ให้คดีล่าช้า

นายปรเมศวร์ กล่าวอีกว่า ประเด็นการพิจารณาเรื่องฟ้องซ้ำหรือไม่นั้น ต้องดูเอกสารและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวพันกัน ซึ่งหลังจากที่มีการแจ้งความ ป.ป.ช. พิจารณาในส่วนคดีการทุจริต สำหรับความผิดอาญาฐาน ฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสารไม่ได้อยู่ในอำนาจ พนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง จึงทำสำนวนดำเนินคดีส่งมาให้พนักงานอัยการ สำหรับพฤติการณ์ข้อกล่าวหา การปลอมเอกสารนั้น เท่าที่ตรวจสำนวนในเบื้องต้นพบว่า มีการใช้น้ำยาลบคำผิด ลบข้อความในเอกสารกว่า 100 ฉบับ ดังนั้นนอกจากจะพิจารณาเรื่องประเด็นการฟ้องซ้ำแล้ว ยังต้องพิจารณาด้วยว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดต่อเอกสารภายในวันเดียวหรือไม่ สุดท้ายแล้ว ถ้าสำนวนคดีฉ้อโกงเป็นเรื่องเดียวกับที่ อสมท.ยื่นฟ้องคดีเองต่อศาลแขวงแล้ว อัยการต้องให้ความเป็นธรรมสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ส่วนความผิดการปลอมเอกสารนั้นหากยังไม่ปรากฏเป็นความผิดที่เคยฟ้องมาก่อน อัยการก็สามารถสั่งคดีที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้องต่อไปได้ เพราะลักษณะความผิดเป็นคนละเรื่องกับการกล่าวหาในชั้น ป.ป.ช.