กพช.เตรียมจัดการสัมปทานปิโตรเลียม 30 พ.ค.นี้

กพช.เตรียมจัดการสัมปทานปิโตรเลียม 30 พ.ค.นี้

"รมว.พลังงาน" เสนอ "กพช." พิจารณาแนวทางจัดการแบ่งสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ 30 พ.ค.นี้ ส่วนการสำรวจปิโตรฯรอบ 21 คาดเปิดตามเป้าหมายปลายปีนี้

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 30 พฤษภาคมนี้ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาแนวทางบริหารจัดการแบ่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุปี 2565 และ 2566 ของเชฟรอนและบงกช โดยแนวทางมี 2 รูปแบบ คือ เจรจากับรายเดิม คือ เชฟรอน และ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) หากเจรจาไมสำเร็จจะใช้แนวทางการเปิดประมูลทั่วไป หรือบิดดิ้ง ซึ่งเบื้องต้นของการเจรจาผลประโยชน์ตอบแทนจะต้องมากกว่าสัญญาสัมปทานไทยแลนด์ 3 คือ ผลตอบแทจต้องได้มากกว่าร้อยละ 70 เช่น อาจจะเป็นร้อยละ 70-80 แต่หากเจรจาไม่ประสบความสำเร็จจะเปิดประมูลทั่วไป

ส่วนการเปิดให้เอกชนเข้ามาสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 นั้น ขณะนี้รอการพิจารณาแก้ไขกฎหมายสัมปทานปิโตรเลียม เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านได้ความเห็นชอบเร็ว ๆ นี้ และจะสามารถเปิดให้เอกชนเข้ามาสำรวจตามเป้าหมายเดิม คือ ภายในปลายปี 2559

“การบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติจะต้องดูแลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้ก๊าซมีสัดส่วนในการผลิตมากกว่าร้อยละ 65 ขณะเดียวกันก๊าซในประเทศลดลงต้องเร่งทำแผนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) พร้อมกับแผนกระจายเชื้อเพลิงไปยังถ่านหินและพลังงาทดแทน ซึ่งตามแผนจะมีพลังงานทดแทนร้อยละ 30 แต่อาจมีเพิ่มขึ้นหากเทคโนโลยีจัดการพลังงาน (Energy Storag) ประสบผลสำเร็จ” รมว.พลังงาน กล่าว

รมว.พลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ตั้งงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน 500 ล้านบาท ในการสนับสนุนวิจัย Energy Storagเพราะหากทำสำเร็จจะสามารถทำให้จัดกเก็บพลังงานทดแทนเอาไว้ใช้ได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาต้นทุนเรื่องนี้ลดลงร้อยละ 30 และเป็นที่คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าต้นทุนจะลดลงอีกร้อยละ 20 จากปัจจุบันมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 30 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยหากเทคโนโลยีนี้ประสบผลสำเร็จอาจจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนในแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า 20 ปี (พีดีพี) จากสัดส่วนร้อยละ 30 หรือประมาณ 19,000 เมกะวัตต์ให้สูงขึ้น และลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ ที่มีต้นทุนสูงและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะเป็นเชื้อพลิงประเภทใดคงต้องดูแผนให้เหมาะสมที่สุด

ในส่วนของบริษัทเชฟรอนที่มีการประกาศลดคนงานในประเทศไทย ก็เป็นนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องการลดต้นทุนจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง โดยในส่วนของบบริษัทต่างชาติทางกระทรวงคงจะไปช่วยดำเนินการไม่ได้ หากเป็นบริษัทคนไทยได้พยายามขอร้องให้รักษาแรงงานให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยจากราคาน้ำมันลดลงเห็นได้ว่าบริษัทพลังงานทั่วโลกมีการปรับลดพอร์ตลงทุนที่เหมาะสม และเชฟรอนจากกระแสข่าวก็มีสัดส่วนขายกิจการในเมียนมาร์ เป็นต้น