‘สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล’ซีอีโอฟู้ดรีเทลหัวใจหนุ่ม

‘สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล’ซีอีโอฟู้ดรีเทลหัวใจหนุ่ม

กว่า 44 ปี‘สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล’ซีอีโอฟู้ดแลนด์ อาณาจักรรอาหาร 24ชม.สูงวัยไม่หยุดโตพาฟู้ดแลนด์เกาะมิตรใหม่’เทอร์มินอล'แปลงร่่าง'ฟู้ดพลาซ่า'

หากได้นั่งสนทนากับ “สมศักดิ์ ตีระพัฒนกุล” ประธานบริหารบริษัทฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต จำกัด ในวันแถลงความร่วมมือกับศูนย์การค้าเทอร์มินอลรุกขยายสาขาฟู้ดแลนด์ ในหัวเมืองท่องเที่ยวตามการขยายศูนย์การค้าเทอร์มินอล 

จะสัมผัสได้ถึงความคึกคักของชายสูงวัย หัวใจหนุ่ม ที่เต็มไปด้วยสารพัดไอเดียสร้างสีสัน ให้กับอาณาจักร์อาหารแห่งนี้

สมศักดิ์ เล่าถึงแผนธุรกิจของฟู้ดแลนด์ ว่ายังมีเรื่องราวให้หัวใจเต้นแรง อีกมาก

“ตอนนี้ผมอายุ 48  ไม่ใช่สิ กลับกัน 84 ปีแล้ว (เรียกเสียหัวเราะ) อย่าหัวเราะ !! ยังอยู่อีกนาน ผมบอกกับคุณประเสริฐ (ประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการผู้จัดการ สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ ผู้พัฒนาศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ และเทอร์มินอล 21) ไปว่า คนเรามาถึงตรงนี้ อะไรก็ไม่กลัวแล้ว กำไรแล้ว”  สมศักดิ์ เล่าอย่างอารมณ์ดี 

ผ่านการขับเคลื่อนโปรเจคใหม่ร่วมกับกลุ่มเทอร์มินัล ผนึกกำลังขยายสาขาหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด

หลังฟู้ดแลนด์ ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 4 ทศวรรษ (44 ปี) ในวันเริ่มต้นที่สมศักดิ์ ไป“ซื้อกิจการ”เพลินจิต ซุปเปอร์มาร์เก็ตในปี 2515 จนเปลี่ยนชื่อมาเป็น “ฟู้ดแลนด์” ซึ่งเป็นชื่อที่ลูกน้องตั้งให้ 

จากนั้นสายธารธุรกิจก็แตกแขนงไม่รู้จบ จนปัจจุบันมี 18 สาขา

สมศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า ห้างฯเก๋าอย่างฟู้ดแลนด์ มาก่อนที่ธุรกิจค้าปลีกในกรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ เกิดก่อนที่ธุรกิจค้าปลีกจะเต็มเมืองในหลากหลายประเภทค้าปลีก ทั้งร้านสะดวกซื้อ ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ฯลฯ 

จนทุกวันนี้ ฟู้ดแลนด์ก็ยังยืนอยู่ได้ พร้อมไปกับการรุกขยายสาขาธุรกิจต่อเนื่อง

สมศักดิ์ บอกว่า เรื่องอาหารเป็นสิ่งที่เขาทำมาตลอดชีวิตเกือบ 60 ปี (ฟู้ดแลนด์ 44  ปี ก่อนหน้านั้นเขายังทำร้านอาหารมาเกือบ 20 ปี) 

“เรื่องอาหารเป็นเรื่องที่ผมถนัดที่สุด จึงถ่ายทอดความถนัดนี้ลงไปฟู้ดแลนด์ ให้เป็นแหล่งครบเครื่องเรื่องอาหาร 24 ชั่วโมงตอบโจทย์คนกรุงฯ” เขาเล่า และว่า

เคล็ดลับที่ทำให้ธุรกิจผ่านมาได้ทุกยุคของวิกฤติ เป็นเพราะความเป็นตัวของตัวเอง มีจุดขาย และขยายแบรนด์ภายใต้ร่มธุรกิจ เช่น มุมอาหาร ร้าน “ถูกและดี” หรือแม้กระทั่งการเป็นผู้ผลิตไส้กรอกแบรนด์ “บุชเชอร์” และ “โอเว่นเฟรชเบเกอรี่” ทำให้สาขาต่างๆของฟู้ดแลนด์ยังมีความน่าสนใจ 

ที่สำคัญคือ “สถานที่” ตั้งสาขาต้องเล็งทำเลให้เหมาะสม แม้ที่ผ่านมาการตั้งสาขาลุยเดี่ยวนอกห้างสรรพสินค้า จะมีต้นทุนสูง แต่สำหรับเขาแล้วเห็นว่า เป็นการลงทุนก่อสร้างแบบ “ครั้งเดียวจบ”  ที่เหลือคือการบริหารจัดการธุรกิจให้อยู่รอดตอบโจทย์คนผู้บริโภค โดยฟู้ดแลนด์ต้องลงทุนห้องเย็นถึงสาขาละ 12 ตู้ เพื่อแยกเก็บผักกว่ากว่าพันชนิด และเนื้อสัตว์ตามประเภทและศาสนา 

เรื่องอาหาร สำหรับเขายังไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

  เช่น การล้างผัก จะออกแบบพื้นที่ล้างผักในพื้นที่ลาด (สโลฟ) ให้น้ำไหลผ่านผักตลอด 6-7 ชั่วโมง เพื่อล้างสารเคมีที่ติดมากับผักบางชนิด แล้วผึ่งพัดลมให้แห้ง ต่อด้วยการตกแต่ง เด็ดใบเสียทิ้งก่อนนำมาจำหน่าย หรือประกอบอาหารในร้านอาหาร

“ของแพงเพราะกระบวนการเหล่านี้ ไปดูผักกว่าพันชนิดผ่านเครื่องล้าง ให้น้ำไหลล้างทิ้งหลายชั่วโมง ฟู้ดแลนด์ต้องมีดีเอ็นเอของเรา น้อยคนที่จะมีห้องเย็นมาตรฐานถึง 12 ห้องเพื่อให้ความสำคัญกับการเก็บรักษาวัตถุดิบ”

ส่วนพื้นที่ห้างฯขนาด 900-1,500 เมตร ยังถูกคำนวณมาแล้วว่าพอเหมาะสำหรับการเดินเลือกซื้อสินค้าได้สะดวก 

เดิน 1 รอบภายในเวลาครึ่งชั่วโมงได้ของครบ โดยแบ่งเป็นสินค้าเป็นหมวดหมู่ สินค้าไม่ซ้ำกัน

“จริงๆ ซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่เกินไปกลับทำให้ลูกค้าเดินไม่ทั่ว หากใหญ่ก็จะมีสินค้าซ้ำๆ ที่ห้างใหญ่มักจะเห็นเบเกอรี่หลายเจ้า แต่ของผมเป็นล็อคๆ เดินรอบเดียวภายใน 30 นาที”

ความล้ำหน้าของฟู้ดแลนด์ในสมัยนั้น คือการเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกในเอเชีย ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

“ในปัจจุบันคนทำงาน 24 ชั่วโมงมากขึ้น ผมว่าสัดส่วนอย่างน้อย 10-15% ที่ต้องมีไลฟ์สไตล์เป็นคนกลางคืน จึงต้องการร้านอาหารที่เปิดบริการตลอด เช่น คนทำในสนามบิน ข้าราชการบางฝ่าย พนักงานคอลล์เซ็นเตอร์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย”

------------------------

เทอร์มินอล - ฟู้ดแลนด์

  “คู่จิ้น” รีเทล

ด้วยแบรนด์ “ฟู้ดแลนด์” ที่แข็งแรง เตะตานักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อย่าง “สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเมนท์” หนึ่งในผู้พัฒนาศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 บริเวณแยกอโศกมนตรี ร่วมกับทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ แอล เอช ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ ภายใต้เครือแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ของเสี่ยตึ๋ง “อนันต์ อัศวโภคิน”    

เมื่อเทอร์มินอลฯ มีแผนจะขยายไปต่างจังหวัด 3 แห่ง คือ นครราชสีมา พัทยา และขอนแก่น รวมถึงจังหวัดอื่นในเมืองท่องเที่ยว จึงเอ่ยปากชักชวนมือโปรเรื่องอาหารอย่าง “ฟู้ดแลนด์” มาเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน

“เขาถนัดเรื่องบ้าน ที่อยู่อาศัย เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพบ์ แต่เขายกให้เราเป็นมืออาชีพเรื่องอาหาร เพราะเราทำมากว่า 50-60 ปี "  สมศักดิ์ เล่า

เป็นพันธมิตรกับศูนย์การค้ายักษ์ใหญ่ ทำให้ ฟู้ดแลนด์ ได้ขยายกลุ่มลูกค้าไปยังคนชั้นกลางในต่างจังหวัดหัวเมืองใหญ่มากขึ้น โดยเทอร์มินอลจะใช้จุดแข็งด้านอาหารของฟู้ดแลนด์เพื่อเรียกลูกค้าเข้าศูนย์ฯ ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นกับร้านติ่มซำ “ทิม โห หวั่น” (Tim Ho Wan) ในเทอร์มินอล 21 อโศก ซึ่งฟู้ดแลนด์เป็นเจ้าของแฟรนไชส์จากฮ่องกง ที่คนต่อคิวยาว มียอดขายสูงสุด 7 แสนบาทต่อวัน 

และนับเป็นครั้งแรกที่ฟู้ดแลนด์ได้ไปชิมลางเปิดสาขาที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเดิมที่สาขาโคราช(นครราชสีมา) เนื้อที่ 5,000 ตร.ม.ด้วยโมเดลใหม่ ฟู้ดแลนด์จะเป็นผู้บริหารพื้นที่เอง ประเดิมเงินลงทุน 200 ล้านบาท ในชื่อ ฟู้ดแลนด์พลาซ่า 

“ผมรู้จักกับคุณประเสริฐมานานมาก เห็นแล้วชอบ ผมก็คัน อยากลองทำดู ต่อไปการขยายสาขาท่านไปไหนผมก็ไปด้วย” 

เขายังเล่าถึงที่มาของคำชวนไปเปิดสาขาของเทอร์มินอลว่า เป็นการชนกับห้างยักษ์รุ่นเฮฟวี่เวต อย่าง เดอะมอลล์ และเซ็นทรัล แต่ทำเลของเทอร์มินอลอยู่ในกลางเมือง ชอบคอนเซ็ปต์เทอร์มินอล เน้นคนชั้นกลาง และโคราช เป็นประตูสู่อีสานจึงเป็นทางผ่านของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจุบันธุรกิจฟู้ดแลนด์มี 18 สาขา หากเติบโตไปกับศูนย์การค้าต่างๆ ก็จะมีสาขาเพิ่มไม่ต่ำกว่า 30 สาขาภายใน 3-5 ปี รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 7-8 พันล้านบาท เติบโตไม่ต่ำกว่าปีละ 5%

สมศักดิ์ ยังพูดอย่างอารมณ์ดีว่า “อยากมีสาขาเยอะๆ 10,000 สาขา อย่างเซเว่น อีเลฟเว่น แต่เราไปแข่งกับเขาไม่ได้ เพราะมันคนละอย่าง เราเป็นฟู้ดแลนด์ แค่นี้ ก็ทำงานมากแล้ว หากวันหนึ่งมี 25 ชั่วโมง ผมจะทำอะไรได้มากกว่านี้"  เขาทิ้งท้าย ก่อนหยิบซองนามบัตร

“รับสาย 24 ชั่วโมงเหมือนกับฟู้ดแลนด์นะ”