เล็งฟื้น 'นักจิตวิทยา' ในโรงเรียน ช่วยดูแลเด็กมีปัญหา

เล็งฟื้น 'นักจิตวิทยา' ในโรงเรียน ช่วยดูแลเด็กมีปัญหา

แพทย์กรมสุขภาพจิต เผยเล็งฟื้น "นักจิตวิทยา" ในโรงเรียน ช่วยดูแลเด็กมีปัญหา เผยนำร่องพบเด็ก2กลุ่ม ด้านอารมณ์ –ความประพฤติ

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)มีแนวโน้มในการรื้อฟื้นโครงการสร้างนักจิตวิทยาในโรงเรียนขึ้นมาใหม่ จากที่เคยร่วมกับกรมสุขภาพจิตทำเป็นโครงการนำร่องเมื่อปี2556-2557ใน20โรงเรียน แล้วพบว่าได้ผลดี เมื่อเด็กมีปัญหาก็มีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลให้ความช่วยเหลือได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เบื้องต้นในส่วนของศธ.ต้องทำเรื่องการเพิ่มอัตรากำลังคนก่อน 

ส่วนงานทางด้านวิชาการกรมสุขภาพจิตมีความพร้อมในการฝึกอบรมนักจิตวิทยาอยู่แล้ว หากทำ2เรื่องนี้ควบคู่กันก็น่าจะเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น ส่วนจะทันปีการศึกษานี้หรือไม่นั้นก็ต้องมาช่วยกัน อย่างไรก็ตามขั้นแรกอาจเริ่มให้มีนักจิตวิทยา1คน ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่มีนักเรียนประมาณ1,000คนขึ้นไป ส่วนโรงเรียนเล็กๆ อาจจะต้องมีนักจิตวิทยากลางที่ดูแลหลายโรงเรียน

นพ.ยงยุทธ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะมีครูแนะแนวที่ทำหน้าที่เสมือนนักจิตวิทยา แต่ปัญหาคือครูแนะแนวต้องทำการสอน และทำเรื่องการแนวแนวด้านอื่นๆ อีกมาก แต่การให้คำปรึกษาแก้ปัญหาของเด็กนักเรียนนั้นจำเป็นต้องมีเวลา ทำงานต่อเนื่อง ในขณะที่การจะแก้ปัญหาเด็กให้ทันกับความต้องการของปัญหา นักจิตวิทยาต้องมีชั่วโมงในการดูแลเด็กอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับการสอนหนังสือ และดูไปถึงผู้ปกครองได้ ถ้าจะต้องส่งพบจิตแพทย์ก็สามารถเชื่อมโยงข้อมูลได้ 

ทั้งหมดนี้คือระบบการทำงานที่นักจิตวิทยาจะเข้ามาดู ทั้งนี้ประเทศไทยไม่เคยมีนักจิตวิทยาในโรงเรียนมาก่อน ที่ผ่านมาจะใช้นักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาให้คำปรึกษามาอบรม และถ้าจากนี้ดำเนินการอย่างจริงจังอาจจะต้องมีการทำระบบไลน์เซนต์ เพราะคนทำงานทางด้านนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหากับผู้ปกครองได้เช่นกัน

“จากการทำโครงการนำร่อง20โรงเรียน เราพบว่าเด็กมีปัญหาอยู่2กลุ่ม คือ1.ปัญหาทางด้านอารมณ์ จิตใจ วิตกกังวล เก็บตัว กลัวการไปโรงเรียน และ2.ก้าวร้าวรุนแรง สมาธิสั้น ปัญหาความประพฤติ ถือเป็น2กลุ่มใหญ่ที่โรงเรียนต้องจัดการให้ได้ ตรงนี้นักจิตวิทยาจะต้องช่วยบำบัด เพราะการบำบัดที่ดีที่สุดคือการบำบัดในโรงเรียน หากมีระบบที่ดีในโรงเรียนก็จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้เร็ว ถ้าเหลือบ่ากว่าแรงก็อาจจะต้องส่งต่อให้จิตแพทย์ตรวจวินิจฉัยและให้ยาร่วมด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีคนที่โรงเรียนดูแลต่อนั่นก็คือตัวนักจิตทยา” นพ.ยงยุทธ์ กล่าว

ภาพ-pr.moph.go.th