ADVANC - ถือ

ADVANC - ถือ

อัตราผลตอบแทนเงินปันผลน่าสนใจลดลงท่ามกลางภาวะอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงมากขึ้น

ประเด็นการลงทุน

เราปรับลดคำแนะนำหุ้น ADVANC จาก “ซื้อ” เป็น “ถือ” เนื่องจากการได้ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซที่ราคาชนะการประมูลซึ่งแพงมากจะส่งผลกระทบทางลบสุทธิต่อมูลค่าส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งเราประเมินว่าผลกระทบทางบวกจากจำนวนผู้ใช้บริการ 4 จีที่จะเพิ่มขึ้นภายใต้ใบอนุญาต 900 เมกะเฮิร์ซและการประหยัดงบลงทุนจากการได้คลื่นความถี่ใหม่ 900 เมกะเฮิร์ซจะถูกกลบด้วยผลกระทบทางลบจากค่าใช้จ่ายใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (ซึ่งได้แก่ ค่าตัดจำหน่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและภาระดอกเบี้ยจ่าย) การได้มาซึ่งใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซส่งผลให้เราทำการปรับประมาณการกำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2559-71 ลดลงจากเดิม (ลดลง 7% สำหรับปี 2559 ลดลง 17% สำหรับในปี 2560-61 และลดลง 20-28% สำหรับในช่วงปี 2562-71) และปรับราคาเป้าหมายซึ่งประเมินด้วยวิธี DCF ลงอีก 35% (เหลือ 140 บาท)

ภายใต้สมมติฐานใหม่ของอัตราการจ่ายเงินปันผลที่ 80% อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลจะปรับลดลงเหลือ 4.8-5% ในช่วงปี 2559-60 และเหลือ 3.6-4.5% ในช่วงปี 2561-71 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลางและมีความน่าดึงดูดน้อยกว่าอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ ADVANC เคยจ่ายในช่วงที่ผ่านมา และเนื่องจากแนวโน้มของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยที่มีปัจจัยลบและความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น เราจึงแนะนำให้นักลงทุนเปลี่ยนการลงทุนจากหุ้นกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยไปยังหุ้นกลุ่มอื่นซึ่งกำไรสุทธิคาดว่าจะยังคงมีอัตราการเติบโตเป็นบวกในช่วงปี 2559-60 และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับที่สูงถึง 6.5-7% แทน ภายใต้สมมติฐานของอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่อยู่ในระดับที่รับได้สำหรับหุ้น ADVANC ที่ 6-6.5% ราคาหุ้นของ ADVANC ที่เหมาะสมกับการเข้ารับควรจะอยู่ที่ 115-125 บาท เราประเมินว่าความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิของหุ้นในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังจะมาจากการนำเอานโยบายของกสทช.สำหรับการใช้อัตราค่าบริการเดียวกันสำหรับระบบ 3 จีและ 4 จีมาใช้ในช่วงไตรมาส 3/59

เป็นผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซอย่างแน่นอน

ปัจจุบันเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทั้งบริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของดีแทค) และบริษัททรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของทรู) จะไม่เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซในวันที่ 27 พ.ค. ดังนั้นจึงเป็นที่แน่นอนเช่นกันว่าบริษัทแอดว๊านซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด (AWN) จะเป็นเพียงแค่บริษัทเดียวที่เข้าร่วมประมูล และคาดว่าจะมีการประกาศรายชื่อของ AWN อย่างเป็นทางการในฐานะผู้ชนะการประมูลสำหรับสล็อตแรกของคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซที่บริษัทแจ๊ส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ JAS) ทิ้งใบอนุญาตไป ในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว ทันทีที่การประมูลเริ่มต้นขึ้น ผู้ประมูลจะต้องเสนอราคาเริ่มต้น

หลังจากนั้นหากว่าผู้ประมูลไม่เสนอราคาเพิ่มขึ้นอีก การประมูลจะสิ้นสุดลงทันทีและผู้เข้าประมูลรายนั้นก็จะกลายเป็นผู้ชนะใบอนุญาตใบนั้นไปโดยทันทีที่ราคาดังกล่าว เราจึงใช้สมมติฐานไปเลยว่า AWN จะเป็นผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ซในวันที่ 27 พ.ค. ที่ราคา 75,654 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่บริษัทแจ๊ส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ชนะการประมูลและไม่ได้ไปจ่ายเงินค่าประมูลในที่สุด

มีโอกาสเพิ่มทุนในช่วงปี 2561-62 หรือไม่

ภายใต้สมมติฐานของภาระหนี้สินที่จ่ายดอกเบี้ยซึ่งอยู่ที่ 6.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2559 และเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดไปอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาทในปี 2562 เราประเมินว่าจะส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินที่จ่ายดอกเบี้ยต่อทุนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.23 เท่า ณ ปลายปี 2559 ไปอยู่ที่ 2.31 เท่า ณ ปลายปี 2562 (เนื่องจากการเบิกถอนเงินกู้ยืมจำนวนมากเพื่อไปจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่งวดสุดท้ายในปี 2562) ซึ่งถือว่าเกิน 2 เท่าสำหรับการดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนโดยปกติทั่วไป นั่นหมายถึงความเป็นไปได้ของการเพิ่มทุนในช่วงปี 2561-62 เพื่อลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลงมาให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 เท่า

มาร์จิ้นที่จะถูกกดดันไปอีกจากมาตรการกสทช.ที่บังคับใช้นโยบายอัตราค่าบริการเดียวกัน

กสทช. จะทำการกำหนดเพดานอัตราค่าบริการเดียวกันสำหรับค่าบริการระบบ 3 จีและ 4 จีให้เป็นไม่เกิน 0.69 บาท/นาที (สำหรับบริการเสียง) และไม่เกิน 0.26 บาท/เมกะไบต์ (สำหรับบริการอินเตอร์เน็ต) ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนก.ย.59 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันอัตราค่าบริการสูงสุดสำหรับระบบ 3 จีอยู่ที่ 0.82 บาท/นาที (สำหรับบริการเสียง) และ 0.28 บาท/เมกะไบต์ (สำหรับบริการอินเตอร์เน็ต) ในขณะที่อัตราค่าบริการสูงสุดสำหรับระบบ 4 จีอยู่ที่ 0.69 บาท/นาที (สำหรับบริการเสียง) และ 0.26 บาท/เมกกะไบต์ (สำหรับบริการอินเตอร์เน็ต) เราประเมินว่านโยบายดังกล่าวข้างต้นจะส่งผลกระทบทางลบต่อ ADVANC ในแง่ของมาร์จิ้นที่จะลดลงไปอีกในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันอัตราค่าบริการของ ADVANC สำหรับระบบ 3 จีบนเครือข่าย 2.1 กิกะเฮิร์ซอยู่ที่ 0.89 บาท/นาที ในขณะที่อัตราค่าบริการเฉลี่ยโดยรวมของ ADVANC สำหรับทุกระบบอยู่ที่ 0.90 บาท/นาที