UAC จับมือเพื่อนรัก สร้าง 'แลนด์มาร์คใหม่'

UAC จับมือเพื่อนรัก สร้าง 'แลนด์มาร์คใหม่'

ล้มดีลเพื่อนรัก เมื่อ 3 ปีก่อน กลับมาครานี้ 'กิตติ ชีวะเกตุ' หุ้นใหญ่ 'ยูเอซี โกลบอล' หวนกอดคอ 'พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน' หวังลุยพลังงานเต็มที

ถอยหลังกลับไปในปี 2556 บมจ.ยูเอซี โกลบอล หรือ UAC ชื่อเดิม 'ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์' ของ 'แอ๊ด-กิตติ ชีวะเกตุ' เคยคิดการณ์ใหญ่ วางแผนจะควบรวมกิจการกับ บมจ.ไฮโดรเท็ค หรือ HYDRO ซึ่งเป็นองค์กรของ 'สลิบ สูงสว่าง' 

หนึ่งในเพื่อนร่วมแกงค์ 'จตุรมิตร' ตั้งแต่สมัยเรียน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นวศ.15 สุดท้าย 'ล้มดีล' หลังประกาศเรื่องเซอร์ไพรส์วงการไม่ถึงเดือน ด้วยเหตุผลง่ายๆที่ว่า สภาวะตลาดเงินในและนอกประเทศ ไม่เอื้ออำนวยต่อการควบรวมกิจการ

'แกงค์จตุรมิตร' ไม่ได้มีเพียง 'กิตติ ชีวะเกตุ' และ 'สลิบ สูงสว่าง' แต่ยังประกอบด้วย 'พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน' เจ้าของ บมจ. คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ หรือ QTC 'สมัย ลี้สกุล' เจ้าของ บมจ.อาร์ซี คอนสตรัคชั่น หรือ TRC 'พนม ควรสถาพร' นายใหญ่ บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี หรือ AGE และ 'ชวลิต หวังธำรง' หุ้นใหญ่ บมจ.ผลธัญญะ หรือ PHOL

หลังปฎิบัติการณ์ '1+1 เท่ากับ 3' ปิดฉากลงนานกว่า 3 ปี 'กิตติ' ตัดสินใจหวนกลับมาจับมือกับเพื่อนรักอีกครั้ง ด้วยการเปิดบริษัทร่วมทุน ภายใต้ชื่อ บริษัท พีพีดับบลิวอี จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจพลังงาน โดย 'ยูเอซี โกลบอล' ถือหุ้น 50% ที่เหลืออีก 50% ถือหุ้นผ่าน บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ หรือ QTC ของ 'พูลพิพัฒน์ ตันธนสิน' 

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดยูเอซี มีมติอนุมัติเข้าซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของ บริษัท ยูเอซี ไฮโดรเท็ค จำกัด จาก บมจ.ไฮโดรเทค รวมทั้งสิ้น 49,997 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 49.997% ส่งผลให้ยูเอซี ถือหุ้นใน 'ยูเอซี ไฮโดรเท็ค' 99.994%

หรือกระบวนความคิด และแผนการรบ ของเขาจะตกผลึกแล้ว?

การแตกไลน์ไปสู่ 'ธุรกิจพลังงานทางเลือก' ในรอบ 20 ปี ถือเป็นการเบนเข็มสู่ธุรกิจใหม่อย่างเต็มรูปแบบของ 'ยูเอซี โกลบอล' หลังเมื่อสิบปีก่อน บริษัทเคยแหย่ขาเข้าไปดำเนินธุรกิจพลังงาน ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม หรือ BCP สัดส่วนการถือหุ้น UAC 30% และ BCP 70%

ภายใต้ชื่อ บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด หรือ BBF ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซล (B100) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงเหลวที่ได้จากการนำน้ำมันปาล์มดิบ หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากน้ำมันปาล์ม

ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 350,000 ลิตรต่อวัน โดยผลิตภัณฑ์ไบโอดีเซลที่ผลิตได้ บริษัทร่วมทุนจะจัดจำหน่ายให้กับ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ในสัดส่วน 60% ที่เหลือจะจำหน่ายให้กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันรายอื่นๆ

ล่าสุดบริษัทดังกล่าวเตรียมเดินเครื่องผลิตโรงงานแห่งที่สอง 450,000 ลิตรต่อวัน ภายในไตรมาส 2 ปี 2559 แน่นอนว่า ลูกค้าหลัก คือ กลุ่มบางจาก กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันดีเซลที่ขยายตัวต่อเนื่องทุกปี หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัว ลดลง

'ชัชพล ประสพโชค' กรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล รับอาสาถ่ายทอดยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า บริษัทคลุกคลีอยู่ในแวดวงธุรกิจน้ำมัน และปิโตรเคมี มานานกว่า 20 ปี ผ่านการจัดจำหน่ายสารเคมีและอุปกรณ์ที่ใช้ในอุตสาหรรมต่างๆ ให้คู่ค้ารายใหญ่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบมจ.ปตท.หรือ PTT หรือกระทรวงพลังงาน

นั่นหมายความว่า ย่อมวิเคราะห์ได้ว่า ในอนาคตความต้องการใช้พลังงานภายในประเทศไทยจะอยู่สูงระดับใด ยิ่งพิจารณาจากแผนรุกพลังงานทดแทนอย่างเต็มตัวของรัฐบาล จาก 9% เป็น 20% ภายในปี 2579 ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสเติบโตในธุรกิจพลังงานทดแทน

ตามแผนงาน ยูเอซี ต้องการเห็นสัดส่วนรายได้จาก 'ธุรกิจพลังงาน' ขยับขึ้นเรื่อยๆ จากสัดส่วน 20% ในปี 2559 เป็น 50% ในอนาคต แต่ตัวเลขนี้จะมาได้ต้องตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า รัฐบาลเปิดประมูลโครงการพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันบริษัทมีความพร้อมที่ยื่นขอใบอนุญาตขายไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวล และชีวภาพ หากผลศึกษาพบว่า โครงการใดสามารถดำเนินการเองได้ ก็พร้อมจะเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือโครงการใดจำเป็นต้องมีพันธมิตร ก็จะดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุน 'พีพีดับบลิวอี'

ความพร้อมที่ว่า คงหนีไม่พ้นทั้งเรื่องเงินลงทุน เทคโนโลยี และที่ดิน ในแง่ของที่ดินเปล่า บริษัทมีที่ดินกระจายตัวอยู่หลากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ,เชียงราย ,ลำปาง ,ลำพูน เป็นต้น ล่าสุดมีอยู่กว่า 100 ไร่ นอกจากนั้นยังบริษัทและพันธมิตรยังมีที่ดินอยู่ในจังหวัดขอนแก่นเฉลี่ย 2,000 ไร่ ขณะเดียวกันบริษัท พีพีดับบลิวอี มีแผนจะซื้อที่ดินใหม่ในภาคกลางเพิ่มเติมด้วย

เป้าหมายของบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ คือ อยากเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าเฉลี่ย 20 เมกะวัตต์ คิดเป็นตัวเลขรายได้เฉลี่ยปีละ 600 ล้านบาท แต่ไม่รู้แผนนี้จะสำเร็จเมื่อใด (ตัวเลขนี้เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น) เพราะตอนนี้ยังไม่มีใบอนุญาตใหม่ๆอยู่ในมือสักใบ โดยปกติโรงไฟฟ้าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18-20 เดือน ตามแผนเราต้องการบริหารจัดการวัตถุดิบเอง 50% ที่เหลือรับซื้อจากชาวบ้าน

สำหรับแผนลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ หากโอกาสมาเยือนพร้อมลุย เรื่องเงินลงทุนไม่ต้องห่วง วันนี้บริษัทมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 1.1 เท่า เท่ากับว่า ยังมีช่องว่างในการกู้เงินจากสถาบันการเงินอีกมาก ที่สำคัญบริษัทยังสามารถหาแหล่งเงินทุนผ่านช่องทางอื่นๆ ได้อีกด้วย

๐ ปีแห่งการเก็บเกี่ยว

เขา เล่าว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัททุ่มเงินลงทุนไปในหลายๆโครงการ ฉะนั้นปี 2559 จะเป็นฤดูแห่งการเก็บเกี่ยว 'ผลตอบแทนเต็มปี' ไมว่าจะเป็นโครงการโซล่าร์รูฟท็อป 4 แห่ง มูลค่าลงทุนเฉลี่ย 100 ล้านบาท โดยปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้เต็มปี เฉลี่ย 17 ล้านบาท หลังเริ่มรับรู้รายได้ครั้งแรกในเดือนมิ.ย.2558

นอกจากนั้นปีนี้ยังรับรู้รายได้เต็มปีเฉลี่ย 500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2558 ที่รับรายได้เพียง 250 ล้านบาท จากบริษัท ยูเอซี แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด หรือ UAPC ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ ประเภทกาวลาเท็กซ์ (อิมัลชั่นและโพลิเมอร์) ที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ หลังบริษัทรับโอนกิจการทั้งหมด จากบริษัท แอ็ดวานซ์ โพลิเมอร์ แอนด์ เคมิคอล จำกัด เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2558

ในปีนี้ UAPC อาจนำผลิตกาวลาเท็กซ์เข้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) มากขึ้น ถือเป็นการออกไปทำงานนอกบ้าน ในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศถดถอย

ล่าสุดได้ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์และทีมขายเข้าไปแล้ว ถือว่า ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า ตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายยอดขาย เพราะต้องการหาพันธมิตรท้องถิ่นมาร่วมทำงานก่อน

เบื้องต้นคงเห็นบริษัทบุกประเทศพม่าก่อนเป็นอันดับแรก เพราะประชากรเยอะ และประเทศกำลังเปิด ขณะเดียวกันจะเห็นบริษัทขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 10,000 ตัน จากเดิมที่เดินเครื่องอยู่ 10,000 ตัน หลังอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีมูลค่าสูงถึง 200,000 ตันต่อปี

'เอ็มดีใหญ่' เล่าต่อว่า ภายในปีนี้บริษัทจะบันทึกรู้รายได้จาก โครงการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม หรือ PPP ที่ตั้งอยู่ในอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย หลังโรงงานสร้างเสร็จมาแล้วปีครึ่ง แต่ติดปัญหาแหล่งเชื้อเพลิงไม่เพียงพอ ปัจจุบันเจรจาหาแหล่งเชื้อเพลิง และวางท่อแก๊สเสร็จแล้ว ทำให้วันนี้สามารถเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้อย่างเต็มกำลัง

เบื้องต้นคาดการณ์ว่า ตลอดปี 2559 โครงการแห่งนี้จะมีปริมาณการผลิตขยับขึ้นเป็น 80-100% ของกำลังผลิตสูงสุดที่ 1.8 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-เม.ย.) เดินเครื่องผลิตไปแล้ว 450,000 ลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 30% ของกำลังผลิตสูงสุด ฉะนั้นปีนี้จะบันทึกรายได้จากโครงการดังกล่าวเฉลี่ย 200-300 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่รับรู้รายได้เพียง 50 ล้านบาท

'การที่เราซื้อโรงไฟฟ้าเสาเถียรเอ และโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า กำลังการผลิต 7 เมกะวัตต์ จากบริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด จะทำให้มีไฟฟ้าเพียงพอต่อการเดินเครื่องในโครงการ PPP ถือเป็นการใช้ประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันยังรับรายได้จากการขายไฟฟ้าอีกด้วย' 

'นายใหญ่' แจกแจงต่อว่า บริษัทเตรียมบันทึกรายได้เต็มปีเฉลี่ย 60 ล้านบาท จากโครงการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพที่ใช้หญ้าเนเปียร์เป็นวัตถุดิบ ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ กำลังการผลิต 1.5 เมกะวัตต์ หลังดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อเดือนธ.ค.2558

ส่วนโครงการจังหวัดขอนแก่น กำลังการผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ อาจแล้วเสร็จไตรมาส 2 ปี 2559 หากไม่มีอะไรผิดพลาด อาจรับรายได้เต็มปีเฉลี่ย 120 ล้านบาท ซึ่งเรายื่นเรื่องขอใบอนุญาตขายไฟฟ้าไปตั้งแต่ปี 2556 ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาขอใบอนุญาตกับทางการ

๐ อนาคต 'ธุรกิจเทรดดิ้ง' 

'ผู้บริหารวัย 48 ปี' เล่าถึงแผนงาน 'ธุรกิจเทรดดิ้ง' ว่า ปี 2559 คงมีสัดส่วนเฉลี่ย 60% เทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 70% ธุรกิจเทรดดิ้งเป็นงานที่ดี เพราะต้นทุนไม่สูง แต่เนื่องจากทิศทางการเติบโตจะอยู่ในลักษณะผันผวน เพราะยอดขายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ของลูกค้า

'ปีไหนมีโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง ก็จะขายผลิตภัณฑ์ได้มาก แต่ถ้าไม่มีตัวเลขจะแกว่ง ตามสถิติโรงกลั่นน้ำมัน 1 แห่ง จะหยุดซ่อมบำรุง 1 ครั้ง หลังดำเนินการมาแล้ว 3 ปี' 

ที่ผ่านมา ยูเอซี พยายามสรรหาโปรดักใหม่ๆ ออกมาจำหน่ายลูกค้า โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายได้ทุกวัน ไม่ใช่ขายได้เฉพาะช่วงโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง เช่น สารปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน เป็นต้น แม้วอลุ่มหรือกำไรขั้นต้นจะไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ หลักของบริษัทก็ตาม

ตอนนี้มีแผนจะผลักดันการส่งออกมากขึ้น โดยเฉพาะ 'กลีเซอรีน' ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่ได้จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซลของ บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด จากผลสำรวจพบว่า ผู้ค้ารายใหญ่ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมต้นน้ำเคมีภัณฑ์ เป็นต้น ในประเทศจีน และตะวันออกกลางที่เป็นลูกค้าหลักของบริษัทยังคงมีความต้องการใช้มากขึ้นต่อเนื่อง

ฉะนั้นสัดส่วนส่งออก 'กลีเซอรีน' ในปี 2559 อาจขยับจากระดับ 3% เป็น 7-8% ซึ่งผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้ดังกล่าวมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 10-15%

ขณะเดียวกันยังวางแผนจะให้ทีมขาย นำเสนอสินค้าใหม่ๆ ที่จะวางจำหน่ายภายในปีนี้ประมาณ 3-5 ตัว กับลูกค้ารายเดิมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า,ปิโตรเคมี,โรงกลั่นน้ำมัน, โรงงานสี, โรงงานกาว และโรงงานน้ำมันเครื่อง เป็นต้น

เพื่อผลักดัน 'ยอดขายธุรกิจเทรดดิ้ง' ให้เติบโตตามเป้าหมาย 10-15% เทียบกับปีก่อนที่ธุรกิจเทรดดิ้งมียอดขาย 1,050 ล้านบาท ปัจจุบันอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเทรดดิ้ง อยู่ระดับ 18-22% ขณะที่กำไรขั้นต้นธุรกิจการผลิตอยู่สูงกว่า 30%

จากการสำรวจพบว่า กลุ่มปิโตรเคมีจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพียงปีนี้เท่านั้นและอาจไม่เห็นการผลิตใหม่ๆในปีถัดไป ฉะนั้นคงต้องเน้นเจาะฐานลูกค้าเก่าต่อไป นอกจากนั้นคงต้องเน้นการขายอุปกรณ์ระบบน้ำมากขึ้น จากปัจจุบันที่สร้างรายได้เฉลี่ย 15-20% ซึ่งเราทำมานานหลายสิบปีแล้ว

'ชัชพล' ทิ้งท้ายว่า หากพิจารณจากแผนงานที่กล่าวไป แน่นอนว่า เป้าหมายรายได้ปี 2559 คงสูงกว่า 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจเทรดดิ้ง 1,100 ล้านบาท ที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจการผลิต

ยูเอซี เข้าตลาดหุ้น ในปี 2553 ด้วยฐานรายได้รวม 500 ล้านบาท ผ่านมาถึงปี 2558 รายได้รวมขยับขึ้นเป็น 1,544 ล้านบาท 'ปรับตัวขึ้น 3 เท่า' 
จากการประชุมบอร์ดรอบล่าสุดในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวางเป้าหมายเติบโตในช่วง 5 ปีข้างหน้าไว้ว่า ฐานะการเงินต้องเติบโต 'เท่าตัว' ซึ่งการจะได้ตัวเลขนี้มาครอบครอง นั่นหมายความว่า รัฐบาลต้องเปิดประมูลโครงการพลังงานทดแทนตามแผนงาน ถ้าไม่เปิดประมูลคงต้องไปหางานอื่นทำแทน (หัวเราะ)