“เมืองแพม” อยู่ดี-มีสุข

“เมืองแพม” อยู่ดี-มีสุข

ถ้าวิถีชีวิต “เรียบง่าย” มีอยู่จริง ที่นี่น่าจะเป็นถิ่นที่อยู่ของความเรียบง่ายที่ว่านั้น

“โอะมื่อโชเปอ” หญิงสาวในเครื่องแบบ “เชซู” หรือเสื้อทอสีดำกล่าวต้อนรับพวกเราพร้อมรอยยิ้ม


“โอะมื่อโชเปอ” เราตอบเธอไปแบบนั้น ก่อนที่ทุกคนจะยิ้มให้กันแล้วพากันเดินเข้าไปในหมู่บ้านแห่งนั้นอย่างอารมณ์ดี


บ้านเมืองแพม เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประชากรทั้งหมดเป็นชาวปกาเกอะญอที่มีวิถีชีวิตเรียบง่ายอยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพรอันอุดมสมบูรณ์


คำว่า “เรียบง่าย” ที่ฉันพูดถึงหมายความแบบนั้นจริงๆ เพราะไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศชาวบ้านที่นี่ก็ได้รับความเย็นจากต้นไม้ใหญ่ เสื้อผ้าจะแบรนด์ดังแค่ไหนก็ไม่สู้เสื้อผ้าที่พวกเขาทอใส่กันเองกับมือ อาหารการกินไม่ต้องเลิศหรูเทียบชั้นภัตตาคาร แต่มันก็ทำให้อิ่มท้องได้นานเช่นกัน ส่วนซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นกว้างใหญ่ไพศาลกินพื้นที่ไปหลายภูเขาเลยทีเดียว


ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมพวกเขาจึงทักทายทุกคนที่พบเจอว่า “โอะมื่อโชเปอ” ที่หมายถึง “อยู่ดี-มีสุข” เพราะเมื่อลองได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง ฉันพบว่าคำคำนี้เหมาะสมที่จะใช้กับ “บ้านเมืองแพม” ที่สุด


...................


หลังเก็บสัมภาระในบ้านโฮมสเตย์หลังโตแล้ว เราพากันออกมาเดินเล่นสำรวจหมู่บ้าน โดยมี สมเพชร รัตนอารยธรรม รองประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเมืองแพม เป็นผู้นำชม


พี่สมเพชร เล่าว่า บ้านเมืองแพมเป็นหมู่บ้านของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง(ปกาเกอะญอ)ที่อพยพเข้ามาอยู่บริเวณนี้ราวปี 2504 โดยในระยะแรกมีแค่ 18 ครัวเรือน แต่หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านในพื้นที่อื่นอพยพเข้ามาสมทบ พร้อมกับการขยายตัวของชุมชน ทำให้ปัจจุบันมีชาวบ้านอาศัยอยู่รวมกันราว 123 ครอบครัว


“เกือบทั้งหมดนับถือศาสนาพุทธ แต่เป็นพุทธที่บูชาผีตามความเชื่อของบรรพบุรุษด้วย จะมีแค่ 8 ครอบครัวเท่านั้นที่นับถือคริสต์ เพราะฉะนั้นในชุมชนเราจึงมีทั้งวัดและโบถส์ ส่วนโรงเรียนเป็นโรงเรียนเล็กๆ มีแค่ชั้นอนุบาลถึงประถม 6 เท่านั้น”


รองประธานกลุ่มท่องเที่ยวฯ เล่าพลางพาเดินไปรอบๆ หมู่บ้าน สังเกตว่าวันนี้ค่อนข้างเงียบ ไม่มีหญิงสาวมานั่งทอผ้า หรือภาพหนุ่มๆ ช่วยกันผ่าฟืนก็ไม่มีให้เห็น


“อ๋อ วันนี้เป็นวันศีลใหญ่(วันพระ) ตามความเชื่อของเรา วันศีลเราจะไม่ทำงาน เพราะถ้าทำแล้วเราจะไม่สบาย เรื่องนี้เป็นความเชื่อเนาะ เมื่อก่อนมีคนแอบทำงาน ปรากฏว่าคืนนั้นฝันร้ายเลย เราจึงถือเรื่องนี้ต่อๆ กันมาว่าวันศีลจะเป็นวันว่างของเรา ใน 1 เดือนมีวันศีล 4 ครั้ง ก็เหมือนกับเราได้หยุดงาน 4 วันนั่นแหละ” พี่สมเพชร อธิบาย


แต่ถึงกระนั้น เราก็พบว่ายังมีบางบ้านที่มีการทอผ้าอยู่ ซึ่งพี่สมเพชรอธิบายว่า นั่นเป็นชาวบ้านที่นับถือคริสต์ ความเชื่อจะแตกต่างกัน ฉะนั้นเขาจึงสามารถทำงานได้ทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ที่ต้องเข้าโบสถ์


ไม่นานเท่าไร “พอเตอะเลอะ” หรือ ดวงพร ขุนเขาให้สิริ สะใภ้ปกาเกอะญอจากอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ก็เข้ามาเป็นไกด์สมทบ


ดวงพร บอกว่า ปกติคนที่นี่ทอผ้าใส่เอง จริงๆ เสื้อผ้าในเมืองก็ใช้กันอยู่บ้าง แต่ใส่ไม่สบายเท่าเสื้อผ้าของพวกเขาเอง


“เราทอใส่เองนะ ผู้หญิงจะทอผ้าเป็นตั้งแต่เด็กๆ ทอเอง ย้อมเอง เราใช้สีธรรมชาติที่มาจากลูกไม้ เปลือกไม้ ย้อมเสร็จ ทอเสร็จ ก็เอามาปักลูกเดือยเข้าไป ลูกเดือยนี่ก็ปลูกเอง ปลูกเอาเม็ดมาปักประดับเสื้อ ตอนนี้ทำขายด้วย มีคนซื้อเยอะจนทำให้แทบไม่ทัน”


เด็กสาววัยใสคนหนึ่งเดินผ่านไปพร้อมกับทารกน้อยในมือ ดวงพรบอกว่า ถ้าเป็นหญิงสาวบริสุทธิ์จะสวมชุดที่เรียกว่า “เชวา” คือชุดสีขาว แต่ถ้าแต่งงานแล้วจะสวมชุด “เชซู” คือเสื้อสีดำ ฉันหันหลังกลับไปมองเด็กสาวที่เดินผ่านอีกครั้ง เดาว่าเธอไม่น่าจะอายุเกิน 20 แน่ๆ แต่เธอสวมเสื้อ “เชซู” แล้ว


“เด็กที่นี่แต่งงานเร็ว เพราะเราไม่ได้ออกไปเรียนต่อ เราทำงานอยู่ในสวน ในไร่ เลยแต่งงานเร็ว มีลูกเร็ว ที่เห็นนั่นลูกคนที่ 2 แล้วนะ” ดวงพรเล่าทำเอาเราอ้าปากค้าง


บันไดไม้ชันๆ นั้น พาเราขึ้นไปถึงชานบ้านของ หม่อเส่วา ดอยจำเริญสุข ซึ่งเป็นหมอสมุนไพร รักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วยจนหายมาแล้วไม่รู้กี่รายต่อกี่ราย


หม่อเส่วารับรองเราด้วยชาสมุนไพร 2 รูปแบบ แบบแรกช่วยเรื่องกำลังวังชา อีกแบบสามารถรักษาแผลในกระเพาะอาหารได้


“ก่อนที่จะมีหมอปัจจุบันเข้ามา เราก็รักษากับหม่อเส่วานี่แหละ ไม่ว่าโรคอะไรก็หาย บางคนรักษาหมอปัจจุบันไม่ดีขึ้นก็มาหาหม่อเส่วา จนยาที่แกเก็บไว้แทบไม่พอ ต้องออกไปหาสมุนไพรไกลๆ มาเก็บไว้ตลอด” ดวงพร เล่าพลางยกกาน้ำชาดำๆ เทให้ฉันอีกถ้วย


มันเป็นชาที่รสชาติคล้ายยาหม่อง คือจิบแล้วโล่งขึ้นจมูกดี ดื่มแล้วรู้สึกกระชุ่มกระชวย ฉันจึงถือโอกาสอุดหนุนยาสมุนไพรจากหม่อเส่วามาอีกชุดใหญ่


“ที่หมู่บ้านเรามีโฮมสเตย์ 22 หลัง แต่รับนักท่องเที่ยวจริงๆ ได้ 17 หลัง ค่าที่พักเราคิด 150 บาทต่อคนต่อคืน ส่วนอาหารมื้อละ 70 บาทต่อคน กิจกรรมภายในหมู่บ้านก็จะเป็นการเดินชมฐานต่างๆ ทั้งบานย้อมผ้า ทอผ้า หมอสมุนไพร จักสาน แกะไม้ ซึ่งคิดค่าใช้จ่ายฐานละ 500 บาท แต่ถ้าเป็นกิจกรรมเดินป่าจะมีค่ามัคคุเทศก์นำทาง 300 บาท” พี่สมเพชร ได้จังหวะให้ข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่าย ก่อนจะบอกให้พวกเราแยกย้ายกลับบ้าน เพราะพระอาทิตย์ตอกบัตรหมดเวลาทำงานแล้ว


แม้กลางวันจะร้อนระอุตามอุณหภูมิที่กรมอุตุฯ แจ้งไว้ แต่พอสิ้นแสงอาทิตย์ที่เฉิดฉายเท่านั้นแหละ อากาศเย็นๆ ก็ทำหน้าที่เป็นเพื่อนที่ดีของพวกเราทุกคน คือมันเย็นจนแทบไม่มีใครอยากอาบน้ำ แล้วถามว่าอาบมั้ย เปิดโอกาสให้ทุกคนตอบได้ตามใจเลย


...............


ฉันเริ่มชอบที่นี่ขึ้นมาแล้วสิ ตอนจะนอนก็มีคนมากางมุ้งให้ พอเช้าตื่นมาก็ยังมีผู้ชายมาทำกับข้าว ชงกาแฟ แหม...ช่างเป็นชีวิตในฝันของผู้หญิงอย่างฉันจริงๆ


เช้านี้ พี่สง่า เจ้าของโฮมสเตย์ตื่นมาก่อไฟทำกับข้าวให้นักท่องเที่ยวอย่างเราแต่เช้าตรู่ กับข้าวก็เป็นเมนูง่ายๆ อย่างน้ำพริกน้ำปู ผัดผักกูด แกงฟักทองใส่หมู และยำปลากะป๋องใส่ใบมะขาม แต่ถึงจะเป็นเมนูบ้านๆ แต่ก็ทำให้พวกเรากินข้าวคนละ 2 จานเป็นอย่างน้อย


เช้านี้เรามีนัดกับพี่สมเพชร และดวงพร อีกครั้ง กะว่าจะเดินเท้าเข้าป่าเพื่อไปดูว่า ผืนป่าที่พวกเขาดูแลรักษาอุดมสมบูรณ์แค่ไหน แต่ก่อนจะออกเดินทางไกล เราแวะไปที่บ้าน พะตีเจพอ เพื่อดูการจักสาน ซึ่งภาชนะที่สานใช้กันทั่วไปคือ “กือ” หรือตะกร้ากะเหรี่ยงที่ใช้ไปไร่ไปนานั่นเอง


“ต้องใช้ไผ่ซางกับไผ่ข้าวหลามนะถึงจะเหนียว ไผ่บง ไผ่ตงไม่ได้หรอก มันกรอบ” พะตีเจพอ ว่าอย่างนั้น ก่อนจะก้มหน้าก้มตาสานกืออย่างมีความสุข
เราออกเดินต่อไปยังบ้านพ่อสามีของดวงพร เพื่อชมการแกะไม้ให้เป็นภาชนะรูปทรงต่างๆ ด้วยมีดพร้าธรรมดาๆ ที่มี พวกเราต่างทึ่งกับฝีมือของพะตีวัย 70 กว่า ที่ใช้มีดพร้าฟัน เฉาะ ขูด เกรา จนได้ช้อนกินข้าวขนาดเหมาะมือ นับเป็นช่างฝีมือที่ยอดเยี่ยมและมีเพียงคนเดียวในหมู่บ้าน


หลังจับจองช้อน แก้ว ทัพพี ที่ทำจากไม้สักกันคนละอันสองอัน พวกเราก็พากันเดินตามพี่สมเพชรและดวงพรเข้าป่าไป


“จริงๆ มันมีเส้นทางเดินป่า 2 เส้น เส้นแรกจะสั้นหน่อย ใช้เวลาแค่ชั่วโมงเดียวเท่านั้น แต่วันนี้เราจะพาไปเส้นใหญ่ก็แล้วกัน ระยะทางประมาณ 3-4 กิโลเมตร เดินไปเรื่อยๆ สัก 3 ชั่วโมงก็น่าจะได้พักเที่ยงที่วังปลาพอดี” พี่สมเพชร บอกเส้นทางขณะเดินผ่านท้องทุ่งนาขั้นบันไดในฤดูแล้ง


ใช่ มันเป็นฤดูแล้งจริงๆ นั่นแหละ สังเกตได้จากต้นไม้ที่แทบไม่มีใบเกาะตามกิ่งก้าน จนเมื่อเราเดินลึกเข้าไปในป่าเรื่อยๆ นั่นเอง จึงได้เห็นสีเขียวๆ ของป่าเบญจพรรณอันหลากหลาย


“ป่าชุมชนที่อนุรักษ์ไว้มีประมาณ 2,000 ไร่ เราออกกฎห้ามตัดแต่หาของป่าได้ ประเภทผัก หน่อไม้ เห็ด แต่ห้ามยิงนก ห้ามล่าสัตว์ แล้วต้องช่วยกันทำแนวกันไฟทุกปี ตั้งแต่ทำมากว่า 10 ปี ที่บ้านอื่นอาจไม่มีน้ำใช้ แต่บ้านเมืองแพมของเรามีน้ำตลอดไม่เคยขาด ซึ่งเราคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการอนุรักษ์ต้นน้ำของเราด้วย” พี่สมเพชร อธิบายเมื่อเดินไปถึง “โป่งหลวง” ที่เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า


ระหว่างเดินป่าศึกษาธรรมชาติ เราถามถึงต้นไม้ชนิดหนึ่ง ดวงพร บอกว่า มันชื่อ “เส่โทกิ” เส่ แปลว่า ต้นไม้ ส่วน โทกิ แปลว่า นกแก้ว หมายความว่าต้นไม้ต้นนี้เป็นต้นไม้ที่นกแก้วชอบมาหาลูกไม้กิน คุยกันไปสักพักเดียวเพื่อนๆ ในคณะของเราก็เจอเจ้าโทกิได้รับบาดเจ็บกระโดดอยู่ไม่ไกล มันมีแผลที่ขาซ้ายและใต้ปีก บินไม่ไหว ดวงพรจึงจับโทกิใส่ย่ามมาเพื่อที่จะทายาให้ ปรากฎว่ามันชอบมาก ไม่ร้องและกลับมาทำแผลในชุมชนโดยดี ถ้าหายแล้วดวงพรจะปล่อยมันไป ดูเธอห่วงใยและรักมันจริงๆ


แม้แดดจะร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ด้วยสภาพป่าที่ค่อนข้างเขียวครึ้มสมบูรณ์ ทำให้การเดินทางของเราไม่เหนื่อยอย่างที่คิด และพักเดียวเท่านั้นพี่สมเพชรก็พาเรามาหยุดอยู่ ณ ปากทางเข้า “ถ้ำยาว” แหล่งท่องเที่ยวอันซีนอีกแห่งหนึ่งของบ้านเมืองแพม


“ปากทางเข้าจะแคบๆ ตอนเดินเข้าอาจจะลำบากหน่อย แต่แค่ 5 เมตร หลังจากนั้นก็เดินสบาย ในถ้ำจะโปร่งมากๆ เดินไปยาวๆ ประมาณ 500 เมตร ข้างในมีหินงอกหินย้อยสวยงาม” บรรยายสรรพคุณมาขนาดนั้น มีหรือที่เราจะไม่พากันเข้าไป แน่นอนว่า มันทุลักทุเลนิดหน่อย


บอกได้เลยว่า ที่นี่เป็นถ้ำที่ค่อนข้างบริสุทธิ์มาก ภายในถ้ำเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยที่ยังมีชีวิต เสียงหยดน้ำหล่นกระทบพื้นดังติ๋งๆ ไพเราะจับใจ พวกเราค่อยๆ เดินตามกันไปเรื่อยๆ จนสุดปลายถ้ำแล้ววกกลับมาออกทางเดิมอีกครั้ง


จริงๆ บนเส้นทางนี้จะมี “ถ้ำเจดีย์” ที่พบโบราณสถานคือเจดีย์โบราณอยู่ในนั้น ซึ่งจากการตรวจสอบอายุพบว่ายาวนานกว่า 700 ปี แต่พอดีว่าเวลาจำกัด เราจึงลัดไปที่ “วังปลา” ซึ่งเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่ชาวบ้านช่วยกันรักษาไว้


“คนเฒ่าคนแก่บอกว่า เมื่อก่อนปลาเยอะ แต่มีคนในชุมชนไประเบิดปลา เอาแค่ตัวใหญ่ๆ ไป ตัวเล็กๆ ก็เน่าเสียลอยเต็มแม่น้ำแพม ต่อมาเราสังเกตว่าปลาน้อยลงๆ ก็เลยมาคุยกันในหมู่บ้านว่า เราอนุรักษ์ปลากันมั้ย เมื่อผ่านความเห็นชอบก็เลยลองอนุรักษ์กัน เราก็ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีเหมือนกันนะกว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง


วิธีการอนุรักษ์ของเราคือการกำหนดเขตอนุรักษ์ระยะประมาณ 1 กิโลเมตรในแม่น้ำแพม ให้เป็นเขตห้ามจับ นอกนั้นจับได้ ปลาที่อนุรักษ์ไว้ก็พวกปลาพลวง ปลาจาก แรกๆ ก็มีคนฝ่าฝืน จนเราต้องนำพิธีสาปแช่งมาใช้จึงได้ผล”


เราพักกินข้าวเที่ยงซึ่งเป็นข้าวห่อใบตองกันที่บริเวณวังปลา จากที่ร้อนๆ มา เมื่อได้นั่งพักใต้ต้นไม้ใหญ่ใกล้แม่น้ำแพมใสๆ รู้สึกเย็นสบายขึ้นมาทันที
เมื่อปล่อยให้ความเงียบทำงาน เราจะได้ยินเสียงเพลงประสานที่บรรเลงจากธรรมชาติ ทั้งสายลมที่พัดหวิวไหว เสียงกิ่งไม้กวัดแกว่งไปมา นกนานาชนิดพากันร้องเสียงดัง มันเป็นการนั่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่แสนเพลิดเพลินจริงๆ


แต่...เมื่อถึงเวลาแล้วเราก็ต้องกลับออกมาอยู่ดี ป่าไม่ใช่ถิ่นที่อยู่ถาวรของมนุษย์คนไหนๆ เช่นเดียวกับ “บ้านเมืองแพม” ที่ไม่ใช่สถานที่พักแรมถาวรของนักท่องเที่ยวขาจรใดๆ เมื่อพักจนหายเหนื่อยแล้วก็ต้องกลับไป ปล่อยให้วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายได้ดำเนินต่อไปอย่างช้าๆ จะดีกว่า


แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่มันช่วยยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า คนที่นี่มีชีวิตที่ “อยู่ดี-มีสุข” สมกับคำว่า “โอะมื่อโชเปอ” จริงๆ


............


การเดินทาง


ปางมะผ้า อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 77 กิโลเมตร สามารถใช้รถประจำทางหรือรถตู้มาลงที่อำเภอปางมะผ้าแล้วเหมารถต่อมาที่บ้านเมืองแพม ซึ่งอยู่บริเวณทางไป “ถ้ำลอด” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของปางมะผ้าได้ ระยะทางไม่ไกลมาก


สอบถามรายละเอียดได้ที่ รังสี คีรีประสบทอง ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเมืองแพม โทรศัพท์ 08 7789 3354 หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทรศัพท์ 05 3612 982