“เล้งเส็ง กรุ๊ป” มังกรภูธร ‘วิ่ง สู้ ฟัด’ ค้าปลีกยักษ์

“เล้งเส็ง กรุ๊ป” มังกรภูธร ‘วิ่ง สู้ ฟัด’ ค้าปลีกยักษ์

ธุรกิจค้าปลีก-ส่ง แห่งสกลนครที่อยู่มาถึง 59 ปี ปฏิวัติตัวเองเพื่อรับมือโมเดิร์นเทรดยักษ์ ด้วยกลยุทธ์ ‘อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย'

ธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ให้จังหวัด “สกลนคร” สุดคึกคัก

เพียงในรอบไม่กี่ปีที่ผ่าน มีเหล่าโมเดิร์นเทรดชื่อดัง แห่แหนกันเข้ามาปักธงที่นี่ ทั้ง ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน,  แม็คโคร, เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กับร้าน “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่แทรกแซมอยู่ทุกหัวระแหง

ท่ามกลางสนามแข่งที่ร้อนระอุ ยังมี “แบรนด์เจ้าถิ่น” ที่ให้บริการมาเกือบ 6 ทศวรรษ (ก่อตั้งปี 2500) คนสกลรู้จักดีในชื่อ “เล้งเส็ง กรุ๊ป” ธุรกิจ ค้าปลีก ค้าส่ง ผู้จัดจำหน่ายสินค้า (Distributor) และเทเลคอม มียอดขายทั้งกลุ่มต่อปีประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาท พวกเขาไม่ใช่แค่อยู่รอด แต่ยังเป็นผู้เล่นรายสำคัญ และธุรกิจยังโตอย่างต่อเนื่อง

"ที่ผ่านมามี เซเว่นฯ และห้างใหญ่ เข้ามาเปิดที่นี่ ทุกคนก็คิดว่า ตลาดเราน่าจะเล็กลง แต่กลายเป็นว่า เรายังเติบโตอยู่ตลอดเวลา และโตต่อเนื่องด้วย”

คำยืนยันจาก “สมหวัง เดชศิริอุดม” กรรมการผู้จัดการ วัย 38 ปี แห่ง บริษัท เล้งเส็ง กรุ๊ป ทายาทรุ่น 3 “เล้ง แซ่เตีย” ผู้ก่อตั้ง “เล้งเส็ง” ที่รับไม้ต่อมาจากผู้เป็นพ่อ “สุรชัย เดชศิริอุดม” เมื่อ 15 ปี ก่อน

วันนี้เราเห็นเล้งเส็งเติบโต สยายปีกเป็นกลุ่มธุรกิจพันล้าน ทว่าวันเริ่มต้น สมหวังบอกว่า ธุรกิจของอากง เป็นเพียงร้านโชห่วยเล็กๆ ที่เริ่มจากขายข้าวสารเพียงอย่างเดียว จนเมื่อลูกค้าเริ่มเรียกร้องอยากได้โน่นนี่ ประสาคนค้าขายที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกค้า จึงไปหาสินค้าเข้ามาสนองเพิ่มให้ จนกิจการค่อยๆ เติบใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

“เสียงของลูกค้า” เลยเป็นหัวใจทำให้ธุรกิจเติบโต เช่นเดียวกับเมื่อลูกค้าต่างอำเภอเริ่มเรียกร้องหาสินค้าบ้าง พวกเขาเลยขยับมาทำ “รถเร่” นำสินค้าไปขายให้กับลูกค้าต่างถิ่นที่เป็นร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ จนเกิดเป็น “เครือข่ายเล้งเส็ง” ที่ค่อยๆ ใหญ่โตขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าโชห่วยอยู่ในมือถึง 3-4 พันร้านค้า

ธุรกิจขยับขยายไปตามเสียงของลูกค้า จนมาเป็น “เล้งเส็งกรุ๊ป” ที่มี 4 ธุรกิจหลัก และ 6 บริษัทในเครือ อย่างวันนี้

“เราเชี่ยวชาญในการกระจายสินค้า และช่องทาง” สมหวังบอก “คอร์ธุรกิจ” ของพวกเขา

ทว่าทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง เมื่อวันนี้สนามแข่งเต็มไปด้วยร้านค้าทันสมัย แม้แต่โชห่วยดั้งเดิมก็ค่อยๆ หายไป กลายเป็นร้านสะดวกซื้อชื่อดังเข้าแทนที่ เป็นคนอื่นใจคงเริ่มฝ่อ แต่พวกเขาเลือกเผชิญหน้าด้วย “ความเข้าใจ”

“ผมว่าก็เหมือนสุขภาพนั่นแหล่ะ เวลาที่เรารู้สึกว่าอ้วนไปแล้ว ก็ต้องบริหารร่างกายตัวเอง ให้กลับมาเหมือนเดิม เช่นเดียวกับพอโมเดิร์นเทรดเข้ามา เรารู้สึกว่า อยู่เฉยไม่ได้ ต้องปรับตัว ซึ่งพอได้ปรับ ร่างกายก็แอคทีฟและแข็งแรงขึ้น ก็ต้องขอบคุณเขา” ทายาทหนุ่มบอก

เขาแสดงความเห็นต่อว่า โมเดิร์นเทรดกับเล้งเส็ง ก็เหมือนวงกลมสองวง ที่อาจมีส่วนซ้อนทับกันอยู่ก็จริง แต่เค้กไม่ได้มีแค่ก้อนเดียว ที่สำคัญยังสามารถทำให้เค้กก้อนใหญ่ขึ้นได้ด้วยซ้ำ ธุรกิจจึงแบ่งสันปันส่วนกันได้ โดยไม่ต้องยื้อแย่ง

ส่วนสูตรที่แบรนด์เจ้าถิ่นใช้รับมือกับความเปลี่ยนแปลง มีอยู่ 3 คำสำคัญ นั่นคือ “อยู่รอด อยู่ร่วม อยู่อย่างมีความหมาย”

เริ่มจาก “ต้องเอาตัวเองให้รอด” ด้วยการหันมาพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะการบริหารสะต๊อก บริหารลูกค้า บริหารบัญชี โดยใช้ไอทีเข้ามาพัฒนาธุรกิจ ปรับร้านให้ทันสมัย พัฒนาคน พัฒนาบริการ ฯลฯ เพื่อให้อยู่รอดได้ในสนามร้อน

ก่อนมาสู่ทฤษฎี “อยู่ร่วม” คือพัฒนาคู่ค้า “ร้านโชห่วย” ให้เติบโตไปด้วยกัน โดยไปช่วยจัดร้าน ช่วยบริหารสะต๊อก จากพนักงานที่เป็นแค่พนักงานขาย ก็เปลี่ยนเป็น “ที่ปรึกษา” ให้กับลูกค้าโชห่วย และทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น

“เราต้องพัฒนาลูกค้าของเราให้เข้มแข็ง เพราะเราก็เหมือนต้นไม้ ถ้าไม่พัฒนาพื้นดินที่อยู่ให้อุดมสมบูรณ์ ก็เติบโตยาก” เขาว่า

ปิดท้ายกับ “อยู่อย่างมีความหมาย” โดยเมื่อธุรกิจเติบโตถึงจุดๆ หนึ่ง ก็ต้องไม่ลืมสังคม ผู้มีพระคุณที่ทำให้ธุรกิจเติบโตมาได้ด้วย นั่นคือ ต้อง “คืนกำไรสู่สังคม” ด้วย

“ถ้าเป็นปัจจุบันก็เหมือนการสร้างแบรนด์ เราทำแบรนด์ของเราให้โต แล้วให้แบรนด์ลูกค้าเติบโตด้วย ผู้บริโภคก็จะติดกับร้านของลูกค้า พอลูกค้าเราโต เราก็จะเติบโตไปด้วยกันได้ ผมว่ากลยุทธ์นี้ จะทำให้เราเกิดความแข็งแรง ไม่ใช่แค่ขายเยอะอย่างเดียว แต่จะเป็นการโตอย่างมั่นคงจริงๆ” เขาบอก

มีลูกค้าหลัก คือเหล่าร้านโชห่วยดั้งเดิม แล้วไม่กลัวเหรอว่าวันหนึ่งจะสูญพันธุ์กลายเป็นร้านดังไปหมด

“ผมเชื่อว่า โชห่วยไม่ตายหรอก เพราะคนไทยมีความสามารถในการปรับตัวได้ดี วันนี้ผู้บริโภคเดินเข้าเซเว่นฯ เพราะความสะดวกก็จริง แต่ของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็เลือกซื้อใกล้ๆ บ้าน ทั้งนั้น สมัยก่อนเขาอาจไม่มั่นใจเรื่องคุณภาพ แต่วันนี้โชห่วยพัฒนาขึ้นมาก และคุณภาพก็ไม่ต่างจากเซเว่นฯ ฉะนั้นหน้าที่ของโชห่วย คือ ขายให้เก่ง มีของที่ดูดี สะอาด มีมาตรฐาน และต้องมี ‘ชีวิต’ อยู่ในนั้น เพื่อที่คนเข้าไปแล้วจะพบเสน่ห์ของแต่ละร้าน เชื่อว่าอย่างไรก็อยู่ได้” เขาเชื่อเช่นนั้น

หลายคนอาจกลัว “ปัญหา” ทว่าทายาทเล้งเส็งกลับบอกว่า ปัญหาคือ “โอกาส” สำหรับพวกเขา เพราะทุกปัญหาทำให้เล้งเส็งเติบโตขึ้นตลอดเวลา แต่สำคัญสุดเมื่อเจอปัญหาคือ ไม่ใช่แค่หาทางแก้ แต่ต้องสร้าง “องค์ความรู้” ขึ้นมาด้วย

“คนส่วนใหญ่ชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แก้เสร็จแล้วก็จบ พรุ่งนี้ก็ไปแก้เรื่องเดิมๆ สิ่งสำคัญคือ เมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว เราต้องสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาด้วย เพื่อที่ปัญหาเดิมๆ จะได้ไม่เกิดขึ้นอีก เราจะได้ไปสู้กับปัญหาที่ยากขึ้น”

อนาคตของเล้งเส็ง เขาบอกว่า อยากจะสร้าง “Business Model” ที่สามารถส่งต่อ หรือแบ่งปันให้กับคนอื่นได้ โดยทำโมเดลให้นิ่ง สร้างมาตรฐานให้เกิด เพื่อใช้เป็นฐานในการขยายธุรกิจของพวกเขานับจากนี้

“เราพยายามปรับสิ่งที่เป็น ‘ความชำนาญ’ มาสร้างเป็น Business Model อย่างสมมติวันนี้จะไปเปิดสาขา หรือขยายธุรกิจไปที่ไหน คนของเราเอากระเป๋าไปแค่ใบเดียวก็สามารถเปิดได้ทันที นำโมเดลแบบนี้ไปใช้ในที่ต่างๆ ได้ ส่วนอนาคตธุรกิจ ยังยึดทำในสิ่งที่ถนัด นั่นคือการเป็นช่องทางกระจายสินค้า โดยอาจไปจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่เก่งในเรื่องต่างๆ เพื่อขยายธุรกิจของเราต่อไปในอนาคต”

ท่ามกลางการแข่งขันของร้านค้าสมัยใหม่ ที่มาพร้อมชื่อสุดทันสมัย แต่ “เล้งเส็ง” ก็ยังไม่คิดทิ้งชื่อเดิมของพวกเขา ทายาทหนุ่มเล่าว่า “เส็ง” แปลว่า “ชื่อ” ส่วน “เล้ง” นอกจากเป็นชื่อของอากง ยังมีความหมายดีว่า “มังกร” พวกเขาจึงนำมาพัฒนาเป็นโลโก้มังกรม้วนตัวเป็นเลข 8 โดยเลข 8 สะท้อนการเป็นตัวกระจายสินค้าทั้ง 8 ทิศ บอกถึงความเชี่ยวชาญในธุรกิจนี้ ขณะที่ 8 ยังเหมือนเครื่องหมาย Infinity ที่ให้ความหมายว่า จะขยายธุรกิจไปได้เรื่อยๆ อย่าง “ไม่สิ้นสุด” อีกด้วย

เพื่อให้แบรนด์เก่าแก่ดูทันสมัยขึ้น และยังยืดหยัดได้ในโลกที่ท้าทายอย่างวันนี้

                .................................................

Key to success

สูตรเล้งเส็ง ‘วิ่ง สู้ ฟัด’ ค้าปลีกยักษ์

๐ เติบโตจากปัญหา และการรับฟังเสียงลูกค้า

๐ ทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ และถนัด

๐ ปรับตัวรับมือกับการแข่งขัน

๐ พัฒนาลูกค้า ให้โตไปด้วยกันอย่างแข็งแกร่ง

๐ ใส่ใจการคืนกำไรสู่สังคม

๐ สร้างโนว์ฮาว และ Business Model

๐ แก้ปัญหาและสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้น

๐ สานต่อธุรกิจครอบครัว ด้วย “วิสชั่นร่วมกัน”