ชีวิต 'นกเงือก' เขาบูโดน่าห่วง..ถูกล้วงซ้ำซาก?

ชีวิต 'นกเงือก' เขาบูโดน่าห่วง..ถูกล้วงซ้ำซาก?

ภาพชุดและเรื่องราว ชีวิต "นกเงือก" เขาบูโดน่าเป็นห่วง ถูกล้วงโพรงเอาลูกนกซ้ำเป็นปีที่2ติดต่อกันแล้ว

น.ส.นูรีฮัน อะดูลี ผู้ช่วยนักวิจัยโครงการศึกษาระบบนิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเฝ้าติดตามวิถีชีวิตของนกเงือกในช่วงฤดูผสมพันธุ์และออกลูกบนเทือกเขาบูโด อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส แจ้งว่าวันนี้ (15 พ.ค.) ตนได้ปีนเขาขึ้นไปสำรวจโพรงนกเงือกหัวแรด เบอร์ 29 บนเขาปูลาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาบูโด ขณะที่พ่อแม่นกกำลังช่วยกันหาอาหารมาป้อนให้ลูกที่อยู่ในโพรงเพียงตัวเดียว สังเกตเห็นความผิดปกติ เมื่อได้ยินเสียงพ่อแม่นกร้องอยู่ห่างๆ แต่ไม่ยอมบินลงมาป้อนอาหาร จึงได้เดินเข้าไปใกล้ต้นกาลอที่อาศัยของนกเงือกหัวแรดครอบครัวนี้

จึงพบร่องรอยคนใช้ไม้ต่อปีนขึ้นไปที่ปากโพรงที่สูงขึ้นไปประมาณ 15 เมตร เห็นปากโพรงถูกของมีคมแซะและมีตาข่ายดักนกตกอยู่ที่พื้น จึงรู้ว่าลูกนกเงือกที่อยู่ในโพรง ถูกคนล้วงเอาไป นูรีฮันบอกว่าแม่นกเพิ่งเจาะปากโพรงออกมาเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะลูกนกเริ่มเติบโตและต้องการอาหารมากขึ้น จึงต้องออกมาช่วยพ่อนกเลี้ยงลูกอีกแรงหนึ่งตามวงจรชีวิตของนกเงือก

เธอบอกว่าปีที่แล้วมา 2558 ช่วงเวลาเดียวกันนี้ โพรงดังกล่าวได้เคยถูกล้วงเอาลูกนกไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นหลายคน มีความกังวลว่าพ่อแม่นกเงือกจะไม่กลับมาสร้างรังรักที่โพรงแห่งนี้อีก แต่เขาก็กลับมา พวกเราดีใจมาก และจัดทีมเฝ้าสังเกตการณ์มาตลอด ตั้งแต่แม่นกเงือกเริ่มเข้าโพรงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่เขาก็พลาดอีกจนได้ และกลายเป็นเรื่องเศร้าแก่ผู้ที่อยู่ในแวดวงคนรักนกเงือกอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อทราบว่าแน่ชัดว่า ลูกนกโพรงดังกล่าวถูกพราก ไปจากพ่อแม่ของมันอีกแล้ว นูรีฮันจึงเดินทางไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน ที่ สภ.บาเจาะ จ.นราธิวาส แต่เจ้าหน้าที่ไม่รับแจ้งความ และให้เหตุผลว่าเธอไม่ใช่เจ้าของนกเงือกที่ถูกขโมยไป เพราะหากแสดงตัวเป็นเจ้าของเธอก็จะมีความผิดเพราะนกเงือกเป็นสัตว์สงวนไม่สามารถเลี้ยงได้ แต่เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้อุทยานแห่งชาติเขาบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งเป็นผู้ดูแลผืนป่าทั้งหมดบนเทือกเขาบูโดมาแจ้งความด้วยตนเอง

ด้านนายปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการศึกษาระบบนิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทำงานเชิงอนุรักษ์นกเงือกบนผืนป่าแห่งนี้มากว่า 20 ปี และเป็นพี่เลี้ยงของนูรีฮัน บอกว่า โพรงนกเงือกนกแรด เบอร์29 ที่ถูกคนล้วงเอาลูกนกไป ล่าสุดเป็นโพรงที่เดินขึ้นเขาไม่ไกลมากนัก อยู่ในสวนยางของชาวบ้านซึ่งช่างภาพที่ชื่นชอบการถ่ายภาพนกเงือกนิยมมาถ่ายภาพกันที่โพรงแห่งนี้ จนถูกขนานนามว่าเป็น " โพรงรับแขก " และเท่าที่สำรวจข้อมูลสำหรับปีนี้ (2559) พบว่า มีนกเงือกชนิดต่างๆ เข้าโพรงเพื่อออกลูกขยายเผ่าพันธุ์บนเทือกเขาบูโด จำนวน 20 โพรง

ช่วงนี้จึงเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ และความเป็นความตายของนกเงือก เนื่องจากมันจะใช้ชีวิตเป็นวัฏจักรวนเวียนอยู่แค่นี้ เป็นช่วงเวลาที่นักล่าลูกนกและแม่นกออกทำงาน เพราะขณะที่อยู่ในโพรงมันช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย

จริงอยู่, แม้นกเงือกยังจะได้ชื่อว่าเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบรูณ์ของผืนป่า ถึงแม้นกเงือกในผืนป่าจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกปี แต่ก็มีภัยคุกคามอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ทั้งฆ่าเพื่อเป็นอาหาร จับลูกนกไปขาย และ การบุกรุกป่าเพื่อตัดไม้ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล

ทั้งหมดนี้คือปัญหาหลัก ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของแทบมนุษย์ทั้งสิ้น "ปรีดา" กล่าวทิ้งท้าย...

(ภาพ - จรูญ ทองนวล-นูรีฮัน อะดูลี )