'สปส.' จ่อเพิ่มเกณฑ์ประเมินสถานะ 'การเงิน' รพ.เอกชน

'สปส.' จ่อเพิ่มเกณฑ์ประเมินสถานะ 'การเงิน' รพ.เอกชน

"สปส." เตรียมหารือฝ่ายกฎหมาย ถกแก้เกณฑ์การประเมินการตรวจสอบสถานะทางการเงิน รพ.เอกชน

เลขาธิการสปส.เผยปัจจุบันมีรพ.เอกชนเป็นคู่สัญญาสปส. 80 แห่ง ภาพรวมมีปัญหาสถานะทางการเงินน้อยมาก ชี้รพ.เดชามีปัญหาหนักสุดที่เคยพบ ที่ผ่านมาเคยมีกรณีขายกิจการไปเลย สปส.เข้าไปประเมินและทำสัญญาใหม่ เตรียมหารือฝ่ายกฎหมายถกแก้เกณฑ์ประเมินสามารถเพิ่มการตรวจสอบสถานะทางการเงินรพ.ได้หรือไม่

นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเรียกร้องให้ สปส.ควรตรวจสอบโรงพยาบาลก่อนทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนว่า ปัจจุบันมีโรงพยาบาลเอกชนเป็นคู่สัญญากับสปส.ทั้งหมด 80 แห่งโดยสปส.จะจัดคณะกรรมการตรวจสอบมาตรฐานทางการแพทย์ลงไปตรวจสอบตามเกณฑ์มาตรฐานบริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลมีขนาด 100 เตียง, มีแพทย์ ครบ 12 สาขา และมีแพทย์ประจำสาขา 4 คน รวมทั้งต้องไม่เคยถูกร้องเรียนเรื่องมาตรฐานการรักษาหรือมีปัญหาบริการทางการแพทย์เป็นประจำทุกปีก่อนทำสัญญา 

เลขาธิการสปส. กล่าวอีกว่า ส่วนสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลเอกชนนั้น สปส.ก็ได้สอบถามโรงพยาบาลเอกชนข้อมูลบ้าง แต่ไม่ได้ใช้เป็นเกณฑ์ประเมิน เพราะสปส.เน้นพิจารณามาตรฐานการบริการทางการแพทย์ ขณะที่สถานะทางการเงินของโรงพยาบาลเอกชนเป็นเรื่องทางธุรกิจและเป็นเรื่องซับซ้อนจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีและการเงิน สปส.จึงไม่ได้เข้าไปตรวจสอบโดยละเอียด นอกจากนี้ จะลงไปตรวจสอบโรงพยาบาลคู่สัญญาเพิ่มเติมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือถูกผู้ประกันตนร้องเรียนมีปัญหาบริการทางการแพทย์ 

เลขาธิการ สปส.กล่าวอีกว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญาของ สปส. 80 แห่ง โดยภาพรวมมีโรงพยาบาลเอกชนน้อยแห่งที่มีปัญหาเรื่องสถานะทางการเงิน โรงพยาบาลเดชาถือเป็นกรณีที่มีปัญหาหนักที่สุด ที่ผ่านมาเคยมีแต่กรณีการขายกิจการหรือเทคโอเว่อร์โรงพยาบาลเอกชนและมีผู้ประกอบการรายใหม่มาบริหาร หากเกิดกรณีเช่นนี้หลังจากโรงพยาบาลเอกชนทำสัญญากับสปส.แล้ว โรงพยาบาลเอกชนจะต้องแจ้งต่อสปส. หากไม่แจ้งจะถูกริบเงินประกันสัญญา

ทั้งนี้ เมื่อแจ้งมาสปส.จะเข้าไปประเมินมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ว่า ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มาซื้อกิจการโรงพยาบาลเป็นใคร มีความพร้อมด้านสถานะการเงินและการให้บริการทางการแพทย์หรือไม่ รวมทั้งต้องทำสัญญากับ สปส.ใหม่ด้วย และสปส.จะลดโควตาผู้ประกันตนของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวลงจากเดิมบางกรณีเคยลดถึงครึ่งหนึ่งของโควตาเพื่อให้ปรับตัวและให้บริการผู้ประกันตนได้เต็มที่ ทั้งนี้ เร็วๆ นี้ตนจะหารือกับฝ่ายกฎหมายของสปส.เพื่อสรุปปัญหากรณีโรงพยาบาลเดชา รวมทั้งจะพิจารณาทบทวนเกณฑ์ประเมินมาตรฐานโรงพยาบาลเอกชนว่าควรจะแก้ไขเกณฑ์โดยเพิ่มการตรวจสอบสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลด้วยหรือไม่ 

"กรณีโรงพยาบาลเอกชนซึ่งเป็นคู่สัญญาของ สปส.ที่มีปัญหาสถานะทางการเงินนั้น โรงพยาบาลเดชาถือเป็นกรณีที่มีปัญหาหนักที่สุด โรงพยาบาลเอกชนแห่งนี้เป็นคู่สัญญากับสปส.มาตั้งแต่ปี 2537 และโรงพยาบาลแห่งนี้ไม่เคยถูกร้องเรียนด้านบริการทางการแพทย์ จึงได้ต่อสัญญา สปส.ทราบว่าโรงพยาบาลเดชามีปัญหาสถานะทางการเงินเมื่อต้นปี 2559 จากการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งโรงพยาบาลเดชาส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาได้มีหนังสือแจ้งทวงเงินค่ารักษา 23 ล้านบาท จากโรงพยาบาลเดชามายังสปส. รวมทั้งยังค้างจ่ายเงินสมทบสปส.อีกกว่า 8 ล้านบาทรวม 32 ล้านบาทซึ่งสปส.ก็ได้ผ่อนผันในการชำระหนี้ให้แก่โรงพยาบาลเดชา และได้ส่งทีมไปตรวจสอบ รวมทั้งเตรียมการย้ายผู้ประกันตนกว่า 4 หมื่นคน ไปโรงพยาบาลรัฐ แต่โรงพยาบาลเดชา ถูกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งปิดชั่วคราวก่อน"