'ทีดีอาร์ไอ' ติง 'พ.ร.บ.กสทช.' มีช่องโหว่

'ทีดีอาร์ไอ' ติง 'พ.ร.บ.กสทช.' มีช่องโหว่

"ทีดีอาร์ไอ" ติง "ร่าง พ.ร.บ. กสทช." จำกัดคุณสมบัติกรรมการ ปิดโอกาสคนรุ่นใหม่ พร้อมเรียกร้อง สนช. ตั้งกรรมาธิการปิดความเสี่ยง

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวภายในงานสัมมนา" NBTC Policy Watch :5 ปี กสทช. กับอนาคตการสื่อสารไทยว่า เมื่อดู ร่าง พ.รบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ร่าง พ.ร.บ.กสทช.) ฉบับใหม่ นั้นพบว่า มีข้อกังวลหลายเรื่อง เช่น คุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการกำหนดอายุผู้สมัคร 45- 65 ปี นั้น เห็นว่าเป็นการปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในขณะที่โลกของเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังกำหนดเรื่อง ทหารต้องมียศระดับ พล.ท ราชการต้องเป็นระดับอธิบดี นักวิชาการต้องเป็นรองศาสตราจารย์ขึ้นไป ส่วนผู้ที่มาจากภาคเอกชนก็ต้องทำธุรกิจไม่น้อยกว่า 3 ปี มีตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และมีทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะจำกัดธุรกิจเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพ ไม่สามารถเข้ามาสมัครได้

ส่วนผู้สรรหา กรรมการ กสทช. ส่วนใหญ่มาจากฝั่งตุลาการเกือบทั้งหมดทำให้เหมือนจะเป็นตุลาการภิวัฒน์กลายๆ และเมื่อรวมกับตัวแทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ,กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ทำให้มองไม่เห็นการเชื่อมโยงการสรรหากับภารกิจในการกำกับ
นอกจากนี้ระบบตรวจสอบ กสทช.ก็ให้ความหวังกับราชการเกินไป กำหนดให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ว่ากาารตรวจสอบ กสทช.มักเกิดขึ้นจากสื่อและนักวิชาการก่อน สตง. ในขณะเดียวกันการจัดสรรคลื่นความถี่ตามกฎหมายใหม่ ใช้วิธีการจัดสรรโดยไม่ได้บอกว่าใช้วิธีการประมูลเพียงเขียนไว้ว่าให้ใช้วิธีการคัดเลือกระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น การพิจารณาจะไม่ให้ความสำคัญกับตัวเงินเป็นหลัก แต่จะขึ้นกับเกณฑ์อื่นๆ ประกอบด้วย ทั้งหมดจึงทำให้สรุปได้ว่าต่อไปเราอาจจะไม่เห็นการประมูลคลื่นความถี่เกิดขึ้นอีกก็ได้

จึงขอเรียกร้องให้ สนช.แก้ไขความเสี่ยงโดยการตั้งกรรมาธิการ โดยให้มีตัวแทนจากผู้บริโภคและหน่วยงานด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีตัวแทนของธุรกิจรายเล็ก ลดเสียงและอำนาจของราชการและฝ่ายความมั่นคง ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นที่เกิดการสนทนาอย่างแท้จริง

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า ที่มาของคณะกรรมการสรรหากสทช.นั้น เข้าใจว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการสร้างธรรมาภิบาลให้ กสทช.เนื่องจากที่ผ่านมา กสทช.มีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายเงิน ดังนั้นหากได้ผู้คัดสรรที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิจากหน่วยงานดังกล่าวก็จะได้กรรมการ กสทช.ที่ทำงานโดยปราศจากปัญหาดังกล่าว