'ไม่ปรับก็ต้องปิด' ทางรอดของนิตยสารไทยวันนี้

'ไม่ปรับก็ต้องปิด' ทางรอดของนิตยสารไทยวันนี้

"ไม่ปรับก็ต้องปิด" ทางรอดของนิตยสารไทยวันนี้

ต้องยอมรับว่าโลกอินเตอร์เน็ตเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักอ่านทั่วโลก ที่ก่อนหน้านี้คนส่วนมากนิยมเสพสื่อผ่านกระดาษ แต่ในวันนี้หันมารับข้อมูลข่าวสารผ่านคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น และผลกระทบจากปรากฏการณ์นี้ต่อธุรกิจสิ่งพิมพ์บ้านเรา ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเราเห็นการปิดตัวของนิตยสารจำนวนมากอย่างเช่น นิตยสารเปรียว, อิมเมจ และคอสโมโพลิแทน ไทยแลนด์ ซึ่งเมื่อมองไปที่เม็ดเงินโฆษณาทางฝั่งนิตยสารในบ้านเรานั้น มีจำนวนลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ

โดยข้อมูลจากบริษัท เดอะนีลเส็นคอมปะนี ประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า เงินโฆษณาในธุรกิจนิตยสารลดลงทุกปี อย่างในปี 2557 นิตยสารมีรายได้จากโฆษณา 4,721 ล้านบาท แต่ในปี 2558 เม็ดเงินตรงนี้กลับลดเหลือ 4,227 ล้านบาท ซึ่งหายไปเกือบ 500 ล้านบาทเลยทีเดียว ชาญชัย เหล่าฤทธิไกร คนขายหนังสือที่ร้านหนังสือแถวสยามสแควร์ได้ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ยอดขายนิตยสารลดลง โดยเฉพาะกลุ่มนิตยสารไลฟ์สไตล์ ทำให้ร้านของตนรับนิตยสารมาขายน้อยลง แต่ก็ยังมีหลายเล่มที่ขายได้อยู่อย่าง นิตยสารอะเดย์ และนิตยสารภาพยนตร์อย่าง ไบโอสโคป คำถามที่สำคัญก็คือ ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ทางฝั่งคนทำนิตยสาร ควรปรับเปลี่ยนอย่างไรเพื่อที่จะไม่ถูกปิดตัวลงเหมือนหลายเล่มที่ผ่านมา เราจะเห็นว่านิตยสารหลายหัวในช่วงที่ผ่านมามีการปรับตัวในหลากหลายรูปแบบ นอกจากการปล่อยคอนเท้นต์ให้อ่านฟรี ๆ ทางออนไลน์แล้ว หลายเล่มยังเปลี่ยนจากการเป็นนิตยสารรายเดือน มาเป็นนิตยสารฉบับพิเศษ มีการออกพ็อกเก็ตบุค หรือมีการจัดอีเว้นท์ของนิตยสารร่วมด้วย

อย่างเช่น นิตยสารเวย์ และ แฮพเพนนิ่ง การทำฟรีแมกาซีน แจกตามที่ชุมชนอย่างรถไฟฟ้า หรือร้านกาแฟ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ อย่างนิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ที่เปลี่ยนตัวเองจากนิตยสารรายเดือนเป็นฟรีแมกาซีนรายสัปดาห์ หรือนิตยสารหัวนอกที่เข้ามาใหม่อย่าง The Hollywood Reporter และ Billboard ก็วางตัวเองเป็นแมกกาซีนแจกฟรี ต่างจากฉบับต่างประเทศที่เป็นแมกกาซีนขายบนแผงหนังสือ ทางด้านจักรพันธุ์ ขวัญมงคล บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร The Hollywood Reporter Thailand มองทางออกของนิตยสารว่า คนทำนิตยสารไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่เพียงสื่อกระดาษ แต่ควรรู้จักเลือกคอนเท้นต์มาใช้ได้ในหลาย ๆ สื่อ นี่อาจจะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้นิตยสารอยู่รอด จากนี้ไปต้องจับตาดูกันว่าทิศทางของนิตยสารในบ้านเราและนิตยสารทั่วโลกจะปรับตัวและขยับกันไปทางไหน แต่ทุกวันนี้ เฟรมเองก็ยังอ่านนิตยสารที่เป็นสื่อกระดาษอยู่ เป็นเพราะยังมีเสน่ห์น่าให้หยิบขึ้นมาอ่านอยู่