ยืนยันปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักใช้ได้ถึงเดือน ก.ค.

ยืนยันปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักใช้ได้ถึงเดือน ก.ค.

อธิบดีกรมชลประทาน เผยพายุฤดูร้อนเติมน้ำเข้าเขื่อนใหญ่กว่า 60 ล้านลบ.ม. คาดมีน้ำใช้ถึงเดือน ก.ค. ด้าน ปภ.เตือน 7 - 9 พ.ค.ฝนตกหนัก

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้สิ้นสุดฤดูการส่งน้ำในช่วงฤดูแล้งแล้ว (1 พ.ย.58- 1 พ.ค.59) โดยสถานการณ์น้ำในเขื่อน 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำคงเหลือน้ำใช้การได้ 1,785 ล้านลูกบาศก์เมตร จะระบายน้ำวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และสวนผลไม้ให้เพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือน ก.ค.นี้ ส่วนการปลูกข้าวในที่ลุ่ม แนะนำให้รอกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศการเข้าสู่ฤดูฝน ส่วนในที่ดอนแนะนำให้ปลูกได้ในเดือน ก.ค.นี้

สำหรับสถานการณ์ฝนตก จากช่วงเดือน เม.ย. ต่อเนื่องถึงต้นเดือน พ.ค. จากพายุฤดูร้อน ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 25 เม.ย. -2 พ.ค. แต่ปริมาณน้ำยังคงอยู่ในเกณฑ์น้อย การใช้น้ำจะเน้นเฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น อาทิ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 10.77 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 14.74 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 3.28 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธ์ มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 10.65 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนป่าสักชลสิทธิฯ จ.ลพบุรี มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 10.17 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 5.03 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทางด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ถึงปัจจุบัน มีจังหวัดได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 49 จังหวัด รวม 313 อำเภอ 726 ตำบล 1,777 หมู่บ้าน บ้านเรือนเสียหาย 21,637 หลังคาเรือน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 13 ราย และผู้เสียชีวิต 11 ราย ซึ่งรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ห่วงใยประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน ได้กำชับให้ ปภ. ร่วมกับฝ่ายปกครองและหน่วยทหารในพื้นที่ดูแล และให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 7-9 พ.ค.นี้ บริเวณประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง จึงได้ประสานจังหวัดและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัย ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง