บี๋-ปรารถนา คนปั้นแบรนด์เพื่อสังคม

บี๋-ปรารถนา  คนปั้นแบรนด์เพื่อสังคม

เรื่องของคนสร้างแบรนด์ ทั้่งแง่ธุรกิจและแบรนด์เพื่อสังคม

เคยเป็นคนโฆษณาที่มีไอเดียเท่ๆ สร้างแบรนด์มากมาย แม้จะไม่โด่งดัง แต่ บี๋-ปรารถนา จริยวิลาศกุล Brand idea&Love Inspirer มีบางอย่างที่น่าสนใจ ปัจจุบันเป็นนักสร้างแบรนด์อิสระในนาม be positive plus ซึ่งทุกงานที่ทำให้ลูกค้าจะบวกทำแบรนด์ให้คนหรือองค์กรเพื่อสังคมอีก 1 ควบคู่โดยไม่มีค่าตัว
ส่วนงานเพื่อสังคม เธอร่วมมือกับมูลนิธิอโชก้า ช่วยสร้างแบรนด์และให้ไอเดียดีๆ กับคนอยากทำธุรกิจเพื่อสังคม เดือนละครั้งกับโครงการ Branding Helpdesk และโครงการ Saturday Morning : Blooming Idea เปิดพื้นที่ให้ไอเดียต่อยอดสำหรับคนที่อยากทำอะไรให้สังคม

ปรารถนาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งโครงการผูกปิ่นโตข้าว เธอช่วยคิดคอนเซ็ปต์ เจ้าบ่าว เจ้าสาว และแม่สื่อ นอกจากเธอยังเป็นผู้ริเริ่ม Love is Hear คอนเสิร์ตคนหูหนวก และ RUN HERO RUN: ฉันจะวิ่งเพื่อเธอ 2016 ซึ่งคนจำนวนมากอาจไม่รู้

เธอทำการกุศล โดยใช้ไอเดียว่า "มีศูนย์บาท น้ำใจมีไหม" โดยเชื่อว่า ถึงเธอจะไม่มีเงินก็ทำได้ เพราะมีไอเดียและชัดเจนในการทำ รวมถึงมีมิตรสหายมาร่วมด้วยช่วยกัน จึงไม่ต้องมีคำว่า "รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย มอบให้มูลนิธิ..."
ปรารถนา ย้ำว่า สิ่งที่เธอทำ ใครๆ ก็ทำได้ เพียงแต่จะทำไหม
"อะไรที่ทำเพื่อคนอื่นได้ ก็ทำเลย ไม่ต้องรอ"


อะไรที่ทำให้คุณคิดว่า ขอเพียงมีไอเดีย ไม่มีเงินก็ทำได้
มีตอนหนึ่งคิดว่า ทำไมคนหูหนวกถูกจำกัดการเข้าถึงดนตรี เราไม่มีเงิน แต่กล้าจัดคอนเสิร์ต เราเชื่อว่า คนทุกคนมีบางอย่างที่ให้ได้ เราก็บอกว่า ”มีศูนย์บาท น้ำใจมีไหม” ตอนนั้นคนไทยยังไม่เป็นทาสโซเชียลมีเดีย เราก็บอกเพื่อนๆ โดยมีกฎว่า ทำอะไรได้ ก็มาทำ ร้องเพลงได้ก็มาร้อง ทั้งๆ ที่ไม่เคยจัดคอนเสิร์ต ตอนนั้นวิภว์ บูรพาเดชะ ร่วมกับเราเป็นโปรดิวเซอร์ เริ่มแรกเราไปที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร แล้วเปรยๆ กับครูที่นั่นว่า “คิดถึงจังเลย” ครูก็ถามว่า “หนูเป็นเด็กมาแตร์หรือ” เราก็ถามว่า "รู้ได้ไง" ตอนนั้นมีสองโรงเรียนเท่านั้นที่พาเด็กมาเรียนรู้ที่นั่น

เริ่มจากไม่มีอะไรเลย ?
เราเชื่อเรื่องไอเดีย ถ้าไอเดียดี คนที่”ใช่”จะมาหาเรา คนที่”ไม่ใช่”จะออกไป เพราะเราตั้งกฎไว้ว่า ไม่มีเงินให้ใคร เมื่อตั้งใจทำ ปัญหามาพร้อมๆ กับจูงมือคำตอบมาให้เลย กว่าจะทำคอนเสิร์ตเพื่อคนหูหนวกออกมาได้ใช้เวลาทำทุกอย่างแปดเดือน ระหว่างนั้นก็ทำงานประจำ และเราเบื่อที่จะบอกว่า รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้การกุศล เพราะฉะนั้นเราไม่มีค่าใช้จ่าย คนที่มาซื้อบัตรเท่าไหร่ เราให้มูลนิธิคนหูหนวกทั้งหมด

ผลออกมาเป็นอย่างไรบ้าง
คนหูหนวกได้ดูคอนเสิร์ตที่นั่งดีที่สุดในสกาล่าและคนที่หูไม่หนวกต้องเห็นว่า คนหูหนวกดูคอนเสิร์ตกับเขายังไง แม้เขาจะหูหนวก แต่ประสาทสัมผัสอื่นๆ ยังมีอยู่ เขามองเห็น ได้กลิ่น เราก็ใช้กลิ่นที่เขาสัมผัสได้ เพื่อให้รู้ว่า เพลงนี้หอมนะ เรามีลูกโปร่งผูกกับเก้าอี้ให้จับ โดยช่วงแรกให้นักดนตรีเล่นเครื่องดนตรีทีละชิ้น แล้วให้เด็กๆ จับว่านี่คือ กีตาร์นะ คนหูดีไม่เคยทำก็ทำด้วย ทุกคนสนุกมาก คนทำเครื่องเสียงรู้ว่า จะทำคอนเสิร์ตเพื่อคนหูหนวก เขาก็เอาเครื่องเสียงดีๆ มาให้ เวลาเล่นเพลงเร็ว คนหูหนวกก็เต้นจังหวะเดียวกับคนหูปกติ เขาแค่ไม่ได้ยินเมโลดี้ แต่รู้ริทึ่มของเพลง อีกอย่างถ้าคนหูหนวกได้ฟังดนตรีจะเรียนรู้ได้เร็ว
เริ่มจากตั้งคำถามว่า ทำไมคนหูหนวกไม่ได้ดูคอนเสิร์ต

เมื่อไม่มีใครคิดเรื่องนี้ เราก็ทำ คนหูหนวกในเมืองนอกไปดิสโก้เทค ทำไมประเทศไทยไม่รู้เรื่องเหล่านี้ ทำออกมาแล้ว ฟินมาก ก็คิดว่าน่าจะเป็นบทเรียนให้คนอื่นๆ ทำต่อ โดยทำให้เห็นว่าไม่มีเงินก็ทำได้ เราเชื่อว่า ถ้าคนเบื้องบนจะให้เราทำอะไร มันมาเอง เราบอกผู้สนับสนุนรายการว่า ให้เอาเงินไปให้มูลนิธิเลย จัดการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นโมเดลที่ดีมาก และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับ รัน ฮีโร่ รัน ฉันจะวิ่งเพื่อเธอ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำเพื่อหาเงินซื้อเสื้อเกราะให้ทหารชายแดนใต้ โดยน้องมาแตร์มาบอกว่า มูลนิธินี้หาเงินลำบากมากได้แค่ปีละแสนนิดๆ เราโชคดีมากได้ออแกไนซ์ที่คิดค่าใช้จ่ายน้อยมาก เราก็บอกว่า เราต้องการได้เงินเยอะๆ เขาก็บอกว่า เงินเยอะคนต้องเยอะ โครงการนี้ได้ไปสี่ล้าน

คอนเซ็ปต์คือ เราจะเป็นฮีโร่ เมื่อเรามอบเสื้อเกราะให้ทหาร งานนี้มีแค่ฮีโร่มาวิ่ง ทุกบาททุกสตางค์ที่คนจ่าย ก็คือ เสื้อเกราะ พอเสร็จงานเราก็แจกแจงเงินที่ได้ในเฟสบุ้ค ไม่เว้นแม้เศษสตางค์ ซึ่งเรื่องแบบนี้ทุกคนก็รู้ และทำได้ จะทำหรือไม่ทำ เราไม่รู้ เราเคยได้ยินว่า คอนเสิร์ตการกุศลหลังหักค่าใช้จ่ายเพื่อการกุศลนิดเดียว แต่ทำให้คนซื้อบัตรรู้สึกดี

ย้อนไปถึงการตัดสินใจลาออกจากงานประจำวันเพราะอะไร
มีเพื่อนให้ช่วยแนะนำการสร้างแบรนด์กับคนอยากทำธุรกิจเพื่อสังคม ไปนั่งฟังไอเดีย ก็เลยรู้ว่า มีคนจำนวนมากอยากทำเพื่อสังคม เราชอบโมเดลที่เลี้ยงตัวเองได้ด้วย ทำเพื่อสังคมด้วย แต่ปัญหาคือ ตอนจะทำเป็นไอเดียใหญ่ที่จะขายหรือให้คนมาช่วย ปัญหาก็คือ ไอเดียไม่แรงและไม่ชัดพอที่จะมีผลกระทบต่อสังคม
ยกตัวอย่างสักนิด

มีน้องคนหนึ่งอยากทำท่องเที่ยวเพื่อคนตาบอด เราาทำโฆษณามาเยอะ ก็รู้ว่าไอเดียแบบนี้ไม่มีใครซื้อ น้องเขารู้สึกว่าคนตาบอดเวลาเรียนหนังสือจะเหนื่อยมาก เพราะไม่มีคนช่วย เราก็แนะนำว่า โครงการนี้น่าจะเป็นเรื่องการช่วยคนตาบอดเรียนหนังสือ และเราก็ตั้งแบรนด์ให้ the guidelight ประเด็นคือ คนตาบอดต้องมีบัดดี้ แล้วคนที่เป็นบัดดี้ก็จะเรียนเก่งไปด้วย น้องก็ไปออกแบบสิ่งที่ทำ ประสบการณ์ของเราช่วยตรงนี้ได้ จากที่เราแนะนำไป เขาทำแบรนด์มีเวปไซต์ช่วยคนตาบอดเรียนหนังสือ ตอนนี้ได้ทุนเยอะแยะ พ่อแม่เขาก็ภูมิใจมาก ธุรกิจเพื่อสังคมที่เราได้มาช่วยทำเพราะนุ้ย (พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์) จากมูลนิธิอาโชก้าเปิดโลกให้เราได้มาทำตรงนี้ในการแนะนำคนที่อยากสร้างแบรนด์เพื่อสังคม ทำแล้วมีความสุขมาก แค่ช่วยพลิกไอเดีย หา big idea พวกเขาก็ไปต่อได้
อีกแบรนด์ที่ช่วยตั้งให้คือ a-chieve.org เยาวชนกลุ่มนี้อยากทำโครงการ "โตแล้วไปไหน" เพื่อให้เด็กมัธยมรู้ว่า ค้นพบอาชีพที่ชอบ ซึ่งตอนนี้ทำเป็นบริษัทแล้ว ในประเทศมีพวกเขากลุ่มเดียวที่ทำสิ่งนี้ เป็นน้องเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เขาชัดว่าอยากแก้ปัญหานี้ให้สังคม เพราะเด็กไทยไม่รู้ว่า ตัวเองชอบอะไร เรียนจบแล้วก็ยังไม่รู้

เมื่อรู้ว่า ช่วยสร้างแบรนด์เพื่อสังคมให้คนรุ่นใหม่ได้ คุณทำยังไงต่อ
ตอนนั้นก็คิดว่า ถึงเวลาต้องลาออกจากงานประจำแล้ว เพราะรู้สึกว่า เวลาของชีวิตเหลือน้อย อยากทำอะไรอีกมากมาย
อายุยังไม่มากทำไมคิดอย่างนั้น

หลังจากทำคอนเสิร์ตเพื่อคนหูหนวกแล้ว เรารู้สึกตายได้แล้วนะ และยิ่งเห็นปัญหาเผาเมือง ก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ลาออกดีกว่า งานสร้างแบรนด์ก็ทำคนเดียวได้ เรารู้ว่า เราอยากทำอะไรและไม่อยากทำอะไร เราก็จัดเวลาจริงจัง

ตามประสานักสร้างแบรนด์ เมื่อบินเดียว ก็ต้องสร้างแบรนด์ สร้างคอนเซ็ปต์ให้ตัวเอง คุณวางแนวทางไว้อย่างไร
เหมือนคอนเซ็ปต์ซื้อรองเท้าหนึ่งคู่ ฟรีคู่หนึ่งเพื่อคนด้อยโอกาส แนวคิดแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างแบรนด์ให้คนรุ่นใหม่ที่อยากทำเพื่อสังคม โดยทำงานกับมูลนิธิอาโชก้า เราฟังไอเดียพวกเขาและแนะนำ ช่วยคิดสร้างแบรนด์เดือนละหนึ่งครั้ง กลายเป็นว่างานโฆษณาที่ทำฟรีมีมากกว่างานที่ได้เงิน ไม่เป็นไร เราเลือกที่จะทำงานให้ลูกค้าอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีงานที่ร่วมกับเพื่อนๆ ทำโครงการผูกปิ่นโตข้าว

ผูกปิ่นโตข้าว ที่กลายเป็นที่รู้จัก คุณช่วยทำส่วนไหน
ก่อนหน้านี้เคยทำเรื่องรำข้าว จนได้มาเจออาจารย์เดชา ศิริภัทร ได้รู้เรื่องชาวนา ก็ช้ำใจมาก เพราะระบบข้าวอินทรีย์ยังไม่ดีพอ ไม่มีการสนับสนุนให้มีการปลูก เราก็คิดว่า ผูกปิ่นโตข้าว เป็นโมเดลที่แก้ปัญหาเรื่องข้าวอินทรีย์ได้ เราได้รู้จักคุณฝนที่เป็นคนก่อตั้งเพจผูกปิ่นโตข้าว หลายคนช่วยกันคิด เราก็ช่วยคิดคอนเซ็ปต์ เจ้าบ่าว เจ้าสาวและแม่สื่อ ตอนนี้มีเจ้าสาวสามพันราย เราก็ใช้วิชาแบรนด์นี่แหละสร้างขึ้นมา ผูกปิ่นโตข้าวแก้ปัญหาสามอย่างคือ 1.ชาวนายากจน เพราะเขาไม่มีทางเลือกและไม่รู้ว่าจะทำยังไง ถ้าวันนี้เขาหักดิบเลิกปลูกข้าวใช้สารเคมีมาใช้อินทรีย์ ไม่มีใครอยู่กับเขาเลย 2.คนไทยสุขภาพไม่ดีและ 3.คนไทยไม่รักกัน

โมเดลนี้แก้ปัญหาเกษตรยากจนได้จริงหรือ
ได้ ง่ายมาก ชาวนาปลูกข้าวด้วยการใช้สารเคมี ไม่มีอะไรดีขึ้น ยากจนและดินแย่ แย่หมดทุกอย่างปลูกไปมีแต่ตาย พอมีคนบอกว่าปลูกข้าวอินทรีย์สิ ก็ไม่รู้จะขายใคร เพราะยังไม่ได้มาตรฐาน ใครจะซื้อข้าวคุณ แต่เราไปบอกว่า มีคนจะซื้อข้าวอินทรีย์ของคุณ ทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ได้มาตรฐาน แม่สื่อจะทำหน้าที่ขายเรื่องราว พาคนมาซื้อข้าวคุณ ส่วนเจ้าสาวก็ไม่เคยรู้เลยว่า ที่ผ่านมาคุณกินข้าวห่วยๆ แม่สื่ออย่างเราก็บอกว่า คุณมีทางเลือกใหม่ ช่วยชาวนาได้ด้วยและกินข้าวแบบนี้ดีต่อสุขภาพด้วย วันนี้ผูกปิ่นโตข้าวมีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีเครือข่ายชาวนาอินทรีย์ และชาวนา(เจ้าบ่าว)ที่โลภก็ไม่คู่ควรดูแลเจ้าสาว เพราะเขาดูแลใครไม่ได้ ตอนนี้ปลัดกระทรวงพาณิชย์บอกให้พาณิชย์ทุกจังหวัดรับโมเดลผูกปิ่นโตข้าวไปใช้ จ.อำนาจเจริญมีผูกปิ่นข้าวของตัวเอง เราตั้งใจแล้วว่า ทุกจังหวัดต้องมีเจ้าบ่าว เจ้าสาว และแม่สื่อของตัวเอง

โครงการนี้ แม่สื่ออย่างคุณทำอะไรบ้าง
ทำมาสองปีแล้ว ทุกสัปดาห์เราต้องผูกเจ้าสาวกับเจ้าบ่าว เอาข้อมูลมาดูว่า เจ้าสาวต้องการข้าวแบบไหน ต้องเลือกให้ได้ตามสเปค ตอนนี้มีเจ้าสาวสามพันกว่า เมื่อไม่นานแม่สื่ออย่างเราก็ไปเจอเจ้าบ่าวคุยเรื่องมาตรฐานข้าวอินทรีย์ 24 ข้อ เพื่อให้มั่นใจว่า ข้าวของเจ้าบ่าวเป็นอินทรีย์ เป็นความภูมิใจของพวกเรา ใครจะคิดว่า โครงการที่ผู้หญิงเมือง 13 คนทำ จะกล้ามีมาตรฐาน ถ้ามีองค์กรไหนอยากผูกปิ่นโตข้าว เราก็จะไปเป็นแม่สื่อเจรจา เมื่อเราได้ทั้งเจ้าบ่าว(ชาวนา) เจ้าสาว(คนซื้อ) และแม่สื่อ ก็จัดพิธีดูตัว

แล้วแบรนด์เสื้อหนึ่งตัว ส่งน้องหนึ่งคนเรียน 1 เดือน คุณสร้างแบรนด์ให้อย่างไร
เพราะเด็กมีทุนเรียนฟรี แต่ไม่สามารถเรียนได้ ต้นทุนชีวิตต่ำมาก เราทำงานกับมูลนิธิอีดีเอฟ เลือกนักเรียนประถมหกขึ้นมัธยมปีที่ 1 ทำโครงการ ToMorroW Charity ถ้าคุณซื้อเสื้อหนึ่งตัว สามารถช่วยส่งน้องเรียนหนึ่งเดือน เราอยากให้โครงการอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินบริจาค แต่คนต้องช่วยกันแบ่งปันโดยการซื้อเสื้อ ล่าสุดเราตั้งใจจะช่วยเด็กห้าร้อยคน ให้เด็กหนึ่งคนเรียนได้หนึ่งปี เท่ากับเสื้อหกพันตัว ตอนนี้ขายไปพันกว่าตัว ( www.tomorrowcharity.org)
อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้คนคุณอยากทำเพื่อคนอื่น

ที่โรงเรียนมาแตร์เดอี วิทยาลัย ไม่ได้บอกว่า เราต้องเป็นคนเก่ง เขาจะสอนว่า เราเกิดมาทำอะไรให้ใครได้บ้าง นั่นเป็นคุณค่าของมนุษย์ ในโรงเรียนจะมีบรรยากาศแบบนั้น ทุกคนต้องไม่ทิ้งขยะ ไม่เป็นภาระของใคร อีกอย่างคือ เขาจะพูดกันว่า เด็กมาแตร์หลอกใช้ง่าย ถ้ามีงานไหนที่ไม่มีใครทำ ฉันเอง และปกติที่อื่นจะให้รางวัลคนเรียนเก่ง แต่ที่นี่รางวัลที่นักเรียนอยากได้คือ เกียรติบัตร Serviam รางวัลที่รับใช้คนอื่น ที่มาแตร์ทำให้เรารู้สึกว่า เราเกิดมาด้วยหน้าที่อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นเด็กมาแตร์จะต้องเคยไปบ้านเด็กด้อยโอกาส ตาบอด หูหนวก ซึ่งเขาทำให้เห็นว่า ทุกคนเกิดมาไม่เท่ากัน มีคนที่ลำบากกว่าเรา เราต้องเป็นผู้ให้

อยู่ในวงการโฆษณานานกว่า 20 ปี อะไรคือความท้าทาย
คงเรื่องแบรนด์ เราทำโฆษณาตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีคำว่าแบรนด์ แต่จริงๆ มีมานาน ตอนนั้นได้เห็นวิธีสร้างแบรนด์ orange สื่อสารกับคนในแบบที่คู่แข่งทำไม่ได้ แม้ในเมืองไทยแบรนด์นี้ไม่เหลือแล้ว แต่ในเมืองนอกยังเป็นแบรนด์ระดับโลก และโชคดีได้ทำโฆษณากับแบรนด์นี้ และทำให้รู้ว่า มีวิชาแบรนด์ดิ้ง ซึ่งแบรนด์นั้น เป็นแบรนด์แรกๆ ในโลกที่เอาวิชาสมัยใหม่มาทำแบรนด์ ก็เลยได้วิชานี้จากที่ฝรั่งสอน และชอบมาก ทำให้รู้ว่าทุกอย่างเป็นแบรนด์ ทำให้รู้ว่า เราอยู่บนโลกนี้เพราะอะไร

นั่นเป็นการคิดแบบคนโฆษณาหรือเปล่า
เราคิดจากความเข้าใจ เมื่อเรารู้ว่า ทุกคนเป็นแบรนด์หมด สิ่งของไม่มีชีวิตก็คือแบรนด์ และมีคุณค่าในตัวเอง อย่างบาร์ บี กอน (มาสคอตของร้านบาร์บีคิวพลาซ่า) ก็เป็นแบรนด์ ตัวเราก็เป็นแบรนด์เหมือนกัน เราต้องหาตัวเองให้เจอว่า จะทำอะไรและไม่ทำอะไร และการดำรงอยู่ของเราเพื่ออะไร เราจะมีบทบาทอะไรต่อผู้คน