ปรับตัวลง

ปรับตัวลง

หาจังหวะซื้อเมื่อดัชนีย่อลง เก็บสะสมหุ้นที่ราคาไม่แพงและมีพื้นฐานดี มี story หนุนเป็นรายตัว

UOBKH แนวโน้มตลาดวันนี้ : ปรับตัวลง

ทิศทางตลาดหุ้นไทยวันนี้ คาดว่าจะปรับตัวลงจากปัจจัยลบภายในประเทศ ทั้งการเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือน เม.ย. 2559 ของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าอยู่ที่ 49.8 ซึ่งการที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นั้นลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากความกังวลเรื่องภัยแล้งและค่าครองชีพ อีกทั้งตลาดในภูมิภาคเช้านี้ปรับตัวลงเช่นกัน

แนวรับ/แนวต้าน : 1385/1410 สัดส่วนการลงทุน : เงินสด 40% : พอร์ตหุ้น 60%

กลยุทธ์ : หาจังหวะซื้อเมื่อดัชนีย่อลง เก็บสะสมหุ้นที่ราคาไม่แพงและมีพื้นฐานดี มี story หนุนเป็นรายตัว และคาดจะรายงานงบออกมาดีในปีนี้

หุ้นแนะนำ

1. ERW (5.3) : เราคาดว่า ERW จะประกาศกำไรสุทธิในงวด 1Q59 ในวันที่ 12 พ.ค.59 จะใกล้เคียงกับกำไรปี 58 ทั้งปี และผลประกอบการ 2Q59 ยังมีลุ้นเป็นบวกครั้งแรกในรอบหลายปี เนื่องจากได้รับผลบวกจากนักท่องเที่ยงโดยเฉพาะชาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกทั้งปีนี้มีวันหยุดยาวหลายวัน ทั้งนี้ปัจุบันราคาหุ้นยังขึ้นมาไม่มากหากเทียบกับหุ้นในกลุ่มโรงแรม

2. THAI (17) : เราคาดว่าผลประกอบการได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยในปี 58 THAI ได้ทำการปฏิรูปองกรค์โดยมีค่าใช้จ่ายในการลดพนักงานไปกว่า 4,600 ล้านบาท และบันทึกด้อยค่าทรัพย์สินไปกว่า 12,000 ล้านบาท โดยในปี 59 ยังได้รับผลบวกจากการท่องเที่ยวที่ยังแรงต่อเนื่องประกอบกับการรับรู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่ต่ำเต็มที่เมื่อเทียบกับปี 58 ที่ทำประกันราคาน้ำมันในระดับสูงที่ 80-90 เหรียญ/บาเรลล์ ปัจจัยลบของ THAI เหลืออยู่ไม่มากแล้ว เราจึงแนะนำ ซื้อ เพื่อเก็งผลประกอบการในงวด 1Q/59 ที่จะประกาศในวันที่ 16 พ.ค.59 นี้

3. KCE (91) : เราคาดว่าผลประกอบการ 1Q59 (10 พ.ค. 59) จะเติบโต 12% qoq และ 47% yoy โดยได้ผลบวกจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในงวด 1Q59 ที่คาดว่าจะปรับตัวขึ้นเป็น 90% เทียบกับ 4Q15 ที่ 83% และคาดผลประกอบการจะเติบโตต่อเนื่องอย่างน้อยจนถึง 3Q59 เนื่องจากแนวโน้มคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากการลดราคาสินค้า ซึ่งจะไม่กระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้นเนื่องจากประสิทธิภาพของเครื่องจักรในโรงงานใหม่ที่ดีขึ้นและผลแห่งการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale)



ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุน

ปัจจัยภายในประเทศ

- กกร. ประเมินเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจ คาดครึ่งปีหลังฟื้น คงเป้าจีดีพี 3-3.5% ส่วนส่งออก โต 0-2% ด้าน สรท.ห่วงส่งออก หลังไตรมาสแรกตลาดเพื่อนบ้านติดลบ สวนทางนโยบายขยายตลาด ขณะ "ไอเอ็มเอฟ" หั่นคาดการณ์เอเชีย รวมไทยพร้อมเตือนรับมือความผันผวนเพิ่มขึ้น

- ค้าปลีกชี้ไร้สัญญาณบวกฉุดกำลังซื้อวูบหนักรอบ 20 ปี ปรับประมาณการเติบโตปีนี้เหลือ 2.8% หลังไตรมาสแรกขยับเพียง 2.6% กระทุ้งรัฐปลุก ผู้บริโภคระดับ "กลาง-บน" ใช้จ่าย เดินหน้าดันนโยบาย ท่องเที่ยวเชิงชอปปิง พร้อมชงโมเดล "ดิวตี้ฟรีซิตี้" 10 เมืองท่องเที่ยว หวังเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สกัดช้อปต่างประเทศ

+ ทอท. เล็งหาแนวทางสร้าง 2 สนามบินใหม่ภาคใต้และเหนือ เดินหน้าศึกษาพื้นที่ศักยภาพ เหมาะสมที่พังงา และเลือกระหว่างลำพูนหรือลำปาง เป็นทางเลือกรับแผนลงทุนในอนาคต หลังพบว่าแผนแม่บทในการพัฒนาสนามบินทั้ง 6 แห่งที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ขยายจนเต็มศักยภาพสูงสุดแล้ว เหตุโลว์คอสต์แอร์ไลน์โตเร็วและแห่บินตรงเข้าภูมิภาคหลัก ทั้งเตรียมชงแผนแม่บทพัฒนาสนามบินเชียงใหม่ เข้าบอร์ดภายในเดือนนี้

+ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.เตรียมจับมือกับสายการบินดัง 4 สายการบิน ได้แก่ สายการบิน เอมิเรตส์ เอทิฮัด กาตาร์ แอร์เวย์ และสายการบินไทย (ทีจี) ออกโปรโมชั่นกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยร่วมกัน อาทิ ตั๋วเครื่องบินราคาพิเศษ บัตรกำนัล (วอชเชอร์) ห้องพัก เป็นต้น เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะยุโรปให้เดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มสายการบินดังกล่าว มีฐานลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรปจำนวนมาก และคาดว่าในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางมาประเทศไทยเพิ่มขึ้น 8%

ปัจจัยต่างประเทศ

- ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 17,750.91 จุด ร่วงลง 140.25 จุด หรือ -0.78%

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (3 พ.ค.) หลังจากราคาน้ำมัน WTI ร่วงลงกว่า 2% ซึ่งได้ฉุดหุ้นกลุ่มพลังงานดิ่งลงด้วย นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันหลังจากมีรายงานว่า ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนและอังกฤษอ่อนแรงลง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

- ดัชนี FTSE 100 ปิดปรับตัวลง 56.30 จุด หรือ 0.90% แตะที่ 6,185.59 จุด

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (3 พ.ค.) จากการปรับตัวลดลงของหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะได้รับแรงกดดันจากข้อมูลที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอของภาคการผลิตอังกฤษ

+ สัญญาน้ำมันดิบส่งมอบเดือนมิ.ย.ร่วงลง 1.13 ดอลลาร์ หรือ 2.5% ปิดที่ 43.65 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส ตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงเมื่อคืนนี้ (3 พ.ค.) เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาด หลังจากมีรายงานว่าประเทศตะวันออกกลาง รวมถึงอิหร่านและอิรัก ได้เพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐจะปรับตัวสูงขึ้นอีก