จบวิศวกรสู่วิถีเถ้าแก่ นักวิ่งชนโอกาส

จบวิศวกรสู่วิถีเถ้าแก่ นักวิ่งชนโอกาส

ดินนอกเส้นทางจบวิศวะฯเป็นเซลล์แมน ’โชติก รัศมีทินกรกุล’ สร้างตัวเป็นเถ้าแก่จนพอร์ตขยายตัวแตะพันล้าน บนหลักคิด"หมั่นวิ่งหาโอกาส"

บัณฑิตจากคณะวิศกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เส้นทางคนส่วนใหญ่ในสมัยนั้น หลังเรียนจบคณะนี้ 80-90 % จะมุ่งสู่อาชีพรับราชการ และรัฐวิสาหกิจ เป็นหลัก 

ทว่า สำหรับ โชติก รัศมีทินกรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีที เวลธ์ อินดัสตรีส์ จำกัด (มหาชน) กลับฉีกเส้นทางเดินมาเป็น “เซลล์แมน ตัวแทนบริษัทเอกชนสัญชาติอเมริกัน จำหน่าย “ท่อเหล็กคุณภาพสูง" ป้อนให้กับผู้สร้างโรงไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน ฯลฯ วิศวกร ผู้คิดนอกกรอบไม่เดินตามกระแส เล่าย้อนถึงตัวเอง เมื่อวัยละอ่อน

“ผมเป็นคนชอบคิดนอกกรอบ ชอบออกแบบชีวิตตัวเอง เพราะเชื่อว่าการเป็นเซลล์แมนจะทำให้ได้พัฒนาตัวเองแบบไร้ขีดจำกัดต่างจากเพื่อนที่พอจบวิศวะฯที่มาติดกับดักด้วยการรับราชการ”

จบวิศวะฯ แต่มาเป็น “เซลล์แมน” สำหรับเขายังกลายเป็น “แต้มต่อ” ยกระดับสู่การเป็นเซลล์แมนพรีเมี่ยม ทำได้ทั้งการดีลงาน อธิบายเทคนิคเชิงลึกด้านงานวิศวกรรม จนลูกค้าเข้าใจแจ่มแจ้ง 

งานแรกๆ คือการเป็นเซลล์แมนที่ปรึกษาจำหน่ายระบบท่อความร้อนให้กับโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ เขาเล่า

“ระบบการวางท่อต้องใช้ความชำนาญเฉพาะวิศวกรเทคนิคเชิงลึก ไม่ใช่ซื้อมาแล้วติดตั้งได้เลย วาล์วตามข้อต่อต้องแน่นเพื่อป้องกันการรั่วซึม”

เมื่อทำงานจนเชี่ยว เริ่มมีคอนเน็กชั่นมากขึ้นๆ อาชีพการงานก็เดินมาถึงจุดเปลี่ยน

ในปี 2530 ที่ผันตัวเองจากเซลล์แมน ขอมาเป็น “เถ้าแก่” ลงทุนนำเงินที่เก็บหอมรอบริบ 80 ล้านบาท บวกกับเงินกู้ รวมเป็นเงินกว่า 100 ล้านบาท ร่วมกับพันธมิตรสิงคโปร์ เปิดโรงงานผลิตท่อเหล็กของตัวเอง ประกอบกับ เป็นช่วงที่ประเทศไทย กำลังขยายโรงไฟฟ้าจำนวนมาก เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศจาก 8,000 เมกะวัตต์ เป็นกว่า 3 หมื่นเมกะวัตต์ในปัจจุบัน 

ธุรกิจไปได้สวย แม้ในปี 2540 ประเทศไทยจะเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำเอาธุรกิจอื่นเจ็บตัวระนาว แต่ไม่ใช่บีทีฯ ที่มีโชคช่วยจากการรับคำสั่งซื้อเป็นเงินดอลลาร์ เมื่อบาทอ่อนทำให้เงินดอลลาร์แปลงเป็นเงินบาทมากขึ้นมหาศาล

สร้างโรงงานได้ 2 ปีก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ยุคค่าเงินบาทลอยตัว อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 52-57 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เราได้กำไรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

จากนั้นมา พอร์ตธุรกิจก็ค่อยๆไต่ระดับจาก 20 ล้าน ขยายสู่มูลค่าหลักร้อยล้าน และเพิ่มเป็นพันล้านในปัจจุบัน 

ขณะที่ธุรกิจท่อเหล็ก รุกขยายสู่การผลิตเหล็กที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมก๊าซและปิโตรเลียม เช่น วาล์ว และข้อต่อ ครอบคลุมไปถึงการวางโครงสร้างระบบให้กับโรงงานในอุตสาหกรรม แบบเทิร์นคีย์ (พัฒนาโครงการเสร็จในสภาพพร้อมใช้งานก่อนส่งมอบผู้ซื้อ) 

แม้ว่าช่วงแรกจะไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ด้วยความที่กลัวเสียโอกาสจึงไม่หยุดที่จะเรียนรู้  จนได้งานวางระบบเหมืองแร่ โซโลมอน (Solomon Iron ore) ในประเทศออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่งร่วมวางระบบท่อโครงการบำบัดน้ำเสียชางงี ที่สิงคโปร์

ตลาดท่อเหล็กของเขาจึงขยายวงกว้างทำตลาดในประเทศ สู่ต่างประเทศ ทั้งการส่งออกสินค้า และรับงานเทิร์นคีย์ ตั้งแต่ ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว ปาปัวนิกินี อินโดนีเซีย จีน แคนาดา และออสเตรเลีย รวมๆแล้วมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก 

“ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา มีงานวางระบบขยับจากหลักร้อยล้าน เป็นหลักพันล้าน ผลงานชิ้นโบว์แดง คือโครงการเหมืองแร่ Roy Hills ประเทศออสเตรเลีย มูลค่าโครงการ 105.6 ล้านดอลลาร์(3,697ล้านบาท),โครงการเหมืองแร่ Solomon Iron ore ประเทศออสเตรเลีย” 

กว่าจะผ่านงานชิ้นใหญ่ยักษ์มาได้ เขาเล่าว่า ต้องปวดหัวกับโครงการที่ซับซ้อนมามากต่อมาก เพราะการรับเทิร์นคีย์โรงงานขนาดใหญ่ ไม่เพียงผลิต ประกอบใหม่ และขนส่งไปให้ลูกค้าเท่านั้น แต่สินค้าที่ผลิตขึ้นยังพร้อมยกไปติดตั้งในต่างประเทศได้เลย

โชติก ยังเล่าว่า ระหว่างเผชิญปัญหาการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังท่าเรือสัตหีบ จากต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น กลายเป็นการสร้างโอกาสใหม่อีกครั้ง กับแนวทาง “ปลดล็อก” ปัญหาด้วยการสร้าง “โรงงานอีกแห่ง” ไม่ไกลจากท่าเรือเพื่อความสะดวกในการลำเลียงสินค้า ต่อจิ๊กซอว์โปรเจคใหม่ในอนาคต

“โปรเจคโซโลมอนเป็นงานที่ยากเราจึงย้ายมาผลิตที่โรงงานซึ่งห่างจากท่าเรือสัตหีบเพียง 40 กม. งานโซโลมอนทำให้ธุรกิจมีรายได้ก้าวกระโดดในปี 2556 งานหนักมากต้องคิดแก้ไขปัญหาระหว่างทาง แก้ปัญหาเฉพาะหน้าจนผ่านมาได้ เป็นบททดสอบทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์ ส่วนคุณค่าจากการทำงานชิ้นนี้คือ การเรียนรู้การอ่านแบบที่ซับซ้อน และบริหารจัดการชิ้นส่วนนับ 1 ล้านชิ้นให้มาเป็นโครงสร้างพร้อมส่งมอบ”

ผ่านบททดสอบที่ยากขึ้นอีกขั้นจากโปรเจคระดับพันล้าน

เรื่องซับซ้อนก็ต้องพร้อมบริหาร ไม่เหนื่อยไม่กังวล สิ่งที่ยากก็ผ่านมาหมดแล้วตั้งแต่กำลังการผลิตไม่พอ ทำงานใหญ่เกินตัว" 

กลายเป็นการตกผลึกวิธีคิดและการมองโลก จากปัญหาที่เผชิญ คือ ต้องคว้าโอกาสควบคู่กับการลงมือทำและเรียนรู้เสมอ เพราะโอกาสคือ “สมบัติล้ำค่า” ที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ 

เมื่อเข้ามาหาแล้วต้องใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด

ผมมองว่าโอกาสไม่ค่อยมาง่ายๆ เหมือนโชคไม่ได้มาชนเราทุกวัน ผมจึงเป็นคนงกโอกาส เพราะมันเป็นเรื่องที่เหนือการควบคุม เพื่อได้โอกาสทำงานแล้ว ทุกอย่างก็ต้องควบคุมให้ได้ ตั้งแต่เพิ่มคน ลงทุน จัดระบบหมวดหมู่ ทำทุกอย่างเพื่อไปสู่ความสำเร็จ

สำหรับธุรกิจในปี 2559 เขามีแผนที่จะลงทุน 450 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงการผลิตที่โรงงาน 2 แห่งในจ.ฉะเชิงเทรา และอำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี 

เขายังเชื่อว่า มีโอกาสรออยู่อีกมาก ทั้งตลาดต่างประะทศ และตลาดในประเทศจากมูลค่าตลาดผู้ผลิตเหล็กโครงสร้าง ที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 5 หมื่นล้านบาท 

“เป้าหมายของผม ขอแค่ส่วนแบ่งตลาดในประเทศสัก 10% ของเค้กชิ้นนี้ก็พอแล้ว”  

โชติก ยังเล่าว่า ปัจจุบันมีรายได้ที่รอการรับรู้ (แบ็คล็อก) ของบีทีฯ อยู่ที่ 820 ล้านบาท และคาดว่าจะมีโอกาสพัฒนาโปรเจคมากกว่า 7 พันล้านจนถึงหมื่นล้านบาทต่อปี 

“มีความเป็นได้อีกมากมายจากงานทั่วโลกเพียงแต่บริษัทเหล่านั้นต้องการบริษัทที่น่าเชื่อถือ  ซึ่งเราต้องสร้างความน่าเชื่อถือให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากการสั่งสมประสบการณ์จากโปรเจคขนาดใหญ่”

พร้อมไปกับการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อการันตีความน่าเชื่อถือ 

“ลูกค้าจะถามหาความมั่นใจ หากรู้ว่าเราเป็นบริษัทมหาชนจะคุยกันง่ายขึ้น เป็นสาเหตุทำให้เขานำบริษัทเข้าจะทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในชื่อ บีที เวลธ์ อินดัสตรีส์ จำกัด โดยจะยื่น Filing (ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์) รอบ2 ในไตรมาส 2 ปีนี้”

สำหรับผลประกอบการที่ผ่านมาพบว่า ปี 2555 มีรายได้รวม 3,750 ล้านบาท ปี 2556 รายได้รวม 3,582 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้รวม 2,742 ล้านบาท และ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2558 มีรายได้รวม 1,555 ล้านบาท 

แม้รายได้จะมีแนวโน้มลดลง ทว่า โชติก บอกว่า เพราะช่วงปีหลังๆ เป็นช่วงของการขยายงาน แต่หากพิจารณากำไรจะพบว่ายังคงเติบโต โดยในปี 2555 มีกำไร 371 ล้านบาท ปี 2556 มีกำไร 1,185 ล้านบาท ปี 2557 มีกำไร 325 ล้านบาท และ 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ปี 2558 มีกำไร 505 ล้านบาท 

ลุ้นกันต่อไปว่า เซลล์แมนที่ผันตัวเองเป็นเจ้าของกิจการ จะคว้าโอกาส อีกครั้งได้สำเร็จหรือไม่ ?