'มีชัย'ยันกรธ. ไม่เลี่ยงลงพื้นที่สีแดง

'มีชัย'ยันกรธ. ไม่เลี่ยงลงพื้นที่สีแดง

“มีชัย” ยัน กรธ. ไม่เลี่ยงลงพื้นที่สีแดง แต่จะสุ่มลงพื้นที่ตาม สถาบันวิชาการเลือกให้

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ ก่อนการประชุมกรธ. เพื่อพิจารณาแผนการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า ในพื้นที่ของภูมิภาคต่างๆ ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง หรือพื้นที่สีแดง ซึ่งมีความเห็นต่างทางการเมืองสูงนั้น กรธ. จะไม่เลี่ยงการลงพื้นที่ดังกล่าวและจะลงพื้นที่ตามปกติ อย่างไรก็ตามสำหรับกระบวนการทำงานของกรธ. ต่อการลงพื้นที่นั้น เบื้องต้นในระดับอำเภอ และหมู่บ้าน กรธ.จะใช้วิธีการสุ่มเลือกเวทีที่จะลงไปร่วมฟังการอธิบายและตอบคำถามของชาวบ้าน ดังนั้นการจะลงพื้นที่ใดบ้าง ต้องขึ้นอยู่กับผลการสุ่มเลือก ที่จะดำเนินการร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อีกครั้ง

“ในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ผมเชื่อว่าอาสาสมัครซึ่งเป็นคนในพื้นที่จะรู้ดีกว่า ทั้งนี้ กรธ. ไม่ได้ลงไปจัดการเขา เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีคนในพื้นที่ส่งไปอยู่แล้ว ทั้งนี้เชื่อว่าคนในพื้นที่น่าจะรู้ดี ส่วนกรณีที่กรธ.จะลงไปในพื้นที่ใดนั้น คงไม่ถึงขั้นต้องขอกำลังพิเศษในการดูแล แต่ก่อนการลงพื้นที่ใดๆ นั้น กรธ.ต้องขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติทุกครั้ง เพราะขณะนี้คำสั่งคสช. ที่ห้ามชุมนุมยังมีผลบังคับใช้” นายมีชัย กล่าว

นายมีชัย กล่าวถึง มาตรการของฝ่ายความมั่นคงที่ประกาศมาตรการจับผู้ที่ป่วนเวทีชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญทันทีโดยไม่ตักเตือน ว่า มาตรการดังกล่าวไม่สามารถทำให้กรธ. มั่นใจอย่างที่สุดว่า จะไม่มีผู้มาสร้างความวุ่นวายในระหว่างการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ตนเชื่อว่าผู้ที่เป็นอาสาสมัครฯ ของกรธ. ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ย่อมทราบดีว่าจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้การแสดงความเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องไม่ใช่การสร้างเหตุก่อกวนหรือก่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือแสดงความเห็นด้วยคำพูดก้าวร้าว หรือใส่ร้าย หรือบิดเบือน สำหรับการทำเวทีของกรธ. นั้นนอกจากมีผู้ชี้แจงแล้ว ยังจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีข้อสงสัยได้ซักถาม โดยกระบวนกระบวนการชี้แจงนั้น กรธ. จะทำคู่มือ ที่มีลักษณะ คำถาม คำตอบให้วิทยากรกระบวนการ และอาสาสมัครประชาธิปไตยระดับพื้นที่ใช้เป็นแนวทางชี้แจง แต่หากมีคำถามที่นอกเหนือจากนั้น กรธ. จะเปิดคอลเซ็นเตอร์ให้ซักถามกรธ. ได้โดยตรงและจะจัดให้กรธ. ที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการ ร่วมตอบคำถามด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นห่วงกระบวนการประชาสัมพันธ์โดยอาสาสมัครฯ หรือไม่ว่าจะแปลงสาร เพราะเป็นการพูดปากต่อปาก นายมีชัย กล่าวว่า เป็นห่วง เพราะการอบรมวิทยากรนั้นใช้ช่วงเวลาเพียง2วัน ดังนั้นผู้ที่เข้าอบรมอาจเข้าใจไม่ถ่องแท้ ดังนั้นจึงต้องให้กรธ. สุ่มลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบดูแล การชี้แจง อธิบาย หรือเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีความคลาดเคลื่อนหรือไม่ ต้องแก้ไขหรือไม่ ซึ่งกรธ. จะทำเท่าที่ทำได้