ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำสุดในรอบ 7 เดือน

ม.หอการค้าไทย เผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดใน 7 เดือน เหตุประชาชนกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า-ภัยแล้ง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายน 2559 ว่า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 อยู่ที่ระดับ 72.7 เนื่องจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวค่อนข้างช้า โดยยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้ง ราคาพืชผลทางการเกษตร รวมถึงการหารายได้ ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศไม่มาก ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังกังวลปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวระดับสูง แม้การท่องเที่ยวและการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัว โดยมูลค่าส่งออกเดือนมีนาคม 2559 มูลค่าสูงถึง 19,124.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่ผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ปัจจุบันและอนาคตไม่ได้เพิ่มขึ้น

ส่วนดัชนีความเหมาะสมซื้อรถยนต์คันใหม่ปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำที่สุดรอบ 78 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 81.3 สะท้อนให้เห็นว่ายังไม่เหมาะสมซื้อรถยนต์คันใหม่ ขณะที่ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเดือนเมษายน 2559 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภครคะมัดระวังการใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดรอบ 7 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 มาอยู่ที่ระดับ 74.3 เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความกังวลเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าและต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าการฟื้นตัวของการบริโภคจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปีนี้ ถ้าสถานการณ์ความผันผวนเศรษฐกิจโลกคลี่คลาย คาดว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 2.8

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงเงินเฟ้อเดือนเมษายนกลับมาเป็นบวกว่า เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยยังคงต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อใกล้ชิดอีก 2-3 เดือน เงินเฟ้อที่เป็นบวกเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลต่อราคาพืชผลทางการเกษตรให้ปรับตัวสูงขึ้นช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ดี ปัจจัยเสี่ยง คือ ราคาน้ำมันและเศรษฐกิจโลก ภัยแล้งช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ถ้ารุนแรงมากอาจส่งผลให้เงินเฟ้อติดลบอีกครั้ง

ทั้งนี้คาดช่วงเปิดเทอมปี 2559 จะมีเงินสะพัด 40,000-50,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่ผู้ปกครองจะมีการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยจะเลือกซื้อสินค้าที่มีความเหมาะสมคุ้มค่า ส่วนโปรโมชั่นอาจจะดึงดูดแต่ไม่กระตุ้นยอดขาย อาจจะมีการใช้บัตรเครดิตเพื่อซื้ออุปกรณ์การเรียนและการกู้นอกระบบมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมมากขึ้น