สายใยบนสังเวียนหมัด ชุ้น-เดียร์ เกียรติเพชร

สายใยบนสังเวียนหมัด  ชุ้น-เดียร์ เกียรติเพชร

เลาะขอบสังเวียนผ้าใบทำความรู้จัก “ชุ้น เกียรติเพชร” โปรโมเตอร์ชื่อดัง เจ้าพ่อมวยตู้ ใช้ชีวิตอยู่ในวงการมวยมายาวนานกว่าครึ่งชีวิต

เลาะขอบสังเวียนผ้าใบทำความรู้จัก “ชุ้น เกียรติเพชร” โปรโมเตอร์ชื่อดัง ใช้ชีวิตอยู่ในวงการมวยมายาวนานกว่าครึ่งชีวิตและได้รับความไว้วางใจจากแฟนมวย  

ศึกกำปั้นใดไม่ว่าจะเป็นรายการเล็กหรือรายการใหญ่ หากปรากฏชื่อ “ชุ้น เกียรติเพชร” ไม่เคยสร้างความผิดหวังให้กับแฟนมวยที่จะพบกับคู่มวยมัน-มวยสนุกได้เปรี้ยวปากทุกคู่ การันตีได้จากประสบการณ์กว่า 40 ปีในแวดวงหมัดมวย ทั้งยังส่งต่อวิถีแห่งกีฬาลูกผู้ชายนี้ให้กับลูกชายหัวแก้วหัวแหวน “เดียร์ เกียรติเพชร”

๐ นักสู้รุ่นพ่อ
ย้อนเส้นทางชีวิตของผู้ชายที่ชื่อ พีรพงศ์ ธีระเดชพงศ์ หรือ เฮียชุ้น ผู้พ่อ กับก้าวแรกสู่สังเวียนผืนผ้าใบเขาเล่าว่าเริ่มต้นจากอาชีพนักมวยมาก่อน
“ผมเป็นคนจังหวัดเพชรบุรี เริ่มจากชกมวยแถวบ้าน เห็นเพื่อนๆ ต่อยก็ตามไปต่อยบ้าง จากนั้นก็เข้ามากรุงเทพฯ ได้มาอยู่ในความดูแลของ หัวหน้าศักดิ์ณรง เป็นลูกน้องติดสอยห้อยตามท่านอยู่พักหนึ่ง ตอนหลังได้ความอนุเคราะห์จากคุณไฉน พงษ์สุภา ผู้ใหญ่อีกท่านซึ่งผมนับถือเหมือนพี่ชาย พาเข้าไปพบคุณสมภพ ศรีสมวงษ์ ก็เลยได้มาเป็นผู้ช่วยคุณสมภพที่สนามมวยช่อง 7 หลังจากนั้นก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโปรโมเตอร์ ปี 2530 และ 6 ปีถัดมาได้มาบรรจุเป็นโปรโมเตอร์ให้สนามมวยลุมพินี”

๐ ชีวิตโปรโมเตอร์ไม่ง่าย
ปัจจุบันแม้วงการมวยไทยจะมีโปรโมเตอร์มวยเยอะขึ้น เพราะใครๆ ก็สามารถเข้ามาเป็นได้ แต่จะเป็นโปรโมเตอร์ที่แฟนมวยยอมรับนั้นมีน้อย ซึ่งแน่นอนว่าโปรโมเตอร์ยอดนิยมของคนดูคือโปรโมเตอร์มวยรายการทีวี
“โปรโมเตอร์เป็นงานที่ใช้ทั้งสมอง ความคิดต้องละเอียด นักมวยเมืองไทยมีเป็นแสนๆ คน มีหลายรูปแบบ ทั้งชกแบบป้องกันตัว ชกแบบถนัดออกอาวุธ ต้องรู้จักคัดสรร ว่าจัดงานประเภทนี้ควรเลือกนักชกแบบไหน รู้ว่ามวยแบบนี้ต้องชกกับมวยแบบไหน จัดคู่อย่างไรให้ต่อยสนุก” ผู้จัดมวยระดับเซียนบอกเล่า
ศิลปะของการ “จัดมวย” ไม่เพียงคัดสรรหาคู่ชกที่ “สมน้ำสมเนื้อ” เพราะมากกว่าประสบการณ์ที่สั่งสม ก็ยังต้องมี “คอนเนคชัน” หรือความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นทุน ซึ่งสิ่งนี้อาจไม่ได้มีในตัวโปรโมเตอร์ทุกคนเช่นกัน
เฮียชุ้นเล่าจากประสบการณ์จริงว่าจัดรายการแต่ละครั้ง ต้องจัดมวยสิบคู่ จึงเท่ากับต้องสัมผัสกับนักมวยยี่สิบคน และหัวหน้าอีกยี่สิบคน โปรโมเตอร์จะต้องประสานงานและแก้ปัญหาทุกอย่าง เช่น หากกรณีนักมวยเกิดไม่สบาย หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน บางทีพรุ่งนี้จะต่อยแล้ว กลางคืนยังโทรมาถอนตัวหรือนักมวยหนีไปแล้วก็มี หากสายป่านไม่ยาวจริงก็คงอยู่ไม่ได้
แต่ถ้าถามว่า นักมวยที่ดีต้องเป็นอย่างไร เขาบอกเล่าตามประสาคนประสบการณ์โชกโชนว่า นักมวยที่ดีคือนักมวยที่ใช้ศิลปะมวยไทยได้ดี ต้องขยันออกท่าแม่ไม้สม่ำเสมอ มวยคู่นั้นถึงจะสนุก

๐ มวยไทยสร้างชีวิต
อย่างไรก็ตาม โปรโมเตอร์มวยทีวีก็ต้องมีนักมวยในเครือข่ายหรือสังกัด เพราะจัดรายการแต่ละครั้งใช้ทรัพยากรนักมวยไม่น้อย ค่ายเกียรติเพชรของเขาจึงต้องมีนักมวยตั้งแต่วัยใสจนถึงรุ่นเก๋าเดินขวักไขว่รอขึ้นสังเวียน
“นักมวยส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน เพราะฐานะทางครอบครัวที่ค่อนข้างยากจน เรียกว่าเจ็ดสิบแปดสิบเปอร์เซนต์อยากเป็นนักมวยทั้งนั้น อายุสิบสองสิบสามก็หัดชกมวยกันแล้ว เพราะมองว่าเป็นรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้ บางคนส่งตัวเองเรียนจนจบปริญญาตรี ไปเป็นนายอำเภอ เป็นรองผู้ว่าฯ ก็มีมาแล้ว หรือบางคนถ้ารู้จักเก็บหอมรอมริบก็ไปซื้อไร่นา ไปค้าขายกันเยอะ บางคนเก่ง อายุมากหน่อยก็ไปเทรนเนอร์ ครูสอนมวยต่างประเทศก็มี”
มวยตู้หรือมวยทีวี จึงเป็นเป้าหมายของโปรโมเตอร์หรือแม้แต่นักมวยทุกคน เพราะช่วยกรุยทางสร้างชื่อเสียงได้ เนื่องจากมีฐานคนดูมหาศาล
"ต่อยออกทีวีสองสามครั้งก็ดังแล้ว เชื่อไหมนักมวยค่าตัวเป็นแสนแต่ไม่เคยออกทีวี ยังเป็นที่รู้จักหรือดังน้อยกว่านักมวยค่าตัวสองหมื่นที่ได้ออกทีวี ไปจัดต่างจังหวัด นักมวยนี่เหมือนดาราเลยนะ ชาวบ้านไปยืนดูกันอยากเห็นอยากรู้จัก ไปถ่ายรูปขอลายเซนก็มี เอาของมาให้ คนมาดูทีสี่ห้าพันคน”
ส่วนที่มาของฉายา “เจ้าพ่อวงการมวยตู้” นั้น เกิดจากความยอมรับในฝีมือของเขาที่มักจับคู่ชกได้โดนใจคนดู ซึ่งยังทำให้เขาได้รับรางวัลโปรโมเตอร์ดีเด่นสี่ปีติดต่อกัน
“ผมให้ความสำคัญกับคนดูมากที่สุด แต่การจะรักษาคนดูเอาไว้ได้ก็ต้องรักษาคุณภาพ ยิ่งถ้าเราพัฒนาคุณภาพ เรตติ้งจะยิ่งขึ้น มีคนดูเพิ่มขึ้นตลอด” เฮียชุ้นกล่าวย้ำ
เขาเปรียบเทียบแฟนมวยเป็นเสมือนตาชั่ง ที่ทำหน้าที่คอยกำกับความเที่ยงตรงของนักมวยแต่ละคู่บนเวที ทุกวันนี้แฟนมวยเก่งขึ้น เพราะดูมวยกันทุกวันเป็นสิบๆ ปี จนรู้ลึก เรียกได้ว่าคนดูมีอิทธิพลเหนือคนจัดมวยเสียอีก
“เมื่อไหร่ที่จัดมวยไม่เหมาะสม คนดูจะดูออกเลย อย่างเรื่องมวยล้มนี่ สมัยนี้มีน้อยมาก ไม่ถึงสิบเปอร์เซนต์ในวงการ เพราะหลอกคนดูเขาไม่ได้”

๐ กุญแจสู่ความสำเร็จ
เจ้าพ่อมวยตู้เปิดใจต่อว่าวันแรกที่เข้ามา ตัวเขาเองก็ไม่คิดว่าจะประสบความสำเร็จมาไกลถึงจุดนี้ ถามถึงเคล็บลับความสำเร็จ เขานิ่งคิด ก่อนจะเอ่ยด้วยน้ำเสียงภูมิใจเล็กน้อยว่า น่าจะเพราะความอดทน ซื่อสัตย์ และใจรักในกีฬามวยอย่างแท้จริง
“ผมโชคดี ที่มีโอกาสมากกว่าคนอื่น เพราะเรามีเครือข่ายพี่น้องที่ให้ความรัก ศรัทธาและเชื่อมั่นในตัวเราค่อนข้างเยอะ แฟนมวยก็ให้ความเชื่อมั่นเรา ผมเริ่มมาตั้งแต่ถือกระป๋องให้น้ำนักมวย ดูแลเขามาตลอด” เขาฉายภาพจากความทรงจำส่วนตัว
“มวยไทยเป็นกีฬาต่อสู้ที่ยุติธรรม สามารถป้องกันตัวได้และมีน้ำใจนักกีฬา เป็นกีฬาที่มีกรรมการ ทั้งบนเวทีทั้งข้างสนามจึงเป็นกีฬาที่มีความยุติธรรมสูง” ความรักและความทุ่มเทของเฮียชุ้นยังถูกส่งผ่านสู่ทายาทของเขา เดียร์ ฐิติวัชร์ ธีระเดชพงศ์ ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนที่กำลังเดินตามรอยผู้เป็นพ่อ ล่าสุดเดียร์ก้าวสู่เส้นทางโปรโมเตอร์อย่างเต็มตัว โดยเป็นผู้จัดรายการมวยให้กับทีวีดิจิทัลช่อง NOW 26 “คมชัดลึกศึกมวยไทย ท่อน้ำไทย เดอะฮีโร่” ทุกคืนวันอาทิตย์ เวลา 19.15 - 21.15 น.

๐ ลูกไม้ใต้ต้น
เดียร์ เล่าว่าเรื่องของมวยเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวเขาตลอด ซึ่งเกิดจากการซึมซับได้เห็นการทำงานและคลุกคลีกับนักมวยมาตั้งแต่เยาว์วัย กระทั่งความใฝ่ฝันสูงสุดของเด็กชายเดียร์ ก็คือการเป็นโปรโมเตอร์
“ที่บ้านเป็นค่ายมวย ตั้งแต่เกิดมาก็อยู่กับนักมวย อยู่เหมือนพี่เหมือนน้อง พอว่างจากเรียนก็ไปดูมวยกับพ่อ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ให้ผมไปทำอย่างอื่น ผมว่าผมไม่มีความสามารถเท่ากับทำงานตรงนี้ เราทำมาตั้งแต่ก่อนเรียนจบ ต่อยมวยก็เคยมาแล้ว”
สิ่งสำคัญที่เฮียชุ้นเอ่ยย้ำกับลูกชายเสมอคือ ความบริสุทธิ์โปร่งใส ให้ความเสมอภาคทุกคน และเหมาะสม รวมถึงมีความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ “เราไม่ได้ตั้งความหวังว่าเขาต้องร่ำรวย แต่อยากให้เขารักษาความเชื่อถือและมาตรฐานของเราไว้” ความคาดหวังของเฮียชุ้น

๐ มวยไทยกับนิวเจนฯ
เดียร์ มองว่า มวยก็เหมือนการบริหารธุรกิจ สมมติเรามีนักมวยพันคน เราต้องคิดวางแผน ทำการตลาดว่าจะทำอย่างไรให้เขามีชื่อเสียงขึ้นมา เพื่อสร้างเขาให้เป็นทุนของเราต่อไป แต่นักมวยปั้นนักมวยต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เหมือนเราปั้นดาราสักคนอาจต้องมีจิตวิทยา รวมถึงต้องดูว่าผู้บริโภคต้องการแบบไหน
“ก็ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทรัพยากรที่มีเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งปั้น ทั้งต้องบริหาร ให้นักมวยได้ต่อยอย่างสม่ำเสมอ หัวหน้าคณะก็อยู่ได้ วงการก็อยู่ได้ ซึ่งวิธีการทำงานของผมจะเหมือนกับการทำบอล ถ้าเลือกคู่ที่ต่างชั้นกันมากๆ มันก็ไม่สนุก"
ภารกิจหน้าที่ของเขาจึงส่งผลต่อกิจวัตรในปัจจุบัน “ที่ออฟฟิศนี่จะมีกระดานรอบไปหมด วันๆ ก็นั่งดูจับคู่บนกระดานกัน วันๆ ก็ต้องอยู่กับตรงนี้ ตลอดเกือบยี่สิบสี่ชั่วโมง”
ส่วนอนาคต สิ่งที่คนรุ่นใหม่อย่างเขามองคือ เป้าหมายที่ว่าจะทำอย่างไรให้วงการมวยไทยดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เขาจึงมีแผนอีกมากมาย อาทิเช่น การเปิดตลาดในต่างประเทศ หรือการเปิดยิมสอนมวยไทยสำหรับคนทั่วไป ที่มองว่าจะทำให้ขยายฐานสู่คนรุ่นใหม่ได้
“วงการมวยปัจจุบันนี้ดีขึ้น คนดูเริ่มเน้นดูเพื่อความบันเทิงและกีฬามากขึ้น การพนันน้อยลง ซึ่งผมว่าดีเพราะการพนันมีผลเสียต่อเกม เช่น การให้คะแนนที่ค้านสายตา เจอแบบนี้บ่อยๆ คนก็ไม่ศรัทธายอมรับ อีกอย่างคือเรื่องศิลปะ พอมีการพนัน นักมวยมุ่งแต่เรื่องแพ้ชนะ ทุ่มล้มๆ อย่างเดียว ความสนุกก็ลดน้อยลงไป แต่เรื่องนี้จะแก้ปัญหาได้หลายฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่โปรโมเตอร์คนเดียว ทั้งนักมวย กรรมการ หัวหน้าค่ายมวย หรือคนดู”
ม้จะต่างวัยแต่พ่อลูกคู่นี้มีความรักในกีฬามวยเชื่อมโยงสายสัมพัน พร้อมด้วยมรดกทางความคิดที่ส่งถึงโปรโมเตอร์รุ่นใหม่ “คุณพ่อจะเน้นเรื่องความซื่อสัตย์มาก ซึ่งเรารักอาชีพนี้ จะให้ทรยศต่ออาชีพคงไม่ได้” ปิดท้ายบทสนทนาสะท้อนความเป็นลูกไม้ใต้ต้นได้อย่างชัดเจน