ตรวจแถวหลักสูตร 'องค์กรอิสระ-ศาล' ต่อสายป่าน สานสัมพันธ์?

ตรวจแถวหลักสูตร 'องค์กรอิสระ-ศาล' ต่อสายป่าน สานสัมพันธ์?

บทวิเคราะห์ : ตรวจแถวหลักสูตร "องค์กรอิสระ-ศาล" ต่อสายป่าน สานสัมพันธ์?

ในภาวะของสังคมที่ตั้งต้นกับคำถามของทิศทางประเทศ ที่ดูเหมือนว่า การกำหนดนโยบาย หรือโครงการใดๆ ของรัฐนั้น ถูกนำไปผูกโยงกับ "คอนเน็คชั่น" ระหว่าง ข้าราชการ – ผู้มีอำนาจทางการเมือง- กลุ่มเอ็นจีโอ – กลุ่มทุน และขาดเป้าหมายที่ชัดเจน ต่อการสร้างประโยชน์เพื่อคนทุกกลุ่ม

ภาวะตั้งต้นที่เกิดขึ้น.. มีผู้รู้อธิบายว่า เพราะการมีสัมพันธ์ใกล้ชิด ทั้งความเป็นผู้บังคับบัญชา และใต้บังคับบัญชา และความเป็นศิษย์ อาจารย์ หรือผู้เข้ารับการอบรมในหลักสูตรเดียวกัน ซึ่งในประเด็นของหลักสูตร ที่เกิดขึ้นอย่างมากในช่วงหลัง ภายใต้องค์กรอิสระ หรือองค์กรของรัฐจัดทำ ถือเป็นสิ่งที่ถูกยกมาตั้งข้อสังเกตว่า สายป่านของคอนเน็คชั่นนั้น มีอิทธิเพียงใดต่อการดำเนินการภายใต้บทบาทขององค์กรนั้น

“ทีมข่าวสำนักข่าวเนชั่น” ได้ไปตรวจสอบหลักสูตรพิเศษของเครือข่ายองค์กรอิสระ และศาล เพื่อชี้ให้สังคมช่วยแกะรอยด้วยว่า “หลักสูตร” โดยองค์กรที่มีบทบาทให้คุณ ให้โทษบุคคลใด มีอะไรที่อยู่เบื้องหลังหรือไม่

คณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดหลักสูตร ชื่อว่า “นักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง หรือ นยปส.” ปัจจุบันเปิดมาแล้ว 7 รุ่น วัตถุประสงค์ คือ เพื่อสร้างผู้นำในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ป้องกันและปรามปรามทุจริต และสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติงานที่โปร่งใส รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในภาระกิจสำคัญ คือ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เป็นรูปธรรม โดยหลักสูตร นยปส. มีงบสนับสนุนจาก ป.ป.ช. เป็นหลัก และใช้เวลาอบรมประมาณ 8 เดือน ขณะที่ผู้จะเข้ารับการอบรมได้ ต้องผ่านคุณสมบัติสำคัญ คือ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงาน เช่น ในราชการ ต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง ระดับอธิบดีขึ้นไป หรือเทียบเท่า , ตำรวจและทหาร ต้องมียศ พันตรี ขึ้นไป, เป็น ส.ส., หรือ ส.ว. เป็นต้น นอกจากนั้นผู้สมัครต้องไม่อยู่ระหว่างการสอบสวนทางวินัยและอาญา หรืออยู่ระหว่างถูกไต่สวนตามมติ ป.ป.ช. ด้วย

สำหรับผู้ที่เคยผ่านการอบรมหลักสูตร นยปส. ที่มีชื่อเสียง อาทิ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีต ส.ว.อุทัยธานี, นายอำพล วงศ์ศิริ อดีตเลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการเทคโนโลยีสารสนเทศ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) , พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการสำนักงานสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.), นายณรงค์ รัฐอมฤต ขณะที่เรียนหลักสูตร ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่ง กรรมการป.ป.ช., นายวรวิทย์ สุขบุญ อดีตผู้ช่วยเลขาธิการป.ป.ช. ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น เลขาธิการป.ป.ช. , นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เป็นต้น

โดยนักศึกษาหลักสูตร นยปส. ที่ผ่านการอบรม "มานะ นิมิตรมงคล" เปิดใจถึงหลักสูตรที่ได้อบรมว่า “สิ่งที่ได้คือการแลกเปลี่ยนข้อมูล และประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมอบรมมากกว่าการสอนตามหลักสูตร เพราะเรื่องคอรัปชั่นปัจจุบันมีความหลากหลายและล้ำหน้าไปเสมอ ฐานะที่ตนอยู่ในภาคเอกชนและได้เข้าอบรม สามารถนำสิ่งที่ได้ไปประยุกต์ใช้ และ ในการทำงาน สามารถเข้าใจข้าราชการ นักการเมืองมากขึ้น ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในการป้องกันการคอร์รัปชั่น ทั้งนี้เมื่อจบหลักสูตร ผู้เข้าร่วมอบรมยังสามารถแลกเปลี่ยนความเห็นและขอความรู้ หรือคำแนะนำต่อการทำงานได้ในภายหลัง

“จากกรณีที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าจะมีคนเข้าไปหาผลประโยชน์จากการเข้าอบรมในหลักสูตร ต้องดูวัตถุประสงค์ของหลักสูตรด้วยว่า จะเน้นที่การสร้างเครือข่ายหรือ หรือเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพื่อองค์ความรู้ คือถ้าเน้นการสร้างเครือข่ายอย่างเดียวก็ชวนสงสัยแล้วว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ สำหรับผมมองว่าหลักสูตรนี้ ควรมี เพราะหากให้ข้าราชการนั่งคุยกันเอง โดยไม่เข้าใจวิธีคิดของเอกชน การทำงานอาจขาดความรอบด้าน”เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ระบุ

คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)  เปิดหลักสูตร ชื่อว่า “การพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง หรือ พตส.” โดยปัจจุบันเปิดมาแล้วทั้งสิ้น 7 รุ่น วัตถุประสงค์ คือ พัฒนาบุคคลากรของพรรคการเมือง ด้วยการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การให้ความรู้ เรื่องการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เรื่องการเลือกตั้ง ตามหลักสูตรนี้จะใช้เวลาอบรมประมาณ 8 เดือน โดยใช้งบจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง สำหรับผู้เข้าร่วมอบรมนั้น ในส่วนของภาคการเมือง กกต. จะเป็นถูกคัดเลือกและทาบทามอดีต ส.ส. , กรรมการบริหารพรรคการเมือง ส่วนหน่วยงานรัฐ จะเจาะจงเชิญผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน รวมถึงสื่อมวลชนด้วย

หลักสูตรที่ผ่านพ้นไป พบบุคคลสำคัญที่เข้ารับการอบรม อาทิ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก อดีต ส.ส. กทม.พรรคประชาธิปัตย์, นางกุสุมาลวตี ศิริโกมุท อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย, นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา, พล.อ.ณรงค์ฤทธิ์ อิศรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

“อดีต ส.ส.กทม. รัชดา” กล่าวถึงหลักสูตรที่เพิ่งได้เข้าอบรม ว่า เนื้อหาจะเน้นเกี่ยวกับการพัฒนาการเลือกตั้ง และภาพรวมของประชาธิปไตยในประเทศไทย ทั้งนี้ระหว่างการอบรมจะยกตัวอย่างศึกษาของต่างประเทศ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาประกอบ โดยส่วนตัวมองว่าเนื้อหามีประโยชน์ และเหมาะกับการเผยแพร่ให้คนทั่วไปได้รับรู้ ขณะที่หลายฝ่ายมองว่าการเข้ารับอบรมเป็นการสร้างคอนเน็คชั่นของผู้เรียนนั้น ถือเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่คำถามที่ตามมาก็คือ แต่ละคนใช้ความสัมพันธ์ดังกล่าวในทางที่ถูกไหม อย่างหลักสูตรนี้ถ้าผู้เรียนที่เป็นตัวแทนจากเอกชนเห็นความสำคัญของการพัฒนาการเมือง แล้วเอาความรู้นี้ไปเผยแพร่ต่อ ก็จะเกิดประโยชน์ แต่ถ้าใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือสิทธิพิเศษ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ศาลรัฐธรรมนูญ เปิดหลักสูตรชื่อ “หลักนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย” หรือ นธป. ซึ่งปัจจุบันมี 4 รุ่น โดยมีวัตถุประสงค์ เสริมสร้างจิตสำนึกของผู้อบรมทั้งภาครัฐและเอกชน ให้สอดคล้องกับวิถีการปกครองตามหลักนิติธรรม ในระบอบประชาธิปไตย และสามารถนำความรู้ไปใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดได้ รวมทั้งสร้างเครือข่าย ชุมชนทางวิชาการด้านรัฐธรรมนูญด้วย โดยหลักสูตรนี้ใช้เวลาอบรบประมาณ 9 เดือน และใช้งบประมาณประจำปีของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมอบรมนั้น ต้องเป็นผู้นำหรือตัวแทนองค์กรที่คณะกรรมการเห็นเหมาะสม กรณีเป็นข้าราชการตำรวจ และทหาร ต้องมียศนายพลขึ้นไป และข้าราชการตั้งแต่ผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นไป โดยผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้มี นายชวน หลักภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์, ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ,ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สมาชิกสภานิติบัญญติแห่งชาติ (สนช.) โดยรุ่นปัจจุบันมีผู้เข้าร่วม อาทิ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ, นายพีรศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 เป็นต้น

"ดร.อุดม" ได้เล่าถึงสมัยที่เข้าอบรมรุ่นที่ 3 คร่าวๆว่า หลักสูตรนี้ทำให้ผู้เข้าร่วมอบรมแต่ละคนมีความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายมากขึ้น ตามสายงานของตัวเอง ซึ่งสิ่งที่ตนได้จากหลักสูตรนี้คือประสบการณ์ในทางปฏิบัติด้วย เพราะที่ผ่านมาจะใกล้ชิดกับงานประเภทตำรามากกว่า และเมื่อเป็น กรธ. ต้องยอมรับว่าความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย การเมือง รวมถึงในส่วนของคนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับกฏกติกาจากหลักสูตรนี้ ทำให้มีความมั่นใจกับสิ่งที่กำลังทำมากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าหลักสูตรนี้มีประโยชน์มาก

“ทั้งนี้ในส่วนที่คนติติงว่า เรื่องของความสัมพันธ์ของคนที่เข้าหลักสูตรที่มีความสนิทกัน จนนำมาสู่คำถามว่าจะมีการช่วยเหลือกันจนเกินควร หรือช่วยวิ่งเต้นอะไรหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ร่วมอบรมจะมีความสนิทกัน ไม่ว่าจะหลักสูตรไหนก็ตาม แต่ปัญหาคือคนเราไปใช้ความสัมพันธ์ดังกล่าวในทางที่ผิด ซึ่งเรื่องความสัมพันธ์จะชี้ขาดว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ไม่ได้ ถ้าใช้ในทางที่ดีเช่นแลกเปลี่ยนความรู้ ก็คือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเกิดขอบเขตก็จะกลายเป็นระบบอุปถัมภ์”โฆษกกรธ. กล่าว

ศาลยุติธรรม เปิดหลักสูตรชื่อ “ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง” ปัจจุบันมี 20 รุ่น ซึ่งหลักสูตรนี้มีหลักการและเหตุผลว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยยังคงต้องพัฒนาให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยสร้างองค์ความรู้ให้กับองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ผู้บริหารระดับสูงของทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ร่วมกันสร้างแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรมแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ไปศึกษา หรือนำไปใช้ รวมถึงสร้างความร่วมมือทางการศาลยุติธรรม และทางวิชาการ ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างสถานะและบทบาทศาลยุติธรรมในเวทีระหว่างประเทศ โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาอบรมประมาณ 10 เดือน และใช้งบประมาณของสำนักงานศาลยุติธรรม

คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมอบรมจบการศึกษาขั้นต่ำปริญญาตรี จะต้องมีตำแหน่ง อาทิ ข้าราชการศาลปกครองและศาลยุติธรรม ระดับรองอธิบดีขึ้นไป, ตำรวจและทหาร ยศพันตรี ขึ้นไป, ผู้บริหารระดับสูงทั้งหน่วยงานภาพครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับงานยุติธรรม, ทนายความที่ได้รับการเสนอชื่อจากสภาทนายความ ซึ่งมีอายุงานไม่ต่ำกว่า 20 ปี เป็นต้น และจะต้องไม่อยู่ระหว่างการถูกสอบสวนทางวินัยและอาญา ถูกพักราชการ ถูกดำเนินคดีอาญา ถูกศาลสั่งล้มละลาย ซึ่งที่ผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้มี พล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ สมาชิกสปท., นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), พล.ต.อพงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. เป็นต้น

"พล.อ.จิระ" ในฐานะผู้อบรมรุ่นที่ 16 ได้กล่าวถึงหลักสูตรนี้ว่าส่วนมากจะเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาล อัยการ ตำรวจ ทหาร ความมั่นคง ซึ่งมีหลากหลาย สิ่งที่เรียนรู้จากหลักสูตรนี้ได้ใช้แน่นอนเพราะตนมีหน้าที่เกี่ยวกับกระบวนยุติธรรมด้านทหารอยู่แล้ว ต้องบอกว่าเป็นสิ่งดีที่มีหลักสูตรดังกล่าว ส่วนตัวว่า ณ ปัจจุบันนี้หลักสูตรดังกล่าวก็ยังคงมีความจำเป็น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ส่วนคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง อย่างนักธุรกิจ ก็ยังได้ประโยชน์จากหลักสูตรนี้ ซึ่งเขาก็ได้รู้ระบบงานกระบวนการยุติธรรมว่ามีการดำเนินงานอย่างไร และเข้าใจวิธีการดำเนินงานตามกระบวการยุติธรรมที่ถูกต้องขึ้น

ศาลปกครอง มีสองหลักสูตรคือ 1. “กฎหมายปกครองสำหรับผู้บริหารระดับสูง” หรือ กปส. มีทั้งหมด 3 รุ่น โดยมีหลักการและเหตุผลเพื่อให้ผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะภาครัฐมีความเข้าใจในหลักกฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงวิธีพิจาณาคดีปกครอง เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องตามหลักนิติธรรม ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นได้ อีกททั้งหลักสูตรนี้ยังช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการภาครัฐที่ดีด้วย โดยหลักสูตรนี้มีระยะเวลาอบรมประมาณ 8 เดือน

ทั้งนี้หลักสูตรดังกล่าวใช้งบจากการเก็บค่าลงทะเบียนคนละ 98,000 บาท โดยคุณสมบติของผู้ เข้าร่วมโครงการนี้ จะต้องตำรงตำแหน่ง ผู้บริหารระดับสูง หรือพร้มที่จะรับตำแหน่งดังกล่าว ของหน่วยงานรัฐและเอกชน, ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ หรือเชี่ยวชาญ, ตำรวจและทหารยศพันเอกขึ้นไป แต่ไม่ปรากฏรายชื่อของผู้ร่วมอบรมบนเว็บไซต์ของศาลปกครอง

2. หลักสูตร “ผู้บริหารการยุติธรรมระดับสูง” หรือ บยป. ซึ่งปัจจุบันมี 6 รุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ เกี่ยวกับหลักปฏิบัติราชการ จากแนวคำพิพากษาของศาลปกครอง เสริมสร้างความรู้ในวิทยาการสมัยใหม่ด้านการบริหาร และสร้างประสบการณ์ของนักบริหารยุคใหม่

หลักสูตรนี้ มีระยะเวลาอบรมโดยประมาณ 8 เดือน โดยมีงบประมาณจากการลงทะเบียนของผู้สมัครคนละ 175,000 บาท ซึ่งคุณสมบัติของผู้เข้าอบรมจะต้องดำรงตำแหน่ง ข้าราชการตุลาการ อัยการ,ข้าราชการฝ่ายพลเรือน หรือสายงานอำนวยการระดับสูง สายงานวิชาการระดับเชี่ยวชาญขึ้นไป หรือสายงานระดับบริหารระดับต้นขึ้นไป,ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ, ผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษา, ผู้บริหารองค์กรอิสระ,ผู้บริหารองค์กรปกครองสวนท้องถิ่น, ผู้บริหารองค์กรมหาชน, ผู้บริหารองค์กรเอกชน และนักการเมือง ทั้งนี้รายชื่อของผู้ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรนี้ไม่ปรากฏบนเว็บไซต์ข้อมูลของสำนักงานศาลปกครองเช่นกัน