เปิดเหตุผล! ทำไม 'ป.ป.ส.' ค้านกระแส 'กัญชา-กระท่อม' เสพเสรี

เปิดเหตุผล! ทำไม 'ป.ป.ส.' ค้านกระแส 'กัญชา-กระท่อม' เสพเสรี

เปิดเหตุผล! ทำไม 'ป.ป.ส.' ค้านกระแส 'กัญชา-กระท่อม' เสพเสรี

กระแสโซเซียลมีเดียที่โหมกระพือให้ปลด “กัญชา-กระท่อม” จากบัญชีพืชเสพติด โดยอ้างถึงสรรพคุณล้ำลึกของกัญชาที่สามารถนำมาใช้รักษา โรคมะเร็ง รวมถึงการนำพืช “กระท่อม” ไปสกัดเป็นยารักษาสารพัดโรค

 ร้อนถึง ณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ต้องออกมาย้ำดังๆ ฟังชัดๆ ว่า ยังไม่มีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะปลด “กัญชา”และ “กระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติด เพราะคุณลักษณะของพืชทั้ง 2 ประเภท ยังเสพแล้วติด

ทั้งนี้ เลขาธิการ ป.ป.ส. เชื่อว่า สาเหตุของข้อเรียกร้องดังกล่าว น่าจะถูกขยายผลมาจาก มาตรา 6 ของร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด จึงเปิดช่องว่างเล็กๆ สำหรับ "การบำบัดรักษา" โดยให้อำนาจ รมว.ยุติธรรม อนุญาตให้ศึกษาทดลองเพาะปลูก ผลิต และทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติดได้ รวมทั้งให้เสพและครอบครองยาเสพติดได้ตามประเภทและปริมาณที่กำหนด แต่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมและตรวจสอบ

“จากข้อความนี่เอง นำไปสู่การเรียกร้องให้ปลดกัญชา-กระท่อม จากยาเสพติดเพื่อ “เสพเสรี” ซึ่งผมเชื่อว่าสังคมส่วนใหญ่รับไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม เลขาธิการ ป.ป.ส. ยอมรับว่า พืชเสพติดมีทั้งส่วนดีและโทษอยู่ในตัวเอง อย่างเช่น ฝิ่น ก็นำมาสกัดเป็นมอร์ฟีนและนำมาใช้ในวงการแพทย์ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด เช่นเดียวกับ “กัญชา” ที่ยังมีโทษเพราะออกฤทธิ์กล่อมประสาทให้สมองเคลิบเคลิ้ม จนพูดกันปากต่อปากว่า สูบกัญชาแล้วอารมณ์ดี หัวเราะทั้งวัน เชื่อว่าการหัวเราะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดฟาร์มีนทำให้ไม่เกิดมะเร็ง ถ้าไม่เครียดโอกาสการเป็นมะเร็งลดน้อยลงจึงทำให้ “กัญชา” อาจมีส่วนรักษาโรคมะเร็งแต่คงไม่ใช่การนำกัญชามาสูบเพื่อรักษามะเร็ง อาจเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของต้นกัญชาสามารถนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งได้

 "ผมสั่งให้ศึกษาวิจัยวงเล็กๆ ให้มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า โทษและคุณของกัญชาที่แท้จริงเป็นอย่างไรกันแน่ รวมถึงคำกล่าวอ้างที่ระบุว่าการสูบกัญชาให้โทษน้อยกว่าบุหรี่ ซึ่งถูกนำมาขยายความต่อๆกันตามมุมมองของบุคคล โดยที่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยใดมาเป็นเครื่องยืนยัน"

ก่อนหน้านี้ในสมัยที่ ชัยเกษม นิติสิริ เป็น รมว.ยุติธรรม ก็เคยเสนอให้ปลดกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด เพราะมองว่าเป็นการเสพในวิถีชาวบ้านอาจนำมาใช้ทดแทนยาบ้า คล้ายกับการใช้ยาเมทาโดนทดแทนเฮโรอีน แต่ในความเป็นจริงยังมีการลักลอบนำกระท่อมไปต้มผสมเป็น 4X100 ที่ทำให้มีการเสพติดรุนแรงจนไม่สามารถปลดกระท่อมจากบัญชียาเสพติดได้

 “ณรงค์” อธิบายต่อไปว่า หน้าที่หลักของ ป.ป.ส. คือ ควบคุมยาเสพติด ลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ต้องยอมรับตรงกันว่า ยาเสพติดก่อให้เกิดอันตราย ถ้าติดแล้วจะช่วยคนที่ติดได้อย่างไร

"ติดเฮโรอีนแล้วไม่อยากให้ติดเอดส์ซ้ำ จึงต้องแจกเข็ม แบบนี้พอคุยกันได้ ไม่ใช่แจกเข็มเพื่อสนับสนุนหรือกระตุ้นให้คนเสพ ประมวลกฎหมายยาเสพติดกำหนดให้ผู้ติดผู้เสพเป็นผู้ป่วย แต่ยังมีบทกำหนดโทษจำคุก เพราะคนบางพวกไม่สนใจจะบำบัดรักษา จึงต้องมีกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วไม่เป็นผลหรือพวกที่ไม่สนใจจะบำบัด อยากเสพ จึงต้องมีโทษจำคุก เพื่อเอาตัวไปบำบัดในคุก ยาเสพติดหากมาใช้ถูกวิธีก็เป็นยารักษาโรค แต่ไม่ใช่การนำมาใช้เพื่อบันเทิงเริงรมย์ กฎหมายจึงต้องแบ่ง แยกพวกเสพเพื่อความบันเทิงออกไปบำบัด เป้าหมายเพื่อไม่ทำให้เด็กเยาวชนเข้าไปเป็นผู้เสพหน้าใหม่"

ส่วนข้อกล่าวอ้างว่า ในต่างประเทศอนุญาตเปิดร้านกัญชาให้เสพนั้น  เลขาฯป.ป.ส. บอกว่า เดินทางไปศึกษาดูงานมาแล้ว พบว่ามีเป็นบางประเทศเท่านั้น ในสหรัฐอเมริกาก็มีเพียงบางรัฐ ในรายที่สูบกัญชาจนติดมากๆ ไม่ยอมเลิกก็ต้องเข้าคุกเหมือนกัน หลักคิดคล้ายการขายเหล้าบุหรี่มีโทษ แต่อนุญาตเพื่อคลายความต้องการของคน  ทั้งนี้ในต่างประเทศร้านกัญชาต้องลงทะเบียน มีใบอนุญาต กำหนดลิมิตซื้อขายได้ในปริมาณจำกัดและระบบการตรวจสอบและงานทะเบียนต้องแม่นยำมาก 

“ แต่ในเมืองไทยกฎหมายแค่เรื่องสุรากับบุหรี่ ห้ามจำหน่ายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี แต่พบว่าเด็กยังซื้อเหล้าบุหรี่ได้ ในต่างประเทศคนของเขาอยู่ในกฎระเบียบ ซึ่งเมืองไทยยังเดินไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะการควบคุมไม่ดีพอ โบราณว่า เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง แล้วเราก้นใหญ่เหมือนช้างหรือไม่ ถ้าเราพร้อมก็ทำได้ ไม่ได้ปิดตาย กฎหมายใหม่จึงเปิดให้ศึกษา แต่ไม่ใช่เสพเสรี เรียกร้องแบบนี้สังคมรับไม่ได้”

สำหรับร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ขณะนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกากลั่นกรอง โดยเนื้อหาเป็นการควบรวม พ.ร.บ. 7 ฉบับเข้าด้วยกัน มีทั้งสิ้น 435 มาตรา แบ่งเป็น 3 ภาค ภาค 1 ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งภาพรวมเน้นการควบคุมยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ภาค 2 การดำเนินคดียาเสพติด และภาค 3 การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และมาตรการอื่นแทนการลงโทษ

โดยกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ จะมีผลเพิ่มงานให้ตำรวจและป.ป.ส.ในการสืบเสาะพฤติการณ์เพื่อจำแนกผู้ต้องหา โดยนักค้ารายใหญ่และผู้ผลิต-ส่งออก ซึ่งต้องโทษประหารหรือจำคุกตลอดชีวิต ยังเหมือนเดิม ส่วนนักค้าผู้ผลิตและส่งออก ที่เป็นเครือข่ายอาชญากรรม จำคุกสูงสุด 30 ปี ,กลุ่มแรงงานรับจ้างขน และผู้ค้ารายย่อย จำคุกสูงสุด 20 ปี, กลุ่มผู้นำเข้า ส่งออก ลำเลียง จำหน่าย หรือครอบครองยาเสพติด จำคุกสูงสุด 10 ปี  ,ผู้ค้ารายย่อยที่จำหน่ายให้ผู้เสพโดยตรง โทษจำคุกสูงสุด 5 ปี

ส่วนผู้เสพฯให้นำตัวไปบำบัดรักษาโดยต้องอยู่ภายใต้แผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้หากผู้เข้ารับการบำบัด ยังมีพฤติการณ์ขายยาเสพติดหรือเป็นอันตรายต่อสังคม ก็ให้นำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย

ในกรณีที่ผู้ต้องสงสัยเป็นเด็กหรือสตรี หรือเป็นผู้ถูกใช้จ้างวานให้กระทำความผิด พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเสนอความเห็นในสำนวนเพื่อขอให้ศาลใช้มาตรการอื่นแทนการลงโทษได้ โดยคำนึงถึงประเภทและปริมาณยาเสพติด รวมถึงพฤติการณ์แวดล้อม

เมื่อฟังจากน้ำเสียงของ เลขาธิการ ป.ป.ส. และเนื้อหาของร่างประมวลกฎหมายาเสพติด พวกที่ออกมาเรียกร้องให้เสพ “กัญชา- กระท่อม” ได้อย่างเสรี ในเมืองไทย คงต้อง “กินแห้ว” อีกนาน