กฎเหล็กคุม'ประชามติ'

กฎเหล็กคุม'ประชามติ'

ส่อง "พ.ร.บ.คอมพ์-ม.116-คำสั่ง คสช." กฎเหล็กคุม "ประชามติ" ร่างรธน.

การจับกุมควบคุมตัวผู้แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่า กฎหมายที่นำมาใช้ในการควบคุมการทำประชามติให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อยตามเจตนารมณ์ของ คสช.นั้น มีอะไรบ้าง ซึ่งต้องบอกว่าไม่ได้มีเฉพาะ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เท่านั้น

สำหรับ พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 23 เมษายน ที่ผ่านมานั้น เป็นการกำหนดกฎเกณฑ์ กติกาในการทำประชามติ รวมข้อห้าม ข้อทำได้ ซึ่งแม้ กกต.จะออกเป็นประกาศตามมา รวมถึงพยายามอธิบายเพิ่มเติม แต่ก็ยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “กำกวม”

ความไม่ชัดเจนของประกาศ กกต. ที่ออกมา ก็เป็นไปตามเนื้อความในกฎหมายที่ประกาศออกมา จุดหลักที่โดนวิจารณ์ คือ การให้คำจำกัดความของคำว่า “ก่อความวุ่นวาย” ซึ่งอยู่ในมาตรา 60 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า “การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง...ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ หรือ ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวาย...” ซึ่งล่าสุดผู้มีอำนาจทั้งหลายยังตีความต่างกันไป เช่น บ้างก็ว่าบอกให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ บ้างก็ว่าบอกได้ แต่ต้องทำโดยอธิบายเหตุผลทางวิชาการ โดยปราศจากอคติ

นอกจากกฎหมายประชามติและประกาศของ กกต. ยังมีกฎหมายอื่นที่มีการนำมาใช้ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วย ได้แก่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กฎหมายอาญามาตรา 116 และ คำสั่ง คสช. เช่น ในการจับกุมผู้ต้องหา 8 รายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการจับกุมในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เนื้อความในมาตรา 116 ที่เกี่ยวข้อง คือ “กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต (2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร... ”

ส่วน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่น่าจะเกี่ยวข้องคือ การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ...ก่อให้เกิดความตระหนกตกใจ ทำให้เกิดความผลกระทบในวงกว้างต่อความมั่นคงของชาติ

สำหรับคำสั่งของ คสช.ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ มีอย่างน้อย 5 ฉบับ คือ
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 12/2557 เรื่องขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารไปสู่ประชาชน
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 18/2557 เรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะด้วยความถูกต้อง ปราศจากการบิดเบือน ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่น หรือสร้างความแตกแยก ฯลฯ
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 26/2557 เรื่องการดูแลและสอดส่องการใช้สื่อสังคมออนไลน์
ประกาศ คสช.ฉบับที่ 49/2557 เรื่องความผิดสำหรับการสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง

ฉะนั้น หากจะเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการทำประชามติ ไม่ใช่จะดูเฉพาะกฎหมายประชามติ แต่ต้องดูกฎหมายอื่น และคำสั่ง คสช.ประกอบด้วย!!