'สมชัย' เตรียมพบสหภาพยุโรปจันทร์นี้

'สมชัย' เตรียมพบสหภาพยุโรปจันทร์นี้

“สมชัย” เตรียมพบ “สหภาพยุโรป” จันทร์นี้ เพื่อชี้แจงกระบวนการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หนุนองค์กรต่างชาติสังเกตการณ์ ย้ำไม่ขวางสิทธิปชช.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการกรองข่าววันเสาร์ ทาง 102 เอฟเอ็ม สำนักข่าวเนชั่น ถึงหลักเกณฑ์และแนวทางการแสดงความเห็น และการจัดกิจกรรมในช่วงการรณรงค์ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า โดยหลักเกณฑ์แล้ว การแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1.ไม่พูดเท็จ 2.ไม่หยาบคาย ก้าวร้าวรุนแรง และ 3.ไม่ปลุกระดมที่นำไปสู่ความวุ่นวางทางการเมือง ขณะที่การทำกิจกรรม เช่น การชูธงเขียว, รณรงค์ให้ไปออกเสียงรับรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่เข้าข่ายปลุกระดมได้ จึงไม่ควรทำ หากเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทำกิจกรรมชูธงเขียน ตนฐานะ กกต. สามารถให้ใบแดงได้ทันที

ดังนั้นประชาชนทั่วไปที่อยากแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ กกต. ถือว่าเป็นสิทธิ และเสรีภาพขั้นพื้นฐานส่วนบุคคลที่ทำได้ แต่ต้องไม่ใช่การแสดงความเห็นที่ชักจูงให้บุคคลอื่นไปออกเสียงว่ารับ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่การจัดเวทีเพื่อแสดงความเห็นนั้นหากมีลักษณะที่เป็นการอภิปรายทางวิชาการ ซึ่งไม่ใช่จัดเวทีให้ผู้ที่มีความเห็นที่ต่างกันคนละขั้วมาอภิปรายแข่งขันกัน สามารถทำได้ แต่ต้องมีองค์กร หรือสถาบันใด สถาบันหนึ่งร่วมดำเนินการด้วย คือ 1.ราชการ 2.สถาบันวิชาการ ซึ่งสังกัดหน่วยงานรัฐ หรือ เป็นของเอกชนก็ได้ และ 3.องค์กรสื่อมวลชนที่มีกฎหมายรองรับ เพื่อเป็นหลักประกันว่าการจัดเวทีอภิปรายทางวิชาการนั้นผ่านการคัดกรองบุคคลที่เข้าร่วมเวที และทำเนื้อหาให้ได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้การจัดเวทีอภิปรายวิชาการดังกล่าว ไม่ต้องขออนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนต่อแนวทางที่องค์กรต่างชาติจะเข้าสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายสมชัย กล่าวว่า
ในการเลือกตั้งทั้งในอดีต จนถึงปัจจุบัน กกต. มีแนวทางและออกระเบียบรองรับให้มีผู้เข้ามาสังเกตการณ์ได้ โดยในการออกเสียง
ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กกต. มีงบประมาณเพื่อรองรับกิจกรรมดังกล่าวไว้แล้ว โดยอยู่ในส่วนที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวน
2,900 ล้านบาทเพื่อทำประชามติด้วย สำหรับรายละเอียดของการใช้งบประมาณส่วนที่เตรียมไว้ คือ การจัดประชุมหรือสัมมนาเพื่อชี้แจงรายละเอียดของกระบวนการออกเสียงประชามติ และสาระของร่างรัฐธรรมนูญ จัดการอำนวยความสะดวกในการเข้าสังเกตการณ์ จัดผู้แปลภาษาไว้ระหว่างการลงพื้นที่ เป็นต้น แต่ในแนวทางปฏิบัติ กกต. ไม่สามารถส่งจดหมายเวียนไปทุกๆ องค์กรต่างชาติได้ แต่องค์กรใดหรือเครือข่ายใดที่ต้องการเข้าสังเกตการณ์สามารถแจ้งความจำนงมายัง กกต. ได้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีองค์กรหรือเครือข่ายต่างชาติใดแจ้งความประสงค์ ทั้งนี้ในวันที่ 2 พ.ค. นี้ ตนได้รับเชิญจากสหภาพยูโรป (อียู) ให้ชี้แจงต่อกระบวนการออกเสียงประชามติด้วย

“เราไม่ปิดกั้น องค์กรต่างชาติที่จะเข้าสังเกตการณ์ประชามติ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด เราทำอย่างโปร่งใส แต่การสังเกตการณ์ดังกล่าวต้องไม่ใช่การแทรกแซงภายใน ซึ่งหมายถึงการบอกว่า การทำประชามติของไทยไม่ดีอย่างไร แล้วต้องปรับปรุงอย่างไร” นายสมชัย กล่าว