แรงงาน 89% หวังรัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

แรงงาน 89% หวังรัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ

กรุงเทพโพล เผย แรงงาน 89.3% ขอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หลังคงที่ 300 บาทมา 3 ปี ไม่ห่วงต่างด้าวแย่งงาน มั่นใจมีทักษะฝีมือที่ดีกว่า

กรุงเทพโพล มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ผ่าน 3 ปี นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ชีวิตแรงงานวันนี้เป็นอย่างไร” เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ โดยเก็บข้อมูลจากแรงงาน ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,127 คน ระหว่างวันที่ 25 - 28 เม.ย.ที่ผานมา

พบว่า ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 73.6 ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และเมื่อถามว่า ทำไมไม่ทำงานในภูมิลำเนา ร้อยละ 63.3 ระบุว่า มีงานให้เลือกน้อย รองลงมา ร้อยละ 31.3 ใน กทม.และปริมณฑล มีสวัสดิการดีกว่า , ร้อยละ 65.7 ไม่กังวลกับสถานการณ์การแย่งงานจากแรงงานต่างด้าว หลังเปิดประชาคมอาเซียน เพราะมั่นใจ แรงงานไทยมีทักษะฝีมือที่ดีกว่า ขณะที่ ร้อยละ 34.3 กังวล เพราะแรงงานต่างด้าวสู้งานและอดทนทำงานได้ดีกว่า

ทั้งนี้ เมื่อถามว่า จากที่ไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลย เป็นระยะเวลา 3 ปี ควรมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ร้อยละ 89.3 ระบุ ควรขึ้น โดยที่ ร้อยละ 79.6 อยากให้ขึ้นทั่วประเทศ ส่วน ร้อยละ 9.7 อยากให้ขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ ขณะที่ ร้อยละ 10.7 ระบุ ไม่ควรขึ้น เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี จะทำให้ข้าวของแพงขึ้นค่าครองชีพสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม แรงงาน ร้อยละ 50.5 ระบุ หลังจากได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันยังเหมือนเดิม ขณะที่ ร้อยละ 30.6 มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น และ ร้อยละ 18.9 มีชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง