การเดินทางของตัวโน้ตก่อนถึง วันแจ๊สโลก

การเดินทางของตัวโน้ตก่อนถึง วันแจ๊สโลก

จากการเฉลิมฉลองวันแจ๊สโลก จนถึงบริบทของแจ๊สในสังคมไทย ยังมีแง่มุมให้แลกเปลี่ยนถึงทิศทางและความเป็นไป






หลังจากทางองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization -UNESCO) หรือ ยูเนสโก กำหนดให้ วันที่ 30 เมษายนของทุกปี เป็น ‘วันแจ๊สโลก’ (International Jazz Day) และเริ่มต้นกิจกรรมการเฉลิมฉลองด้วยดนตรีแจ๊สกระจายออกไปยังเมืองต่างๆ ทั่วโลก นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมานั้น อาจจะกล่าวได้ว่าปีนี้ วันแจ๊สโลก มีความคึกคักมากกว่าที่เคย ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะศูนย์กลางของการจัดงาน (Global Concert) จะมีขึ้น ณ ทำเนียบขาว โดยมีประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นเจ้าภาพ และถ่ายทอดโดยสถานีโทรทัศน์ ABC


นอกจากวอชิงตัน ดีซี แล้ว ยังมีกิจกรรมการแสดงดนตรีแจ๊สใหญ่น้อยกระจายออกไปใน 190 ประเทศ ครอบคลุม 7 ทวีป ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากประเทศไทยแล้วยังรวมถึง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา และ สปป. ลาว ซึ่งทั้งหมดนี้ ได้ตอกย้ำความจริงที่ว่า แจ๊สเป็นดนตรีแขนงหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนทั่วงทั้งโลกให้มีความเข้าอกเข้าใจกันได้อย่างแน่นแฟ้นและน่าอัศจรรย์

-1-

“สำหรับผม ดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีที่สอนให้เราเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ คือไม่ละทิ้งความเป็นตัวของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็รู้จักที่จะประนีประนอมกับผู้อื่น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ทางยูเนสโกเล็งเห็น และอยากโปรโมทแจ๊สขึ้นมา”

นั่นคือมุมมองของนักเปียโน นาม เก่งฉกาจ เก่งการค้า ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของ วินตัน มาร์แซลิส (Wynton Marsalis) นักทรัมเป็ตและนักการศึกษาแจ๊สที่มีชื่อเสียง เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ซึ่งเคยถ่ายทอดไว้ในหนังสือ Moving to Higher Ground : How Jazz Can Change Your Life โดยระบุว่า แจ๊สนั้นจำลองอุดมคติของสังคมประชาธิปไตยดีๆ นี่เอง


ปัจจุบัน เก่งฉกาจ เป็นนักเรียนทุนฟุลไบรท์ กำลังศึกษาปริญญาโทด้านดนตรีแจ๊ส ที่ Manhattan School of Music เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เห็นความจำเป็นของการส่งเสริมดนตรีแจ๊ส ด้วยเหตุผลที่เรียบง่ายแต่ตรงไปตรงมาว่า

“เพราะเป็นดนตรีที่ผมรัก และผมเชื่อว่าดนตรีแจ๊สจะมีส่วนช่วยให้สังคมเราดีขึ้นได้ ขอแค่เปิดใจที่จะเรียนรู้ ดนตรีแจ๊สทำให้ผมเรียนรู้อะไรหลายอย่างมากมาย จึงทำให้ผมอยากแบ่งปันประสบการณ์ของดนตรีประเภทนี้ให้คนอื่นๆ ได้เรียนรู้ครับ”

เช่นเดียวกันกับนักเปียโนอย่าง คม วงษ์สวัสดิ์ ซึ่งกำลังศึกษาต่อปริญญาเอกด้านดนตรีแจ๊ส (เอกเปียโน) ที่ Frost School of Music, University of Miami สหรัฐอเมริกา ขยายความถึงความสำคัญของ ‘วันแจ๊สโลก’ โดยยูเนสโกว่า

“ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีและน่าสนับสนุน ยูเนสโกเป็นหน่วยงานย่อยของ UN จุดประสงค์หนึ่งของหน่วยงานนี้ คือการส่งเสริมให้เกิดความสงบสุข โดยใช้การร่วมมือกันระหว่างประเทศ ผ่านด้านการศึกษา, วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดและเพิ่มความเคารพสากลด้านความยุติธรรม, นิติธรรม, สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน จะเห็นว่าแนวคิดของดนตรีแจ๊ส โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางวัฒนธรรม, เสรีภาพและความเท่าเทียม ตรงกับวัตถุประสงค์ของยูเนสโกพอดี”


ส่วน กฤษณะ ชิตปรีชา นักศึกษาปริญญาโท สาขาดนตรีแจ๊ส University of northern Colorado สหรัฐอเมริกา เพิ่มเติมแง่มุมของแจ๊สว่า ถึงดนตรีแขนงนี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่โดยเนื้อแท้ เป็นดนตรีที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมของชาวแอฟริกันผสมผสานกับวัฒนธรรมตะวันตก (classical music theory) จึงถือได้ว่ามีลักษณะเป็นดนตรีของโลก

“ในความคิดเห็นส่วนตัว ดนตรีแจ๊สถือเป็นภาษาหนึ่ง ซึ่งมีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นภาษาที่เกิดขึ้นจากการหล่อหลอมของหลายวัฒนธรรม ผ่านกาลเวลามาพอสมควร และมีวิวัฒนาการยาวนาน จนกระทั่งเป็นดนตรีแจ๊สประเภทต่างๆ ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้”


นอกจากเหตุผลด้านบวกข้างต้นแล้ว นักแซ็กโซโฟน ที่มีงานหลักอยู่บริษัทโฆษณา อย่าง อมรฤทธิ์ สำราญภูติ ตระหนักถึงปัจจัยลบที่ทำให้การกำหนด ‘วันแจ๊สโลก’ ถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพราะสถานะของดนตรีแขนงนี้กำลังตกที่นั่งลำบาก

“เพราะแจ๊สกำลังได้รับความนิยมลดลง” เขาบอก ก็ขยายความว่า “โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา ดนตรีฉาบฉวยอื่นๆ ได้เข้ามามาก หากไม่ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ ดนตรีดีๆ จะค่อยๆ หายไป ในแง่นี้ดนตรีคลาสสิกก็เช่นกัน แต่แจ๊สทำได้ง่ายกว่า และจัดการได้ง่ายกว่า”


-2-

จากปี 2012 ที่เริ่มต้นการคิกออฟ จากนั้นขยับมายังนครอีสตันบูล ตุรกี ในปี 2013 , นครโอซากา ญี่ปุ่น ในปี 2014 และ นครปารีส ฝรั่งเศสในปี 2015 ปีนี้ ศูนย์กลางงานแจ๊สเดย์จัดขึ้นที่ทำเนียบขาว นครวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา

กฤษณะ ชิตปรีชา ตั้งข้อสังเกตว่า “งานปีนี้ตื่นตัวพอสมควร เห็นได้จากหน้าเฟซบุ๊ค โดยเฉพาะงานหลักที่ทำเนียบขาว เห็นศิลปินหลายคนตื่นเต้นมากที่จะได้ไปร่วมแสดงที่นั่น”

ส่วน เก่งฉกาจ ที่ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแมนฮัตตัน เผยถึงบรรยากาศความตื่นตัวของผู้คนรายรอบตัวว่า “ผมยังไม่ได้เห็นกิจกรรมอะไรมากมายที่นี่ อาจจะเป็นเพราะที่เมืองนี้ ดนตรีแจ๊สมีชีวิตชีวามากอยู่แล้ว”

คม ซึ่งพำนักอยู่ที่เมืองไมอามี ฟลอริดา วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า

“ตอนนี้เมืองที่ผมอยู่ มีรายการวิทยุชื่อว่า WDNA 88.9 จะจัดให้นักดนตรีรุ่นเด็กๆ ได้มาเล่นออกอากาศในรายการของสถานี ตั้งแต่บ่ายโมงถึงสี่โมงเย็น และจะมีแจ๊สคลับหลายๆ ที่เปิดให้นักดนตรีมาเล่นกันตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ สำหรับตัวผมได้รับเกียรติให้ไปเล่นที่ Ollivier’s Jazz Club อยู่ในส่วน Upper East Side ของไมอามี”

“เมืองหลวงแห่งแจ๊สในปัจจุบัน คือ นิวยอร์ก ซึ่งผมไปเรียนปริญญาโทที่นั่น มีเพื่อนๆ ส่งข่าวสารมาครับ เช่นที่ The National Jazz Museum ในย่านฮาร์เล็ม จะมีมือเบสสาวชาวมาเลเชียดาวรุ่ง Linda Oh เล่นที่นี่ และคลับดังๆ ก็คงมีอะไรน่าสนใจเช่นกัน แต่สำหรับทั้งประเทศก็คงหนีไม่พ้นการที่ประธานาธิบดีโอบามาและภรรยา ได้เป็นเจ้าภาพที่ทำเนียบขาว ณ วอชิงตัน ดีซี จัดงานนี้ในวันที่ 29 เมษายน โดยมี Aretha Franklin, Al Jarreau, Sting, Herbie Hancock และนักดนตรีเก่งๆ อีกมากมาย ซึ่งช่องสาธารณะ ABC จะนำฉายในรายการ “Jazz at the White House” ในวันเสาร์ช่วงเย็นๆ ตามเวลาที่อเมริกา”

สำหรับประเทศไทย กิจกรรมวันแจ๊สโลก ภายใต้ธีม Footsteps of our father ดำเนินการโดยยูเนสโก และ Sweet Records โดย วิรุณ เลิศปัญญไว จะมีขึ้นตั้งแต่ 18.00 น. ไปจนถึง 23.00 น. ณ เดอะ คอมมอนส์ ซอยทองหล่อ 17 ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

แม้จะเป็นกิจกรรมที่หน่วยงานภาครัฐ อย่าง กระทรวงวัฒนธรรม ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย แต่โดยภาพรวมจัดเป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่อบอุ่นไม่น้อย เริ่มต้นด้วยการแสดงของวง Dixielogy ในแบบดิกซีแลนด์ ตามด้วยวงของ ภาธร ศรีกรานนท์ บรรเลงเพลงของ Benny Goodman , ซันนี ทริโอ และ แนท บัณฑิตา นำเสนอผลงานใหม่ Two of a Kind , วงของ วิลเลียม เวท ฟีเจอริง เด่น อยู่ประเสริฐ บรรเลงเพลงของ Benny Carter และปิดท้ายด้วยแจ๊สออร์เคสตรา บรรเลงเพลงบิ๊กแบนด์ผลงานของ Duke Ellington และ Count Basie

ในวันเดียวกัน ‘เดอะ ลิฟวิ่ง รูม’ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท จัดกิจกรรมพิเศษนำเสนอดนตรีแจ๊สให้ฟังอย่างเต็มอิ่มติดต่อกัน 9 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 15.00-24.00 น ขณะที่ร้านซิลเวอร์ไลนิ่ง พัทยา ก็มีกิจกรรมฉลองวันแจ๊สโลกเช่นเดียวกัน โดยมี ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี และวงดนตรีร่วมสมัยหลายวงไปบรรเลงที่นั่น 


ครั้งหนึ่ง วิรุณ เคยให้ความเห็นต่อสภาพดนตรีแจ๊สในประเทศไทยว่า

“ไม่ถึงกับดี ไม่ถึงกับแย่ กลาง ๆ ด้วยปัจจัยหลาย ๆ ด้าน เราพบว่างานที่ดีก็มี งานที่ไม่ดีก็เยอะ สภาพโดยรวม ทั้งผู้จัด ผู้เล่น ผู้ฟัง ยังไม่ใช่แบบที่ควรจะเป็น เหมือนกับที่นิวยอร์กหรือญี่ปุ่น ดนตรีแจ๊สที่อเมริกาถือว่าเป็นจุดกำเนิด เพราะฉะนั้น จึงมีความเป็นวัฒนธรรมสูง เป็นศิลปะ เกินจากคำว่าดนตรีไปแล้ว เป็นรากเหง้าของคนอเมริกัน...


“โดยส่วนตัวผมมองว่า ดนตรีแจ๊ส ควรเข้าไปหาคนส่วนใหญ่มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ดนตรีแจ๊สมีหลายรูปแบบ ทั้งแบบฟังง่าย ฟังยาก คนฟังเพลงคงมีความรู้สึกอยากที่จะฟัง ไม่มากก็น้อย ถ้าหากจังหวะ เวลา หรือสถานที่ มัน match กัน แล้วถ้าวงที่เล่นบรรเลงได้ตรงกับคาเรกเตอร์ที่เขาชอบ มันก็จะเป็นการเพิ่มฐานกลุ่มคนฟังขึ้นมาได้”

-3-

แม้โดยสถานภาพ ‘แจ๊ส’ เป็นเสมือน ‘ดนตรีของโลก’ แต่ในความเป็นจริง กลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชักชวนให้ทุกคนหันมาฟังดนตรีรูปแบบนี้

คนรุ่นใหม่อย่าง เก่งฉกาจ สะท้อนมุมมองว่า “ดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีที่ต้องสะสมประสบการณ์ในการฟัง ผมว่าคำตอบหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจ และเปิดใจได้มากขึ้น คือ การให้ความรู้แก่ผู้ฟัง อะไรก็ตามที่จะช่วยให้ผู้ฟัง ได้ค้นพบเสน่ห์ของดนตรีแจ๊ส ผมว่าเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของนักดนตรีแจ๊สครับ และหลังจากนั้น ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของดนตรีพาผู้ชมไปต่อ”

นักดนตรีที่เห็นโลกด้านธุรกิจอย่าง อาร์ม อมรฤทธิ์ สำราญภูติ ระบุทางออกของเรื่องนี้ว่า ต้องร่วมกันสร้างชุมชนแจ๊สในไทย

“ตอนนี้ เห็นมีแค่ Sweet records แต่เป็นอีเวนท์แล้วขายบัตรซะมากกว่า แถมแนวเพลงยากที่คนทั่วไปจะเข้าถึง (hard core เกินไป เหมือนดูกันเอง) ทาง Jazz happens พยายามทำอยู่ แต่เหมือนทำอยู่คนเดียว ร้านก็เล็กเกินไป พลังไม่พอ ร้านต่างๆ ที่เหลือก็แค่ทำหน้าที่ของตัวเอง สุดท้ายก็เอายอดขาย ไปเอานักดนตรีต่างชาติดูดีมาเป็นจุดขาย แม้จะเป็นของปลอม...หรือ สุดท้ายก็(กลายเป็นเพลง)ป๊อปอยู่ดี สถาบันการศึกษาพยายามทำอยู่ แต่ก็ลึกเกินไป ถ้าอยากทำลึกๆ ให้ทำกันเอง ถ้าอยากขายบัตร ให้ commercial มากขึ้น....คนฟังจะได้ไม่ปิดประตู... ”

ที่ผ่านมา เมื่อแจ๊สปรากฏขึ้นบนพื้นที่ใดในโลก มักเจือด้วยสำเนียงท้องถิ่นนั้นๆ อันเป็นความคลี่คลายโดยธรรมชาติ นั่นคือประเด็นที่ กฤษณะ ชิตปรีชา ตั้งข้อสังเกตไว้ นอกจากการให้ความรู้แก่ผู้ฟัง

“การโปรโมทดนตรีแจ๊สให้ได้รับการยอมรับ ในส่วนตัวผมคิดว่า เราอาจจะต้องสร้างสังคมให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ของคนฟังเพลงทั่วไป อย่างเช่น มีการจัดงานคอนเสิร์ตบ่อยขึ้น หรืออาจจะนำเพลงไทยมาเรียบเรียงในแบบดนตรีแจ๊สมากขึ้นครับ น่าจะช่วยได้มากกว่าการที่เราเล่นเพลงสแดนดาร์ด เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังคงคิดว่าดนตรีแจ๊สเป็นดนตรีที่ฟังยาก แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ได้ยากอย่างที่คิด”

ท้ายที่สุด นักศึกษาปริญญาเอก อย่าง คม วงษ์สวัสดิ์ นำเสนอความเห็น จาก ‘วันแจ๊สโลก’ หรือ ‘แจ๊สในบริบทของสังคมไทย’ ว่า

“ผมมี 2 ข้อที่อยากนำเสนอ เรื่องแรก ผมเชื่อในประโยคที่ว่า ‘สังคมที่ดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกันสร้าง’ (คำพูดของอาจารย์สุกรี เจริญสุข) ซึ่งสิ่งเหล่านี้พิสูจน์ได้จากงานหลายๆ งานที่ได้ทำและลงมือเอง ในฐานะนักดนตรีแจ๊สและเป็นนักวิชาการคนหนึ่ง ต้องทำงานให้คนอื่นเข้าใจ สร้างฐานและรากฐานให้แก่สังคมดนตรีก่อน แล้วสังคมเหล่านี้จะเข้าใจและสามารถสร้างสังคมรุ่นต่อๆ ไปที่มีสังคมที่เราอยากให้เป็น เราต้องมีคนที่สามารถสื่อสารเรื่องของดนตรีแจ๊สให้เป็นเรื่องสนุก ให้เป็นเรื่องของเด็กๆ ให้เป็นเรื่องของคนทุกคน ถ้าลองถามว่าเมืองไทย มีใครไหมที่เป็น Jazz Hero ที่มีทั้งประสบการณ์และความรู้ด้านวิชาการ (ที่เป็นสายตรง) และเป็นนักสอนที่สอนได้สนุก ผมกางนิ้วออกนับได้ไม่กี่ท่าน ถ้าเปรียบเทียบกับทางสาขาวิทยาศาสตร์ ที่คนว่าเข้าใจยาก เขาก็มี Science Communicator เช่น Carl Sagan (1934-1996) หรือ Neil deGrasse Tyson คนเหล่านี้สามารถทำเรื่องยากๆ ให้เข้าใจได้ง่าย สนุก และน่าสนใจ ผมว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งแรกที่สังคมแจ๊สเองในประเทศไทยยังขาดอยู่ครับ”

“เรื่องต่อมา เป็นเรื่องของ วิสัยทัศน์ ทั้งของผู้นำประเทศ และผู้นำหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะด้านการศึกษา แจ๊สเป็นดนตรีที่ใช้ความเป็นปัจเจกชนมาก มีเสรีในการแสดงออกโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ และนำมันมาใช้ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่การศึกษาพื้นฐานของเมืองไทยไม่ได้สอน แต่เป็นสิ่งที่โลกยุคปัจจุบันและยุคใหม่ต้องการอย่างยิ่ง ถ้าทางผู้นำหน่วยงานต่างๆ มองไม่เห็นตรงนี้ ก็จะคุยกันต่อลำบากครับ และไม่อยากคิดว่าเราจะพัฒนาประเทศไปในทิศใด?”