'สุสานเผานั่งยาง' พื้นที่รอยต่อช่องโหว่ 'เอาคนไปฆ่า'

'สุสานเผานั่งยาง' พื้นที่รอยต่อช่องโหว่ 'เอาคนไปฆ่า'

(รายงาน) รายงาน "สุสานเผานั่งยาง" พื้นที่รอยต่อช่องโหว่ "เอาคนไปฆ่า"

จากความบังเอิญในการทำข่าวของทีมข่าวสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี เพื่อย้อนรอยคดีฆาตกรรม“นางบังอร ทองอ่อน”ชาวบ้านดงบัง ต.โนนทอง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ที่ถูกฆ่าแล้วเผานั่งยางอำพรางศพ ที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติเขือน้ำ หรือบางคนมักเรียกว่าป่ากุดจับ ใกล้เชิงเขา หลัก กม.ที่ 48 ถนนสายกุดจับ – หนองแวง ติดกับหมู่บ้านคำบอนเวียงชัย ต.หนองแวง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี หลังจากคดีไม่คืบแม้ว่าเหตุจะเกิดตั้งแต่ปี 2557 ทำให้ได้พบว่าบริเวณใกล้กับจุดที่นางบังอรถูกเผา มีร่องรอยหลักฐานการเผาอำพรางศพ ที่ใช้ยางรถยนต์ คล้ายกับที่เผานางบังอร อีกหลายจุด จนเป็นข่าวฮือฮา ว่าเป็น “สุสานเผานั่งยาง”และเป็นแหล่งที่มีการนำเอาคนมาเผานั่งยางที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และที่สำคัญมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่คนมีสี จนมีการเชื่อมโยงถึงการอุ้มรีดไถของตำรวจนอกรีต รวมทั้งจะมีการรื้อคดีคนหายอีกหลายคดีที่มีคนหายไปอย่างไร้ร่องรอย
เมื่อทีมข่าวไปลงพื้นที่ สอบถามชาวบ้านระแวกนั้นต่างบอกกันเป็นเสียงเดียวกันว่า ชื่อป่าจุดนี้ชาวบ้านจะรู้จักกันในชื่อ “ป่าช้าคนเก่ง” เมื่อเห็นควันไฟลอยขึ้นฟ้าออกจากป่าที่มักจะเกิดขึ้นช่วงต้นไม้หนาทึบ และเป็นตอนกลางคืน ชาวบ้านก็จะรู้กันแล้วว่า มีการเผานั่งยางเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นเวลากลางคืนจึงไม่มีใครกล้าเข้าไปดู และไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะบริเวณนี้เปลี่ยวมาก กลางคืนแทบจะไม่มีคนเดินทางผ่าน

แต่กรณีการเสียชีวิตของนางบังอร เกิดขึ้นแตกต่างจากกรณีอื่น ๆ เนื่องจากมีการเผาในช่วงบ่ายประกอบกับฝนตกทำให้การเผาไหม้ไม่หมด จนนำไปสู่การแจ้งเหตุ และมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูการเผา ยังพบชิ้นส่วนที่ถูกเผาไหม้ไม่หมด ประกอบกับมีคดีแจ้งคนหายออกจากบ้าน เมื่อมีหลักฐานหลายชิ้นประกอบกันพร้อมกับสิ่งของที่เหลือจากการเผาและผลการตรวจดีเอ็นเอตรงกับญาติ ทำให้กรณีของนางบังอรกลายเป็นรายแรกที่มีหลักฐานว่า “มีคนถูกเผานั่งยาง” ที่บริเวณนี้ แต่ในช่วงเกิดเหตุปีนั้นสภาพป่าที่นี่เขียวครึ้มต้นไม้ปกคลุมไปหมด ทำให้ไม่สามารถเห็นบริเวณโดยรอบ จึงไม่มีการตรวจสอบว่ามีการเผารายอื่นที่นี่อีกหรือไม่

แต่ความลับก็ถูกเปิดเผยเมื่อสภาพป่าโล่งเตียนเพราะฤดูแล้งมาเยือน หลักฐานทุกอย่างจึงโผล่ออกมาให้ได้เห็นกันซึ่งเชื่อว่าคดีนางบังอรแม้จะพบการถูกเผานั่งยางเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่ขณะนี้พบว่ามากกว่า 2 จุด ที่พบมีข้อบ่งชี้ว่าอาจจะเกิดการเผานั่งยางหลังจากเกิดกรณีของนางบังอรด้วยซ้ำไป
ชาวบ้านเล่าว่าป่าบริเวณนี้ ปกติจะมีต้นไม้เขียวหนาครึ้มในช่วงฤดูฝน แต่เนื่องจากช่วงนี้เป็นหน้าแล้ง อากาศร้อนจัด ประกอบกับป่าโซนนี้ถูกไฟป่าเผาจนทำให้เกิดเป็นป่าโปร่ง มองทะลุได้ค่อนข้างไกล แต่จุดที่เป็นสุสานเผานั่งยาง อยู่ห่างจากชุมชนหมู่บ้านคำบอนเวียงชัย ประมาณ 1 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งต้องเดินเท้าหรือใช้พาหนะประเภทรถจักรยานยนต์เข้าไปตามทางเกวียนอีกประมาณ 400 เมตรเศษ ทำให้ปกติไม่มีใครกล้าเดินเข้าไปในป่ายกเว้นเด็กวัยรุ่น

ชาวบ้านบางคนที่ต้องการหาของป่าหรือเก็บเห็ดในบริเวณใกล้เคียงก็เคยเข้าไปบ้าง แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครเข้ามามากนัก เพราะปกติที่บริเวณนี้ต่างได้รับการเรียกขานว่าเป็น”สุสานคนเก่ง” หรือ “ป่าช้าคนเก่ง” ที่ต่างก็เป็นที่รู้กันว่า จะมีคนถูกนำมาเผานั่งยางหรือทำลายศพอยู่เสมอ แม้บางคนจะบอกเล่าให้ฟังแต่ก็ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะชาวบ้านเชื่อว่าคนที่กระทำคือเจ้าหน้ารัฐ และคนที่ถูกนำมาเผานั่งยางส่วนใหญ่ถูกระบุว่าเป็นคนไม่ดี เกี่ยวข้องกับยาเสพ จึงทำให้ไม่มีใครเข้าไปเกี่ยวข้อง

แต่พอเป็นข่าวใหญ่โต ทำให้มีการเข้าไปตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจปรากฏว่าป่าแห่งนี้มีประชาชนในพื้นที่กล้าพอที่จะเดินเข้าออก เพื่อหวังมาดูให้เห็นกับตา และต่างจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์กันต่าง ๆนานา จนมีรอยเหยียบย่ำจนโล่งเตียนยิ่งกว่าเดิม ความวิเวกที่ล่ำลือว่าน่ากลัว ก็เริ่มหายไป แม้ทางเข้าจะมีการตั้งศาลพระภูมิพร้อมเครื่องเซ่นไหว้เอาไว้ ทั้งของเก่าและใหม่

เพราะข่าวที่ออกไปทำให้ขณะนี้มีคนหลั่งไหลเข้าไปพิสูจน์ “ป่าช้าคนเก่ง”แห่งนี้ จนเจ้าหน้าที่เกรงว่า อาจจะทำลายหลักฐานสำคัญโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
บริเวณป่าแห่งนี้ นอกจากความเป็นป่าสงวนและเป็นป่าช้าคนเก่งแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ยังเล่าว่า ในอดีตป่าแห่งนี้เคยเป็น “ทุ่งสังหาร” เพราะเคยเป็นพื้นที่สีชมพูมาก่อน และเป็นที่รอยต่อคาบเกี่ยวระหว่าง อ.บ้านผือ แต่ผืนป่ากว่า 900 ไร่แห่งนี้ได้เชื่อมต่อกับเขตป่าของอำเภอสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เพียงแต่ข้ามสันเขาภูพานน้อยหรือที่ชาวบ้านเรียกภูเขาขาดไปอีกฝั่งเท่านั้น และยังเชื่อมไปยัง อ.กุดจับ จ.อุดรธานี รัศมีโดยรอบ ยังมีพื้นที่ อีกหลายอำเภอ เพียงแค่ออกจากบริเวณป่าฝั่งขวาก็วิ่งตรงไปยัง อ.กุดจับ แต่ถ้าเลี้ยวซ้ายเพียง 2 กิโลเมตรก็ถึงสามแยกเขาขาด เลี้ยวซ้ายไปจังหวัดหนองบัวลำภู เลี้ยวขวาไป อ.บ้านผือ และยังเดินทางไปยัง อ.น้ำโสม จนถึง อ.สังคม จ.หนองคายได้อีกด้วย

ยิ่งเมื่อดูร่องรอยที่เหลืออยู่ แม้ขณะนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นฝีมือของใคร แต่ลักษณะการกระทำ หรือหลักฐานที่พบ พล.ต.ต.พีระพงศ์ วงษ์สมาน ผบก.ภ.จว.อุดรธานี บอกว่า “เชื่อว่าน่าจะเป็นการก่อเหตุของกลุ่มบุคคลเดียวกัน”ทั้งนี้ต้องว่าด้วยพยานหลักฐาน

“อีกอย่างคนก่อเหตุค่อนข้างมีจิตวิทยา บริเวณนี้ห่างไกลผู้คน เป็นป่าสงวน ไม่มีที่นาที่ทำกินของใคร ก่อนหน้าถนนก็ไม่เจริญลาดยางก็เพิ่งจะเสร็จไม่นานมานี้ ทำให้เป็นช่องว่าให้เข้ามาทำ”พล.ต.ต.พีระพงศ์ บอก

ณ วันนี้พบว่าจุดที่มีหลักฐานการเผานั่งยาง แล้วจำนวน 23 จุด แต่บริเวณกระจุกอยู่ไม่ห่างกันมากนัก บางจุดอยู่บนโขดหินเชิงเขา แต่ที่อยู่ห่างจากจุดอื่นคือจุดที่ 23 ที่อยู่ใกล้ทางเข้าเพียง 100 เมตร ซึ่งมี 8-9 จุดพบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่ถูกเผาจนดูสภาพไม่ออกว่าเป็นชิ้นส่วนใดของร่างกาย นอกจากนั้นยังมีชิ้นส่วนแผงอิเลกทรอนิกส์ที่คาดว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ กระดุมกางเกง หัวเข็มขัด ชิ้นส่วนนาฬิกา เหรียญบาท จุกเติมลมยางรถยนต์ ฝาขวดเหล้า นอกจากนี้ยังมีชุดอีโอดีลงตรวจหาวัตถุที่อาจจะเป็นหลักฐานการฆาตกรรม แต่ไม่พบว่ามีหลักฐานเช่นชิ้นส่วนกระสุนลูกปืน หรือวัตถุอื่นๆ ยกเว้นลวดยางรถยนต์ที่ยังคงกองให้เห็นสภาพขดลวดที่เจ้าหน้าที่วัดได้ขนาดวงล้อเฉลี่ยที่ 14-16 นิ้วที่พิสูจน์หลักฐานได้เก็บแทบทุกกอย่างเพื่อนำไปตรวจสอบอย่างละเอียด

ขณะที่ชิ้นส่วนกระดูกได้ส่งไปตรวจที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ได้มีนักวิทยาศาสตร์ชีวะจุลสาร หรือดีเอ็นเอ ที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อสกัดดีเอ็นเอ เนื่องจากกระดูกที่ได้ ส่วนใหญ่จะเก่าบางชิ้นมากกว่า 10 ปี และยังถูกเผาด้วยความร้อนสูง ซึ่งน่าจะทราบผลภายใน 1-2 สัปดาห์

ซึ่ง พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รอง ผบ.ตร. ที่ได้ไปตรวจที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 เมษายน ได้บอกว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร.ให้ความสำคัญ จึงได้สั่งการให้ ผบช.ภาค 4 ตั้งชุดทำงาน รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดอย่างละเอียด นำหลักฐานทั้งหมดไปพิสูจน์และติดตามคดีอย่างใกล้ชิด คดีนี้ได้ให้ พล.ต.ท.ปิยะ สอนตระกูล ผช.ผบ.ตร.ลงมาดูคดีด้วยตัวเองแบบตรงไปตรงมา และหลังจากผลดีเอ็นเอ ออกมา ตำรวจจึงจะรื้อคดี เป็นราย ๆ ไป

ในการสอบสวนแบ่งคดีออกเป็น 23 สำนวน ตามจำนวนจุดที่พบร่องรอยการเผา โดยมีพนักงานสอบสวน 3 ทีม แบ่งไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้มอบให้ สภ.บ้านผือ อุดรธานี รับเรื่องร้องขอจากประชาชน กรณีญาติพี่น้องสูญหาย ต้องการให้ตรวจเปรียบเทียบกับจุดที่พบ ซึ่งมีประชาชนเดินทางมาขอติดต่อชี้แจงเบื้องต้นทางโทรศัพท์ และตำรวจลงไปติดตามคดีแจ้งคนหาย ทั้งหมดมีรวมกว่า 23 รายแล้วเฉพาะที่นำหลักฐานมาแจ้งประสงค์ที่ สภ.บ้านผือ รวมแล้ว 15 ราย

แม้หลักฐานที่ได้จะไม่สมบูรณ์นัก แต่มีหลายคนที่มีความหวัง หลังจากที่พบสุสานเผานั่งยาง ได้มีผู้ประสงค์ขอให้มีการรื้อคดี ให้ติดตามหาญาติที่หายไป ทั้งในพื้นที่ อ.บ้านผือ และใกล้เคียง ทั้งที่เรื่องที่เคยเป็นคดีและไม่เคยเป็นคดี โดยได้จัดแฟ้มพิเศษ “รับแจ้งเป็นหลักฐานคนหาย ที่ประสงค์พิสูจน์ดีเอ็นเอกรณีพบซากกระดูก เมื่อวันที่ 20 เมษายน” ที่ สภ.บ้านผือ ได้มีผู้นำหลักฐานแจ้งความคนหาย มายื่นความประสงค์อย่างต่อเนื่อง หลายคนเกิดความหวังว่าได้ความจริง

จากข้อมูลที่ได้ จำนวน 15 ราย ที่สภ.บ้านผือ พบว่า คนที่หายไปเป็นคนในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี 11 ราย เลย 2 ราย มหาสารคาม 1 ราย และเพชรบูรณ์อีก 1 ราย ช่วงระยะเวลาที่หาย มีตั้งแต่ 1 ปี จนถึงกว่า 10 ปี และที่หายไปในปี 2552 มีจำนวนมากถึง 5 ราย ที่ต่างก็เป็นคนพื้นเพอุดรธานี

ซึ่งในปี 2552 นี้ มีคดีของนางกุหลาบ อินทร์ศรี ที่หายจากบ้านพักตำรวจ สภ.บ้านเทื่อม อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี แม้ว่าเบื้องต้นจะมีผู้รับสารภาพ ทั้งเป็นผู้จ้างวานและผู้ลงมือฆ่า ในชั้นสอบสวน แต่ไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เพราะต่างก็ปฏิเสธในชั้นศาล ประกอบกับขาดหลักฐานสำคัญ โดยเฉพาะศพที่เชื่อว่าถูกเผาทำลายไปแล้ว ที่สำคัญผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นมีตำรวจในพื้นที่อำเภอบ้านผือ ถึงแม้ว่าไม่ถูกดำเนินคดี แต่ก็ถูกย้ายออกนอกพื้นที่ ไประยะหนึ่ง แต่สุดท้ายก็ได้ย้ายกลับมาพร้อมกับได้เลื่อนขั้นเป็นผู้กอง จากกรณีนี้ทำให้เกิดข้อกังขากันว่า “ศพของนางกุหลาบน่าจะเป็นอีกรายที่ถูกเผาอำพรางในสุสานเผานั่งยางแห่งนี้”

เช่นเดียวกับคดีของนางบังอร แม้จะสามารถพบหลักฐานเอกลักษณ์บุคคล พร้อมกับสืบสวนได้ว่ามีตำรวจในพื้นที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ขาดพยานเพราะไม่มีใครกล้าเป็นพยานให้ นายนิกร ทองอ่อน ลูกชายนางบังอร ที่พยายามทวงถามความคืบหน้าของคดีมาโดยตลอด บอกว่า มีคนเห็นเหตุการณ์ที่แม่ถูกอุ้ม เห็นทั้งคนเห็นทั้งรถ แต่ไม่มีใครกล้ามาเป็นพยาน จนถึงตอนนี้ก็ยังหวังว่าจะได้รับความยุติธรรม อยากให้คนกระทำผิดถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

นอกจากนั้นยังมีกรณีของนายคำปุ่น ถิ่นแก้ว ช่างโยธา ชาว ต.หนองแวง อ.บ้านผือ ที่ น.ส.สุภัสสรณ์ ชินพัฒน์สกุล ผู้เป็นหลานสาว บอกว่า นายคำปุ่น ที่หายตัวไปตั้งแต่ปี 54 แจ้งความคนหายไว้ที่ สภ.บ้านผือ ตั้งแต่ปี 54 ที่ ทราบว่ามีการเผานั่งยางที่จุดนี้หลายศพ ทำให้คิดว่าอาจจะมีอาของตนรวมอยู่ด้วย ไม่รู้ว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง แต่วันที่อาหายตัวไป ได้มีชาย 2 คนซึ่งนั่งรถยนต์กระบะสีดำ ไม่ทราบยี่ห้อและทะเบียน แต่ไม่รู้ในรถมีอีกกี่คน มาเรียกบอกว่า ให้ไปช่วยซ่อมถนน ไม่ทราบว่าที่ไหน แต่เมื่ออาขึ้นรถไปกับคนกลุ่มนี้ก็หายไปไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย

“เวลาที่ผ่านไปนาน ก็ไม่ทราบว่าจะเหลือหลักฐานอะไรบ้าง แต่วันนี้พวกญาติ ๆ มั่นใจว่า ในศพที่ถูกเผาทั้งหมด น่าจะมีอาของหนูรวมอยู่ด้วย เพราะอยู่ใกล้บ้าน แต่ก็ไม่รู้ว่าอาถูกอุ้มไปเพราะอะไร คงต้องรอผลการตรวจจากทางตำรวจ”น.ส.สุภัสสรณ์ บอก

นอกจากนี้ยังมีอีกคดีที่เกี่ยวข้องกับตำรวจ คือคดีของนายดารา พาไสย์ ที่ถูกตำรวจในพื้นที่ สภ.น้ำโสมอุ้มรีดเงิน 560,000 บาท ที่ถือเป็นคดีที่เชื่อมโยงกัน เพราะมีตำรวจในพื้นที่ สภ.บ้านผือ บางคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับตำรวจกลุ่มนี้เช่นกัน

ซึ่งเรื่องนี้ พล.ต.ท.บุญเลิศ ใจประดิษฐ ผบช.ภ.4 บอกว่า หากเป็นการกระทำของตำรวจนอกรีต ก็คงต้องสอบสวนและสอบปากคำผู้เสียหายที่เข้าร้องเรียน หากเป็นเรื่องของอดีตตำรวจที่ถูกออกกจากราชการ ก็คงติดตามตัวมาสอบสวนและเฝ้าดูความเคลื่อนไหว เพราะบุคคลเหล่านี้จะทำอาชีพอื่นไม่เป็น อาจจะไปรวมกลุ่มกันทำเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำขึ้นอีก ได้ ถ้าเป็นคนไทยก็คงไม่ยากเพราะมีญาติที่จะให้รายละเอียดเป็นพยานรวมทั้ง การตรวจดีเอ็นเอ แต่ถ้าเป็นคนต่างด้าวก็อาจจะติดตามได้ยาก เพราะการตรวจเอกลักษณ์บุคคลจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น แต่หากเข้ามาอย่างถูกต้อง การตรวจสอบก็จะง่ายเข้า

ด้านพล.ต.ต.ขจรศักดิ์ ปานสาคร รอง ผบช.ภ.4 บอกว่าตอนนี้ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด แต่เมื่อตรวจดูสำนวนเก่าๆมีช่องทางที่จะนำมาขยายผล เนื่องจากมีพยานที่ก้ำกึ่งซึ่งก่อนหน้าไม่กล้าให้การเพิ่มเติม ไม่กล้าให้ปากคำ ซึ่งได้มีการจับตากลุ่มผู้ต้องสงสัย โดยมีทั้งเจ้าหน้าที่และไม่ใช่เจ้าหน้าที่และมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ไม้ และมีลักษณะแผนประทุษร้ายคล้ายกัน การกระทำแบบนี้ต้องเป็นกลุ่มคนไม่ใช่คนเดียว ที่สำคัญยืนยันว่าการกระทำแบบนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ถ้าพยานหลักฐานไปถึง แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อมีหลักฐานว่าเป็นผู้กระทำผิดก็จะไม่ละเว้น

คำยืนยันของตำรวจทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาการสืบสวนไม่สามารถที่จะดำเนินการได้โดยตำรวจในพื้นที่ ชาวบ้านไม่กล้าเป็นพยานเพราะกลัวอิทธิพล เช่นเดียวกับชาวบ้านที่รู้ว่า “สุสานเผานั่งยาง”แห่งนี้เป็นการกระทำของใคร แต่ไม่กล้าที่จะพูดความจริง เพราะเกรงอันตรายที่จะมาถึง และหากวันที่ความจริงปรากฎ พวกเขาเหล่านั้น ที่หายออกจากบ้านไปอย่างไร้ร่องรอย คงมีโอกาสได้กลับบ้าน แม้จะเหลือเพียงเถ้าดินที่เก็บได้จากสุสานเผานั่งยางแห่งนี้ก็ตาม