'ดีเอสไอ'ยันมีข้อมูลเส้นทางการเงิน 'ธรรมกาย' ชัด

'ดีเอสไอ'ยันมีข้อมูลเส้นทางการเงิน 'ธรรมกาย' ชัด

"อธิบดีดีเอสไอ" แจงในชั้นสอบสวนมีข้อมูลเส้นทางการเงินชัดเจน แม้ทนายวัดธรรมกายแจ้งความร้องทุกข์ก็ไม่กระทบรูปคดี

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกรณีที่นายสัมพันธ์ เสริมชีพ ทนายความวัดพระธรรมกาย ปฏิเสธว่าพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่ได้เป็นผู้รับเช็คมูลค่า 100 ล้านบาท ที่สั่งจ่ายจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด พร้อมเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่นำเช็คไปขึ้นเงินไว้ที่สภ.คลองหลวง ว่า การเข้าร้องทุกข์ของทนายไม่ส่งผลกระทบกับสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอ เพราะในชั้นสอบสวนมีหลักฐานเส้นทางการเงินครบถ้วน ส่วนผู้ที่นำเช็คไปขึ้นเงินเป็นเครือข่ายของวัดพระธรรมกาย ขณะนี้ดีเอสไออยู่ระหว่างขั้นตอนการขออนุมัติหมายจับจากศาล

ขณะที่แหล่งข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยว่า เช็คมูลค่า 100 ล้านบาท ที่ทนายความวัดพระธรรมกายนำมาแจ้งความเป็นเพียงเช็ค 1 ฉบับ ในจำนวนเช็คหลายฉบับที่สั่งจ่ายในชื่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย โดยเช็คฉบับดังกล่าวมีชื่อของน.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ เป็นผู้เซ็นสลักหลังแล้วนำไปขึ้นเงิน ซึ่งจากการสอบสวนพบว่าสุดท้ายเงินจำนวนดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้ในกิจการของวัด โดยเช็คที่สั่งจ่ายเกี่ยวข้องกับพระธัมมชโยและวัดพระธรรมกายมีกว่า 20 ฉบับ รวมมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท โดยมีเส้นทางการเงินเป็นลักษณะเข้าบัญชีทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรงแบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ เข้าบัญชีพระธัมมชโยโดยตรง มี 8 ฉบับ มูลค่า431 ล้านบาท เข้าบัญชีวัดพระธรรมกาย 10 ฉบับ มูลค่า 642 ล้านบาท และเข้าบัญชีมูลนิธิมหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง 5 ฉบับ มูลค่า 142 ฉบับ และทางอ้อมคือเงินเข้าสู่บัญชีเครือข่าย แต่สุดท้ายเส้นทางการเงินจะกลับเข้าสู่กิจการของวัดพระธรรมกาย

ผู้สื่อข่าวรายงานวันเดียวกันนี้ พระพุทธะอิสระ ได้โพสต์เฟสบุคมีข้อความตอนหนึ่งเรียกร้องให้ญาติธรรมของวัดพระธรรมกายยอมรับในกระบวนการยุติธรรม พร้อมชี้แจงว่าขั้นตอนการทำงานของดีเอสไอมีการพิจารณาในรูปแบบคณะกรรมการ ผ่านการกลั่นกรองและพิจารณาอย่างรอบคอบของคณะกรรมการคดีพิเศษ โดยคดีฟอกเงินของพระธัมมชโยเป็นคดีที่มีพยานเอกสารและพยานบุคคล รวมถึงผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์คลองจั่นฯกว่า 50,000 คน หากจะมีการออกมาเคลื่อนไหวโจมตีการทำงานของดีเอสไอว่าเร่งรัด ก็ขอให้นึกถึงผู้ที่ต้องเสียเงินก้อนสุดท้ายของชีวิตที่มีกว่า 50,000 คน ส่วนกรณีที่ระบุว่ามีการคืนเงินให้สหกรณ์กว่า 684 ล้านบาท แต่ความเสียหายจริงมีมากกว่าจำนวนเงินที่คืนให้กัลสหกรณ์ กรณีดังกล่าวถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว ในทางอาญาไม่สามารถยอมความได้