'สุรชัย'แจงแนวทางปชส.คำถามพ่วงประชามติ

'สุรชัย'แจงแนวทางปชส.คำถามพ่วงประชามติ

“สุรชัย” แจงแนวทางปชส.คำถามพ่วงประชามติ พร้อมให้สนช.เตรียมลุยพื้นที่ 9 กลุ่มจังหวัดแจงสาระสำคัญ

ที่ห้องประชุมรัฐสภา คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธาน ได้ชี้แจงแนวทางวิธีการในการประชาสัมพันธ์เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาระสำคัญของประเด็นคำถามพ่วงประชามติแก่สมาชิก สนช.

นายสุรชัย กล่าวว่า กรรมาธิการฯได้เตรียมทำรูปแบบการชี้แจงการตั้งคำถามพ่วงประชามติแล้ว โดยได้จัดทำสาระสำคัญมีรายละเอียดว่า ทำไมต้องมีคำถามเพิ่มเติม 1.เพราะนายกฯคือหัวหน้าทีมที่ทำให้การปฏิรูปประเทศประสบผลสำเร็จ 2.เพราะตามยุทธศาสตร์ชาติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปีจึงจะวางรากฐานการปฏิรูปประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ชาติมั่นคง เศรษฐกิจมั่งคั่งยั่งยืน ประเทศมีความสงบ ปรองดอง 3.เพราะรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส.และส.ว. ซึ่งทำหน้าที่กำกับให้มีการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ

นายสุรชัย กล่าวว่า คำถามเพิ่มเติม ถามว่าอะไร นั้นเป็นคำถามที่สนช.มีมติไปแล้ว คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ให้ที่ประชุมร่วมกันของ รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ” และอธิบายเหตุผลที่ต้องมีคำถามเพิ่มเติมเพราะ1.รัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. 2557 กำหนดให้สภานิติบัญญัติแห่ชาติตั้งคำถามเพิ่มเติมในการลงประชามติได้หนึ่งคำ ถาม 2.สภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศได้เสนอประเด็นคำถามให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเห็นควรตั้งคำถามเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. 25573.เพื่อให้มีกลไกในการดูแลการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วงเปลี่ยนผ่านระยะ 5 ปี

นายสุรชัย กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของคำถามเพิ่มเติมคืออะไร ก็คือ แก้ไขบทเฉพาะกาลให้ส.ว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลที่ทำหน้าที่กำกับการปฏิรูปตาม ยุทธศาสตร์ชาติ ร่วมประชุมกับส.ส.เป็นผู้เห็นชอบการแต่งตั้งนายกฯเพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ สังคมในช่วงเปลี่ยนผ่านในระยะ 5 ปีแรก ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติ

นายสุรชัย กล่าวว่า ส่วนการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ประเด็นคำถามเพิ่มเติมนั้นทางคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ได้แบ่งกลุ่มจังหวัดออกเป็น 9 กลุ่มจังหวัด ซึ่งได้เปิดให้สมาชิกได้แจ้งความจำนงว่าจะไปชี้แจงในกลุ่มจังหวัด ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีสนช.ที่เป็นผู้ประสานงาน ตามรายละเอียดดังนี้ คือ 1.กลุ่มจังหวัดลพบุรี จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และสระบุรี ผู้ประสานงานคือพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ 2.กลุ่ม จังหวัดชลบุรี จำนวน 9 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก และสมุทรปราการ ผู้ประสานงาน พล.ร.อ.ยุทธนา ฟักผลงาม 3.กลุ่ม จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 8 จังหวัดได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และสุพรรณบุรี ผู้ประสาน นายธานี อ่อนละเอียด 4.กลุ่ม จังหวัดอุดรธานี จำนวน 10 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ เลย นครพนม มุกดาหาร สกลนคร ขอนแก่น และกาฬสินธุ์ ผู้ประสานงาน รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน

นายสุรชัย กล่าวว่า 5.กลุ่มจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 10 จังหวัดได้แก่ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม ผู้ประสานงาน คือนายชาญวิทย์ วสยางกูร 6.กลุ่ม จังหวัดภูเก็ต จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ผู้ประสานงาน คือ พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ 7.กลุ่ม จังหวัดสงขลา จำนวน 7 จังหวัดได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พัทลุง และตรัง ผู้ประสานงานคือ นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล 8.กลุ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำปาง และลำพูน ผู้ประสานงานคือ นายกล้าณรงค์ จันทึก 9.กลุ่ม จังหวัดพิษณุโลก จำนวน 9 จังหวัดได้แก่ พิษณุโลก ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ผู้ประสานงาน คือพล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร

นายสุรชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีเวทีที่เป็นของ สนช.โดยเฉพาะ ที่ผ่านโครงการต่างๆที่มีอยู่ของ สนช. โดยไม่ได้ทำโครงการใหม่ เพื่อไม่รบกวนงบประมาณของแผ่นดินเพิ่มเติม อาทิ โครงการสนช.พบประชาชน โครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย โครงการประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ที่มีการจัดสรรงบประมาณไว้อยู่ และได้กระทำต่อเนื่องมาหลาย. โดยจะมีการปรับรูปแบบเพื่อให้เวลาให้สมาชิกสนช.ได้ชี้แจงประเด็นคำถามเพิ่มเติม โดยในช่วง เดือนพ.ค. มิ.ย. และ ก.ค.จะเป็นช่วงที่สนช.จะต้องทำงานหนักในการลงพื้นที่ นอกจากนี้ยังจะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อที่มีอยู่ในมือ คือ สถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา และสื่อพันธมิตร อาทิ ช่อง 5 7 11 และ สมาคมเคเบิลทีวี รวมไปถึงสื่อสิ่งพิมพ์ด้วย ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯจะมีการประชุมในวันที่ 3 พ.ค.นี้เพื่อสรุปรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง