ขุดหา “Pain Point” ปั้น Startup เงินล้าน!

ขุดหา “Pain Point” ปั้น Startup เงินล้าน!

การค้นหา“จุดเจ็บปวด”(Pain Point)หรือเหล่าปัญหาในชีวิตประจำวันของผู้คนแล้วมาสร้างสินค้าหรือบริการไปตอบสนองคือที่มาของธุรกิจ Startup เงินล้าน!

ใครจะเข้าใจเรื่องช้ำๆ ของการใช้ “บัตรเครดิต” ได้ดีไปกว่าผู้ประสบปัญหาตัวจริง อย่าง 3 ผู้ก่อตั้ง Piggipo” (พิกกิโปะ) แอพพลิเคชั่นเพื่อการบริหารการใช้จ่ายบัตรเครดิต  “สุพิชญา สูรพันธุ์” วัย 26 ปี, “ศิราธร ธรรมประทีป” และ “พงศ์ชัย ตั้งบวรวีรกุล” วัย 28 ปี

คนหนึ่งประสบปัญหามาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เพราะสนุกมือไปหน่อยกับการใช้บัตรเสริมที่พ่อแม่ให้ จนเกิดอาการควบคุมไม่อยู่ เผลอใช้เยอะ ใช้เกิน เลยต้องหมุนเงินมาจ่ายหนี้บัตรเครดิตกันสนุก อีกคนพอเริ่มทำงานได้ปีแรกก็สมัครบัตรเครดิต ด้วยความใจอ่อนกับสารพัดโปรโมชั่นที่แต่ละค่ายขนมาล่อ เลยจัดไปเบาๆ 10 ใบ!! พอควบคุมการใช้ไม่อยู่ก็เริ่มเจอะปัญหา มีหลายใบก็หลงลืมว่าใช้ใบไหนไปกับอะไรบ้าง จะเก็บใบเสร็จไว้ดูก็มีแต่ล้นกระเป๋า แต่ถ้าลืมชำระหนี้ให้ตรงเวลาดูสิ มีได้เจอกับ “ค่าทวงถาม” ให้เจ็บอกจุกใจไปอีกแน่

ส่วนหนุ่มคนสุดท้าย ที่มีปัญหาด้านการเงินมาก่อน เลยกลัวเหลือเกินกับการใช้บัตรเครดิต หลอนชีวิตที่รูดง่ายใช้คล่อง แต่ต้องมาทนทุกข์เพราะการเป็นหนี้ในอนาคต ถึงขนาดให้นิยามว่า ‘บัตรเครดิตคือภัยอันตรายสำหรับผม’

เรื่องเจ็บๆ ที่เกิดกับทั้ง 3 คน ถูกพิสูจน์ให้แน่ชัดขึ้นว่าคนอื่นๆ จะมีจุดเจ็บแบบเดียวกันไหม ด้วยการทำวิจัยและพบว่า คนไทยมากกว่า 4 ล้านคน! เป็นหนี้บัตรเครดิต หรือประมาณ 40% ของคนใช้บัตรเครดิตทั้งประเทศ

“เรารู้สึกว่า ปัญหามีอยู่จริง และใหญ่พอที่พวกเราจะเข้าไปแก้ไข เลยตัดสินใจทำแอพพลิเคชั่นตัวนี้ขึ้น”

และนั่นคือที่มาของ “พิกกิโปะ” ผู้ช่วยบันทึกรายการใช้บัตรเครดิต ที่จะบอกได้ว่าในแต่ละวันเราใช้บัตรเครดิตไปกับอะไรบ้าง ใช้บัตรไปเท่าไร มียอดหนี้เท่าไร มีวงเงินในบัตรเครดิตเหลือเท่าไร และเมื่อไรถึงเวลาต้องชำระหนี้กันแล้ว เพื่อให้สามารถวางแผนการใช้บัตรเครดิตได้ดียิ่งขึ้น ผลผลิตจากทีมที่ครบเครื่องทั้ง นักการตลาด และนักพัฒนาแอพ

และเพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ของไอเดีย พวกเขานำทีมเข้าประกวดในโครงการ Dtac Accelerate 2014 และเป็นหนึ่งในทีมผู้ชนะของปีนั้น ซึ่งนอกจากจะได้ไปดูงานไกลถึงซิลิคอนวัลเลย์ สหรัฐอเมริกา ยังได้ Dtac มาถือหุ้นในบริษัทด้วย และได้ทุนสนับสนุนจาก “หมู-ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์” ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Ookbee รวมทุนออกสตาร์ทในปีแรกที่ประมาณ 3 ล้านบาท ขณะที่รอบต่อมายังได้ VC (Venture capital)   อย่าง 500 ตุ๊กตุ๊ก, Golden Gate Ventures และ Angel Investor อีกส่วนหนึ่ง รวมยอดเงินกว่า 10 ล้านบาท!

ทำไมนักลงทุนถึงสนใจพิกกิโปะ นอกเหนือไปจากกระแส “FinTech” (Financial Technology) เทคโนโลยีด้านการเงินที่กำลังร้อนแรงสุดๆ เวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการตอบโจทย์ “โพรดักส์ดี ทีมดี และตลาดดี” โดยเป็นตลาดที่มีอยู่จริง พิสูจน์ได้จากการเปิดให้บริการมาประมาณ 2 ปี มียอดดาวน์โหลดแล้วถึงประมาณ 150,000 ดาวน์โหลด ขณะที่มีโมเดลในการหาเงินที่ชัดเจน โดยปัจจุบันจากที่ให้บริการฟรี ก็เริ่มมีฟีเจอร์เสริมเพื่อหารายได้เพิ่มเติมด้วย เช่น การเพิ่มหมวดการใช้งานบัตรเครดิต เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการติดตามการใช้งานบัตร รวมถึงพวกตีมต่างๆ ที่มาเป็นลูกเล่นในแอพ ซึ่งผู้ใช้จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อฟีเจอร์เหล่านี้ ขณะที่ยังมองถึงการจับมือทำโปรโมชั่นร่วมกับบัตรเครดิตต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้พิกกิโปะ ได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย เหล่านี้เป็นต้น

“เราเชื่อว่า เราทำในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ มีตลาดอยู่จริง มีโมเดลในการหาเงินที่น่าสนใจ และข้อมูลทุกอย่างไม่ได้มาจากมโนขึ้นเอง แต่เกิดจากการวิจัยและพิสูจน์” พวกเขาบอกหัวใจ

การเติบโตไปอีกขั้น คือได้ร่วมโครงการ MaybankFintech โดย เมย์แบงก์ ธนาคารอันดับหนึ่งของมาเลเซีย และกำลังขยายบริการไปยังมาเลเซียด้วย โดยมีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Credit Mavin” เพื่อให้เหมาะกับตลาดมุสลิมของที่นั่น

ข้ามจากเรื่องเจ็บๆ ด้านการเงิน มาดูหัวอกคนเล่นกอล์ฟกันบ้าง “ภูริชช์ อักษรทับ” ซีอีโอ วัย 36 ปี แห่งบริษัท กอล์ฟดิกก์ จำกัด (golfdigg) แอพพลิเคชั่นจองสนามกอล์ฟ ที่เขาและเพื่อนรุ่นน้อง “ธีระ ศิริเจริญ” วัย 33 ปี และ “พงษ์ศักดิ์ วอทอง” วัย 28 ปี ร่วมกันก่อตั้งขึ้น ธุรกิจที่ซีอีโอหนุ่มดูจะอินสุดๆ เพราะชอบเล่นกอล์ฟเป็นชีวิต

“ปัญหาหนึ่งของการไปเล่นกอล์ฟ คือ มีค่าใช้จ่าย ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้มีเงินมากมาย แต่ก็อยากตีกอล์ฟในสนามดีๆ ที่ราคาไม่แพงด้วย”

เขาบอก Pain Point ส่วนตัว ที่ดูจะเป็น “จุดเจ็บร่วมกัน” ของนักกอล์ฟหลายๆ คน และดูจะไม่ใช่แค่ฝั่งของนักกอล์ฟเท่านั้น แม้แต่เจ้าของสนามเอง ต่อให้ฮอต ต่อให้ดังแค่ไหน ก็ต้องมีช่วงเวลาที่ “สูญเปล่า” เพราะไม่มีคนมาเล่น

เขาร่ายให้ฟังว่า ประเทศไทยมีสนามกอล์ฟอยู่ประมาณ 200 สนาม รองรับนักกอล์ฟชาวไทยประมาณ 5 แสนคน ต่างชาติอีกประมาณ 5 แสนคน ลองคำนวณเวลาที่สนามกอล์ฟต้องสูญเสียไปจากช่วงที่ไม่มีคนมาเล่น พบว่า มีสูงถึงกว่า 4 พันล้านบาท! หรือคิดเป็นกว่า 40% ของเวลาทั้งหมด โหดใช่เล่น!

นั่นคือที่มาของ “กอล์ฟดิกก์” แอพพลิเคชั่นจองสนามกอล์ฟในรูปแบบ Last Minute Golf Deals ซึ่งจะเข้ามานำเสนอโมเดลที่ “วิน-วิน-วิน” ทั้งกับ สนามกอล์ฟ ที่สามารถหาลูกค้ามาเติมเต็มในช่วงเวลาที่สูญเสียได้ นักกอล์ฟก็จะได้เล่นในสนามที่ดี และราคาถูก ชนิดประหยัดสูงสุดได้ถึง 80% ส่วนกอล์ฟดิกก์เองก็สามารถหารายได้จากโมเดลนี้ จากค่าบริการที่บวกเพิ่มจากราคาสนามซึ่งลดแล้ว ที่ประมาณ 20% ด้วย 

แม้ช่วงแรกจะยังลุ้นอยู่ว่าโมเดลแบบนี้จะมีนักกอล์ฟสนใจจริงไหม แต่หลังเปิดให้บริการมาได้ 2 ปี พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้กอล์ฟดิกก์ อยู่ประมาณ 2 หมื่นคน มีสนามทั้งหมด 35 สนาม ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มเป็น 60 สนาม ที่สำคัญเป็น Startup ที่สามารถหาเงินได้ตั้งแต่ในปีแรก โดยมียอดขายกว่า 1 ล้านบาท ปีต่อมาขยับเป็นกว่า 7 ล้านบาท และปีนี้ตั้งเป้ารายได้ที่ 20 ล้านบาท! หรือเติบโตถึงกว่า 400%  ขณะปีหน้าก็เชื่อว่าจะเข้าสู่ “จุดคุ้มทุน” กับเขาแล้ว!

“ความสำเร็จมองว่าเริ่มต้นจากโมเดลก่อน โดยโมเดลที่เราคิดขึ้น เป็นเหมือน ‘วินโซลูชั่น’ ที่ตอบโจทย์ทั้งสนามกอล์ฟ นักกอล์ฟ และธุรกิจของกอล์ฟดิกก์เองด้วย” เขาสรุป

กอล์ฟดิกก์ คว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการ AIS StartUp 2014 ในหมวด Online and Digital และในปี 2558 ที่ผ่านมา บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ โดยโครงการอินเว้นท์ (InVent) ได้ลงทุนรวม 23.83 ล้านบาท ในบริษัทกอล์ฟดิกก์ จากธุรกิจที่ร่วมก่อตั้งโดยคน 3 คน ปัจจุบัน สามารถขยายทีม มามีพนักงานรวม 12 คน และยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ในอดีตน้อยคนนักจะเข้าใจ Startup ทว่าวันนี้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ทุ่มโปรโมทกันสุดตัว เช่นเดียวกับงาน Startup Thailand 2016 ที่เพิ่งจัดกันไปสดๆ ร้อนๆ ทั้ง 2 ทีมบอกเราว่า Startup ในเมืองไทยยังมีอนาคต เพราะเพิ่งเริ่มมาได้ไม่นาน เราสามารถเรียนรู้โมเดลจากประเทศอื่นที่เขาทำสำเร็จมาก่อนแล้วได้ ส่วนใครที่อยากเป็น Startup ก็ขอให้เข้ามาเรียนรู้และลงมือทำ อดทน และอย่ากลัวล้ม เพราะการล้มในวันที่ยังมีแรง มันง่ายต่อการลุกมาสู้ใหม่ ที่สำคัญพยายามหา “ทีมที่ดี” ที่สามารถทำงาน และฟันฝ่าอุปสรรคไปด้วยกันได้ รวมถึงหารูปแบบธุรกิจที่อยากทำ โดยอาจเริ่มจากความเจ็บปวดส่วนตัวของแต่ละคน จากนั้นก็วิจัยต่อเพื่อให้รู้ว่า จุดเจ็บนั้นมีใครรู้สึกเหมือนกันบ้าง ถ้าตลาดมีมากพอก็ลุยต่อ

เพราะความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ Startup อาจเริ่มจาก “จุดเจ็บเล็กๆ” ที่แต่ละคนรู้สึกอยู่ในตอนนี้ก็ได้

...................................................................

Key to success

สูตรขุดหา "จุดเจ็บ" ปั้น Startupเงินล้าน

๐ เริ่มจากปัญหาใกล้ๆ ตัว ที่หลายคนรู้สึกตรงกัน

๐ พิสูจน์ความต้องการ ด้วยการทำวิจัย

๐ พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาตอบสนอง

๐ ต้อง โพรดักส์ดี ทีมดี ตลาดดี มีโมเดลหาเงินที่ชัด

๐ นำพาตัวเองเข้าประกวดในเวทีต่างๆ

๐ ทำธุรกิจตอบโจทย์ตลาด เพื่อหาเงินได้ตั้งแต่ปีแรก

๐ เรียนรู้ ลงมือทำ อดทน และอย่ากลัวล้ม