กรธ.ขอบคุณ'บรรหาร-สุเทพ'แสดงท่าทีรับร่างรธน.

กรธ.ขอบคุณ'บรรหาร-สุเทพ'แสดงท่าทีรับร่างรธน.

กรธ.ขอบคุณ "บรรหาร-สุเทพ" แสดงท่าทีรับร่างรธน. เชื่อแฟนคลับจะมีท่าทีคล้อยตาม ไม่หวั่นอิทธิพลกลุ่มคนรณรงค์ไม่รับร่างรธน.

นายอมร วานิชวิวัฒน์ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงท่าทีของผู้นำทางการเมือง ได้แก่ นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ต่อร่างรัฐธรรมนูญของกรธ. ฉบับออกเสียงประชามติว่าสามารถรับเนื้อหาได้ ว่า ตนขอขอบคุณบุคคลดังกล่าวด้วยที่แสดงท่าทีที่ดีกับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กรธ. ไม่ได้โน้มน้าวให้มีความเห็นไปในทางใด อย่างไรก็ตามเมื่อแกนนำของกลุ่มการเมืองมีท่าทีตอบรับร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะทำให้เครือข่าย หรือ แฟนคลับของกลุ่มคนดังกล่าวจะแสดงท่าทีคล้อยตามเพิ่มมากขึ้นด้วย ส่วนกรณีที่ยังมีเครือข่ายทางการเมืองของนักการเมืองและเครือข่ายการเมืองของนักศึกษาหรือประชาชนเริ่มรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ นั้น ตนไม่กังวลว่าจะทำให้มีอิทธิพล หรือเกิดกระแสไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้น เพราะมั่นใจว่าการชี้แจงของกรธ. หรือการรณรงค์เผยแพร่สาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญผ่านทางช่องทางต่างๆ อาทิ ร.ด.จิตอาสา, อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมถึง องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะเป็นเครือข่ายที่ทำให้การชี้แจงและรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญมีประสิทธิภาพ แต่การรณรงค์หรือแสดงท่าทีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นนั้น ยอมรับว่าอาจทำให้การทำงานของกรธ. ไม่คล่องตัว ดังนั้นในเวทีของกรธ. อาจขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดูแลความปลอดภัยหรือเรียบร้อย

“ท่าทีของผู้ที่ปรารถนาดี ผมยินดีทั้งนี้ ส่วนที่ยังมีคนไม่เห็นด้วย ไม่รู้ว่าจะโน้มน้าวเขาอย่างไร เพราะเขาเองก็มีจุดยืน ทั้งนี่ผมขอฝากเตือนด้วยว่า หากประชาชนเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจะไม่มีความเสี่ยง เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญถูกปรับแก้ไข ทั้งกลไกแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญก็ปรับให้แล้ว ดังนั้นการรับรัฐธรรมนูญจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าไม่รับรัฐธรรมนูญ ซึ่งความเสี่ยงที่ว่านั้นคือเราไม่รู้ว่าหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำใหม่นั้นเป็นอย่างไร แต่วันนี้ ฉบับนี้เปิดให้เห็นทุกมาตราแล้ว แต่หากใครยังสงสัย หรือมีคำถามก็ถามได้” นายอมร กล่าว 

โฆษก กรธ. กล่าวถึงแนวทางการชี้แจงสาระของร่างรัฐธรมนูญต่อสาธารณะ ว่า กรธ. มีมติร่วมกันว่า หากเป็นเวทีต่างๆ ที่ติดต่อเข้ามาแบบส่วนตัวหรือรายบุคคล ให้บุคคลนั้นตัดสินใจได้เอง แต่หากเป็นการเชิญให้ร่วมเวที ซึ่งมาจากส่วนกลาง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เชิญ จะให้ที่ประชุมร่วมพิจารณาและตัดสินใจว่าจะส่งกรธ.คนใดเข้าร่วม ทั้งนี้มีเงื่อนไขของการร่วมเวทีคือ ต้องไม่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือฝ่ายการเมืองที่มีวัตถุประสงค์ร่วมเวทีเพื่อก่อกวน และการจัดเวทีต้องไม่มีลักษณะของการดีเบต เพราะจะทำให้ กรธ. ต้องอธิบายในประเด็นที่ผู้ร่วมเวทีที่อาจมีเจตนาบิดเบือนเจตนารมณ์ของร่างงรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เสียเวลาต่อการชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญต่อสาธารณะ

“ไม่ใช่ว่า กรธ.กลัวที่จะดีเบตกับใคร แต่ห่วงว่าหากเป็นการจัดเวทีแบบดีเบตจะทำให้เกิดภาพของการถกเถียง ไม่ปรองดอง อีกทั้งเมื่อมีการโต้เถียงที่มีเนื้อหาบิดเบือนข้อมูลจะทำให้เสียเวลา แทนที่จะได้อธิบายเนื้อหาให้ชาวบ้านทั่วไป กลับต้องมาอธิบายเฉพาะประเด็นที่คนๆ นั้นไม่เข้าใจแทน ซึ่งคนฟังไม่ได้ประโยชน์ แต่อาจได้เฉพาะความบันเทิง ความตลกที่มีคนโต้เถียงกันเท่านั้น” โฆษก กรธ. กล่าว

นายอมร กล่าวด้วยว่าเมื่อช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาตนมีโอกาสเข้ารดน้ำขอพรพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ฐานะสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งพล.อ.ประวิตรกล่าวพรและให้กำลังใจ พร้อมระบุถึงแนวโน้มการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วยว่าน่าจะผ่านไปได้ เพราะประเมินจากเสียงคัดค้านและสนับสนุนแล้วพบว่ามีโอกาสผ่านประชามติได้