'เอเปก' มองอนาคตไทยใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 86%

'เอเปก' มองอนาคตไทยใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 86%

"ทวารัฐ" เผย "เอเปก" มองอนาคตประเทศไทยใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 86% ในปี 2583 ขณะที่แหล่งผลิตพลังงานภายในประเทศจะมีปริมาณลดลง

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพลังงานเอเซียแปซิฟิก (Asia Pacific Energy Research Center : APERC) ได้นำเสนอภาพอนาคตอุปสงค์และอุปทานพลังงานของเอเปกและประเทศไทย ซึ่งนักวิจัยศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก นำข้อมูลผลจากการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานของ 21 ประเทศ ในกลุ่มเอเปก ที่มีสมมติฐานในการพยากรณ์ความต้องการพลังงานดังกล่าว โดยใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากธนาคารโลก (World Bank) มาใช้ในแบบจำลอง พบว่า ประเทศไทยในอีก 20-30 ปีข้างหน้า จะยังคงมีการใช้พลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 86 ในปีพ.ศ.2583 แต่แหล่งผลิตพลังงานภายในประเทศจะมีปริมาณลดลง และจะมีการนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 42 เป็นร้อยละ 78

ในส่วนของประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานลงร้อยละ 30 ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน และตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 30 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก APERC ได้ทำการศึกษาเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการใช้พลังงานของไทย โดยได้จัดทำแผนทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลัก 3 ประเภท เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการกระจายเชื้อเพลิง ควบคู่กับการลด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด การใช้ก๊าซธรรมชาติ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการเพิ่มความหลากหลายของเชื้อเพลิง และมีความมั่นคงด้านพลังงาน หากประเทศไทย ดำเนินการตามแผนทางเลือก ตามที่ศูนย์วิจัยพลังงานเสนอ ก็จะสามารถลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2) และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย

นายเจมส์ เคนเดล รองประธานศูนย์วิจัยพลังงานเอเซียแปซิฟิก กล่าวว่า ความต้องการใช้พลังงาน ในภูมิภาคเอเซีย เพิ่มสูงขึ้น โดยประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่มีความต้องการใช้พลังงานสูงสุด รองลงมาคือ ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีการเติบโตค่อนข้างสูง ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการใช้พลังานเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาเซียนเปลี่ยนจากที่เคยเป็นผู้ส่งออกพลังงาน ปัจจุบันต้องนำเข้า ทำให้นโยบายในอาเซียนหลายประเทศคล้ายและใกล้เคียงกับไทย คือเร่งรัดการประหยัดพลังงานการใช้รถยนต์ และรถสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เปลี่ยนรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถไฟฟ้า ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง และรถสาธารณะที่กำลังพัฒนา คาดการณ์ว่าในอนาคตภูมิภาคอาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางความต้องการพลังงาน รวมถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ด้านพลังงาน