หนังสือมือสอง ยัง ‘หายใจ’ หรือ ‘ใจหาย’

หนังสือมือสอง	ยัง ‘หายใจ’ หรือ ‘ใจหาย’

เมื่อสื่อใหม่ถล่มสิ่งพิมพ์ทุกกระบวนท่า แล้ว ‘หนังสือมือสอง’ ยังสุขสบายดีไหม?

ห้วงยามแห่งการเปลี่ยนผ่านจากโลกอะนาล็อกสู่ดิจิทัลเต็มตัว แต่ละวินาทีคนในแวดวงที่เกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงนี้ต่างใจระส่ำเต้นไม่เป็นจังหวะ ยิ่งมีปัจจัยภายนอกนานัปการมาตอกย้ำซ้ำเติม บางคนอาจพาลหัวใจวายตายได้

            ที่เห็นได้ชัดเลยคือสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย หนังสือ, หนังสือพิมพ์, นิตยสาร แม้กระทั่งนิตยสารแจกฟรี ต่างก็ต้องเอาตัวรอดกันพัลวัน แต่อย่าเพิ่งตกใจไปเพราะมีนักวิเคราะห์หลายสำนักเปรยว่ายังไม่ถึงยุคล่มสลายของสื่อสิ่งพิมพ์หรอก (แม้จะมีอีกหลายคนมองกลับกันก็ตามที)

            พอพูดถึงสื่อสิ่งพิมพ์ 'หนังสือ' น่าจะเป็นลำดับแรกๆ ที่คนนึกถึง และเมื่อเกิดเหตุไม่ชอบมาพากลในวงการสิ่งพิมพ์ หนังสือก็จำต้องถูกหางเลขไปอย่างปฏิเสธไม่ได้นั่นเอง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีสิ่งเร้าให้คนอ่านหนังสือ (แบบเล่ม) น้อยลงจริงๆ ทั้งภาวะเศรษฐกิจ สื่อออนไลน์ บลา บลา บลา สำนักพิมพ์บางแห่งก็ต้องแบกรับภาวะเสี่ยงตายนี้ไปโดยปริยาย แต่ในทางคู่ขนานกันของตลาดหนังสือปกติ ยังมีตลาดหนังสือเก่าและหนังสือมือสอง แต่น้อยคนนักที่รู้ว่าในตลาดมือสองนี้เป็นอย่างไรบ้าง ทั้งในภาวะปกติ และในตอนนี้ที่คล้ายว่าพายุกำลังถาโถมวงการหนังสือ

            สำหรับคนรักหนังสือเก่าและหนังสือมือสองต้องเคยได้ยินชื่อ ร้านรุ่งวัฒนา และคงมีอีกหลายคนเป็นลูกค้าประจำของร้านหนังสือนี้

            ธีรวุฒิ รุ่งวัฒนไพบูลย์ เจ้าของร้านรุ่งวัฒนาเล่าว่าตอนนี้สถานการณ์การอ่าน การซื้อ การขาย หนังสือไม่ว่าจะมือหนึ่งมือสองก็ระส่ำระสายทั้งนั้น เหตุผลหนึ่งที่เขาหยิบยกขึ้นมาคือ ทุกคนติดโซเชียลมีเดีย ทำให้คนอ่านหนังสือน้อยลง เมื่อคนไม่อ่าน หนังสือจึงขายไม่ได้ นั่นยังไม่ต้องถามถึงเรื่องรักการอ่านเลย

            แต่ก็ใช่ว่านี่จะเป็นวิกฤตการณ์ของหนังสือมือสอง เจ้าของร้านรุ่งวัฒนาอธิบายว่าพอคนไม่นิยมอ่านหนังสือ ทั้งไม่มีเวลาอ่าน ไม่รักการอ่าน หรืออะไรก็ตาม อาจจะไปถึงจุดที่ผู้ผลิตหนังสือมือหนึ่งบางรายล้มหายตายจากไป ซึ่งตรงนี้มีตลาดหนังสือมือสองรองรับอยู่ อธิบายง่ายๆ เมื่อสำนักพิมพ์ไหนเจ๊ง ก็ต้องขายเลหลังให้ร้านรับซื้อหนังสือมือสอง เพราะไม่มีทางที่จะเลหลังให้นักอ่านได้หมด

            ...ทว่าในสายตาของเขา พ.ศ.นี้ธุรกิจหนังสือมือสองก็กำลังสั่นคลอนไม่แพ้กัน

            นอกจากร้านหนังสือจะเป็นช่องทางส่งต่อหนังสือมือสองไปถึงมือนักอ่านและนักสะสม ปัจจุบันโลกออนไลน์ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อวงการหนังสือมือสอง คือ ในโลกออนไลน์นี้ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ซื้อ ซื้อ ถ้านับเฉพาะกลุ่มซื้อขายหนังสือมือสองในเฟซบุ๊คก็มีราวๆ 20-30 กลุ่ม

            อากร ภูวสุธร อดีตเจ้าหน้าที่โรงแรมวัยเกษียณที่ตอนนี้หันหน้าเข้าสู่วงการค้าหนังสือมือสองจนกลายเป็นรายได้หลักไปแล้ว มองว่าตลาดหนังสือมือสองก็ยังไม่ขี้เหร่

            "มันพอเดินไปได้นะ และขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะที่ว่าหนังสือกลุ่มคนที่เขาสนใจนั้นมันออกมาหรือเปล่า เพราะว่าคนที่สะสมบางทีก็ไม่ส่งหนังสือออกมา เช่นของ รงค์ วงษ์สวรรค์ หนังสือออกมาเมื่อไรก็ขายได้เมื่อนั้น แล้วได้ราคาสูงด้วย หลายวันก่อนมีการประมูลหนังสืองานศพของ รงค์ วงษ์สวรรค์ ครั้งแรกที่เขียนในงานศพ ราคาประมูลอยู่ที่ 5,000 แต่ราคาก็ตกจากยุคตอนที่ท่านเสียชีวิตใหม่ๆ ซึ่งตอนนั้นซื้อขายประมูลกันอยู่ที่ 20,000-30,000 ราคาลดลงเนื่องจากมีพิมพ์ครั้งที่สองเข้ามาแต่ก็ยังเป็นที่ต้องการของผู้ที่สะสมงานของ รงค์ วงษ์สวรรค์"

            ส่วนหนังสือที่อากรเคยขายได้แพงที่สุดคือ วารสารธรรมศาสตร์เล่มที่ลงเรื่องของจิตร ภูมิศักดิ์ เกี่ยวกับโฉมหน้าศักดินาไทยครั้งแรกซึ่งเป็นเล่มที่หายาก เขาขายได้ราคามากถึง 17,000 บาท

            แต่กรณีแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับหนังสือมือสองทุกเล่มไป ตัวเลขราคางามๆ ย่อมมีเฉพาะหนังสือหายากที่มีกลุ่มเล่นกัน ซึ่งในมือของอากรก็มีหนังสือมือสองจำพวกวรรณกรรม เรื่องสั้นไทย วรรณกรรมแปลต่างประเทศ หนังสือฝ่ายซ้ายที่ออกในสมัยปี 2516 ที่เขาทั้งชื่นชอบ สะสม และขายอยู่ ส่วนราคาที่ลดลงจากเมื่อก่อนนั้นอากรบอกว่าขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่อง แต่ละความสนใจ ชื่อของนักเขียนก็มีส่วนส่งเสริมให้หนังสือมีคุณค่าและมูลค่า เช่น แดนอรัญ แสงทอง หรือความพิเศษอื่นๆ ที่นักสะสมขวนขวายจะได้มาครอบครอง

            "หนังสือที่มีลายเซ็นของนักเขียนก็จะขายได้ดี เพราะจะมีนักสะสมที่นิยมชมชอบลายเซ็นของนักเขียน ถ้าเป็นหนังสือเก่าคนจะนิยมพิมพ์หนึ่ง อย่างของรงค์ วงษ์สวรรค์พิมพ์หนึ่งปกแข็งซื้อขายกันเกือบหมื่นก็มี ขึ้นอยู่กับสภาพหนังสือด้วย วันก่อนเพิ่งขายหนังสือเรื่องบนถนนของความเป็นหนุ่ม ไปในราคา 6,000 บาท ขึ้นอยู่กับใบหุ้มปกแท้ซึ่งจะมีรายละเอียดเยอะพอสมควรสำหรับนักสะสม บางคนก็ไม่ได้สนใจว่าใบหุ้มปกแท้หรือไม่แท้แต่ขอให้สภาพหนังสือดีก็พอ"

            ซึ่งเขาก็ยืนยันว่าตลอดปีเศษๆ ที่เขาเข้ามาเป็นเสมือนพ่อค้าหนังสือมือสอง แม้ไม่ถึงกับ 'ขายดี' แต่ก็ 'ขายได้' เพราะยังมีคนประกอบอาชีพขายหนังสือ เรื่องสั้น กันเยอะ ซึ่งเขาก็เห็นว่ายังขายได้อยู่ ที่สำคัญแหล่งหาหนังสือเก่าแถวจตุจักรก็ยังมีอยู่ ร้านหนังสือเก่าก็ยังมีของดีออกมาสู่ท้องตลาดเรื่อยๆ  เช่น เมื่อสองเดือนก่อนอากรได้หนังสือดีๆ มาจากแหล่งที่ว่า 40 กว่าเล่ม

            “หนังสือพวกนี้มีมาเรื่อยๆ พอตรงไหนเราไม่ได้ก็ออกเสาะหาแหล่งที่จะหาซื้อใหม่ ก็วนเวียนอยู่แบบนี้บางคนไม่อยากเก็บไว้ก็ขายออกไป บางบ้านที่พ่อแม่สะสมหนังสือเก่าแต่ลูกไม่สนใจก็ชั่งกิโลขายหมุนเวียนออกไป และจะมีกลุ่มพ่อค้าที่รับซื้อหนังสือตระเวนไปตามบ้านก็จะได้หนังสือดีๆมา เพราะว่าลูกไม่ชอบหนังสือก็ขายออกไป”

          สำหรับหนังสือมือสองที่ซื้อขายกันมีหลากหลายแนว เช่น วรรณกรรม เรื่องสั้น เรื่องแปลต่างประเทศ นิยาย การ์ตูน หนังสืองานศพ นิตยสารดารา ไปจนถึงโปสเตอร์หนัง และไม่ใช่แค่ประเภทที่หลากหลายเท่านั้น แต่ในตลาดนี้ก็ซื้อขายกันทั้งของเก่า ใหม่ หายาก หาง่าย แล้วแต่ว่าใครสนใจแบบใด

            เนื่องจากหนังสือเก่า (โดยเฉพาะที่หายาก) นั้นมีราคาค่างวด จึงอดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วใครคือกลุ่มลูกค้าที่ยอมทุ่มเงินซื้อสื่อกระดาษแบบนี้ ทั้งที่หลายคนเลือกลงทุนไปกับทรัพย์สินจำพวกอสังหาหรือทองคำ อากรบอกว่าคนซื้อส่วนมากเป็นวัยทำงาน และมีนักสะสมที่อายุมากๆ ก็ตามเก็บสะสมหนังสือกัน เพราะว่าคนที่สะสมหนังสือพอได้พิมพ์หนึ่งพิมพ์แรกก็จะตามเก็บไปจนครบ อาทิหนังสือของ รงค์ วงษ์สวรรค์ พิมพ์หนึ่งถึงพิมพ์สี่ ทุกคนที่สะสมหนังสือของอาว์ (รงค์ วงษ์สวรรค์) จะตามเก็บสะสมกันทั้งหมด

            “มีหลากหลายที่เราจะสะสมหนังสือ อย่างของพนมเทียน เรื่องเล็บครุฑ พิมพ์แรกขายในราคาเป็นหมื่นๆ และของยาขอบ ผู้ชนะสิบทิศ เล่มเก่าๆ ที่สภาพไม่ดีขายไป 20 กว่าเล่ม ในราคา 18,000”

            นี่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าคน ‘เล่น’ หนังสือมือสองอาจเหมือนคนเล่นพระเครื่อง ที่ไม่ใช่แค่ชื่นชอบ แต่ต้องมีสตางค์มากพอตัว อันที่จริงก็เป็นเช่นนั้นเพราะส่วนหนึ่งคือคนมีฐานะดี ทว่าอีกส่วนคือชนชั้นกลางที่ชอบอ่านหนังสือ หมายความว่าคนเล่นมีหลายระดับ เช่น มนุษย์เงินเดือนจะค่อยๆเก็บสะสมไปทีละเล็กทีละน้อยตามกำลังทรัพย์ที่มี แน่นอนว่าในวงการที่ซื้อขายต้องเป็นคนที่มีฐานะดี แต่คนที่ฐานะดีบางคนอาจไม่ค่อยรู้เรื่องจึงสะสมสินทรัพย์อย่างอื่นแทน

            แต่กลุ่มคนที่น่าสนใจคือชนชั้นกลางที่เป็นนักสะสม กลุ่มนี้อากรบอกว่าจะมีความรู้พื้นฐานเรื่องของที่สะสมดีมาก เป็นนักสะสมที่เข้าใจในเรื่องนั้นๆ อย่างถ่องแท้

            แม้การเติบโตของสื่อออนไลน์จะมีส่วนทำให้วงการหนังสือเสียหาย แต่สำหรับวงการหนังสือมือสอง คนซื้อขายทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นก็นำสื่อใหม่มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            พ่อค้าหนังสือมือสองวัยเกษียณบอกว่าช่องทางการขายของเขาคือทางเฟซบุ๊ค เพราะในเฟซบุ๊คไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเปิดร้านหรือเช่าห้องก็จะมีค่าใช้จ่าย ในเฟซบุ๊คไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายใดๆ

            แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังสือทุกเล่มจะโพสท์ปุ๊บขายได้ปั๊บ แน่นอนว่าต้องมีหนังสือที่ค้างเติ่งอยู่ในกระดานซื้อขาย ซึ่งอากรเองก็เคยเจอกรณีนี้บ่อยๆ

            “บางทีหนังสือก็ขายไม่ออก เพราะว่าหนังสือแต่ละเล่มขึ้นอยู่กับว่าเป็นความต้องการของผู้ซื้อหรือไม่ บางทีโพสท์ลงไปขาย 10 เล่ม ขายไม่ได้ก็มี คนอาจจะมีแล้วหรือไม่สนใจก็ได้”

            เหมือนว่าทิศทางการค้าขายหนังสือประเภทนี้จะมีทั้งแง่ลบและแง่บวก ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามสายตาของผู้มองว่ามองมาจากจุดไหน เมื่อเป็นผู้ต้องแบกรับหนังสือกองใหญ่ในขณะที่คนซื้อยังไม่มากมายหวือหวาก็ย่อมเห็นความเสี่ยงบางประการ ในทางกลับกันผู้ค้ารายเล็ก ซื้อมาขายไป ความเสี่ยงย่อยเล็กน้อยตาม แต่พอพูดถึงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองก็ทำให้สองความคิดเห็นนี้ไปในทางเดียวกันได้

            อากร มองว่าบางสถานการณ์ตอนนี้ยังนิ่ง หมายถึงการซื้อขายยังหนืด ที่จะขายได้ไวหน่อยก็เป็นพวกหนังสือดี หายาก เป็นที่ต้องการของนักสะสมของผู้ซื้อผู้อ่านช่วงนั้น

            ด้าน ธีรวุฒิ เจ้าของร้านรุ่งวัฒนา แสดงความคิดเห็นว่าเมื่อธุรกิจหนังสือมือสองอยู่ในวงการหนังสือ เมื่อหนังสือมือหนึ่งกระท่อนกระแท่น หนังสือมือสองก็อาจไม่มีจะขายเช่นกัน ตราบใดที่คนไม่อ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งมือสองก็ไม่มีความหมายเพราะมันคาบเกี่ยวกัน และถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ธีรวุฒิมองว่าอนาคตธุรกิจนี้อาจไม่เหลือ

            “ธุรกิจหนังสือเก่าและหนังสือมือสองอาจจะหายไปหมด มือหนึ่งมือสองก็พวกเดียวกัน และทำอย่างไรให้มีการรณรงค์อ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าเป็นสิ่งที่น่าห่วงมาก”

            แต่จะมัวจมปลักตมแห่งปัญหาไม่ได้ คนที่คลุกคลีตีโมงในวงการนี้มานานอย่างธีรวุฒิก็ลองเสนอวิธีแก้ปัญหาว่าถ้าทำให้คนไทยรักการอ่านได้ก็น่าจะส่งผลดีต่อวงการหนังสือทั้งเก่า ใหม่ ทั้งองคาพยพ...

            “ควรรณรงค์การอ่านหนังสือให้เยอะๆ ทั้งในโรงเรียนปลูกฝังให้เด็กอ่านหนังสือ ผมเคยให้เงินหลานอ่านหนังสือหน้าหนึ่ง 200 บาท ยังไม่เอาเลย คืออยากให้เอาหนังสือหรือหนังสืออะไรก็ได้ไปแจกจ่ายที่โรงเรียนให้เด็กได้อ่านได้เขียน เพราะต่อไปเด็กจะเขียนหนังสือไม่เป็นแล้ว เพราะมัวแต่เล่นแทบเล็ต โซเชียลมีเดียกันหมด คืออยากจะให้โรงเรียนช่วยกันรณรงค์ อย่างเช่น การอ่านหนังสือพิมพ์หรือดูข่าวของแต่ละวัน มาเขียนและลองวิเคราะห์ดู ทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กได้อ่านและได้เขียนหนังสือ นั้นคือทางแก้ ไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือวิชาการเสมอไป หนังสือการ์ตูน บันเทิง ก็สามารถอ่านได้ เพราะมันจะช่วยให้เกิดแรงจูงใจและกระตุ้นให้เกิดการอ่านเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่เขามีการอ่านหนังสือการ์ตูนเป็นประเทศเสรีของการอ่าน คือ จะทำอย่างไรก็ได้ให้เด็กรักการอ่านนั่นคือทางแก้”

          ถึงแม้ตอนนี้วงการหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นดั่งเรือลำน้อยกลางคลื่นลมมรสุม แต่ถ้าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือ แก้ปัญหาอย่างที่เจ้าของร้านหนังสือรุ่งวัฒนาบอกไปว่าต้องทำให้คนไทยอ่านหนังสือมาก ก็ไม่น่ายากที่จะพาเรือลำนี้แล่นเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย ไม่จมหายไปเสียก่อน