ปัญหามาตรการบัญชีชุดเดียว (2)

ปัญหามาตรการบัญชีชุดเดียว (2)

ขอนำประเด็นปัญหาการยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร

และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 มาปุจฉา-วิสัชนา ต่อจากสัปดาห์ก่อน ดังนี้ 

ปุจฉา เพราะองค์ประกอบที่ทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องทำบัญชีมากกว่า 1 ชุด มาจากกรมสรรพากรเองก็มีส่วนอย่างยิ่ง การตรวจสอบแต่ละครั้ง มาตรฐานในการตรวจแต่ละครั้ง ล้วนหาความแน่นอนใดๆไม่ได้ งบการเงินจะปรากฏการขาดทุนไม่ได้เลย ปีนี้กำไรสัดส่วนเท่านี้ ปีหน้าต้องเป็นสัดส่วนที่เท่ากัน เรื่องเหล่านี้เจ้าของธุรกิจพบเจอมาไม่น้อยกว่า 30 ปี และมีหลายๆ กิจการ กลัวที่จะจดทะเบียน (ตาม พ.ร.ก. ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558) มากกว่า แถมมีสรรพากรบางท้องที่โทรไปบ่นว่าจะมาจดทำไม

วิสัชนา ต่อประเด็นนี้ ไม่คล้อยตามความเห็นดังกล่าว ในฐานะอดีตสรรพากร ผู้ประกอบการที่ทำบัญชีตามใจสรรพากรเสียขนาดนั้น เชื่อมั่นได้ว่า มีวาระแอบแฝงซ่อนเร้นอะไรไว้ อย่างแน่นอน (HIDDEN AGENDA) หาใช่ตั้งใจจะตามใจสรรพากรโดยตนเองไม่มีผลประโยชน์ในการทำบัญชีชุดที่สองเพื่อให้เสียภาษีอากรมากขึ้น เพื่อเอาอกเอาใจเจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ “พ่อ” สักหน่อย ทำนอง “ขนม (จีน) พอสมน้ำยา” หรือ “ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่” (ซึ่งไม่มีให้เห็นทั้งคู่) เจ้าหน้าที่สรรพากรมีสมมติฐานว่า ตรวจ 100 ราย ก็ผิดทั้ง 200 ราย นั่นเอง จึงเรียกเอา รีดเอา ข่มขู่เอา (ดังจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากรฯ อย่างออกนอกหน้า ด้วยเกรงว่า หากผู้ประกอบการเสียภาษีอากรถูกต้องแล้วตนเองจะไม่มีงาน (ผิดๆ) ทำ จะไม่ได้รับเงินจากการทำงาน (ผิดๆ) นั้น)

        ดังนั้น ตามความเชื่อของผม ใครมาว่าสรรพากรให้ฟัง ผมก็ต้องเหลียวกับไปมองคนที่ว่าสรรพากรว่า พอๆ กันหรือเปล่า เล่นกีฬาเข้าขากันดีทั้งสองฝ่าย เหมือนคู่ต่อสู้ที่ไม่ใช่คู่ต่อสู้อย่างแท้จริง อาจมีเจ้าหน้าที่ประเภทต่อไปนี้อยู่ในสารบบสรรพากรได้ กล่าวคือ...

1. เป็นคนที่ไม่เข้าใจข้อกฎหมายดังกล่าวว่า มีขึ้นเพื่อการใด มีไว้ทำไม ซึ่งหากขยับตัวสักนิดก็เป็นอันว่ารู้เรื่องแล้ว แต่ไม่ยอมทำ

2. กลัวเสียประโยชน์อันตนเคยมีรายได้จากระบบเก่าที่ผู้เสียภาษีทำไม่ถูกต้องไว้ และคิดว่าตนเองจะไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากการที่ผู้เสียภาษีปฏิบัติการทางภาษีอากรโดยถูกต้อง

3. ไม่รับรู้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปของสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่แคร์กับคำสั่งผู้บังคับบัญชา

       ดังนั้น หากทางกิจการเข้าใจข้อกฎหมายที่ออกมา ก็ได้เวลาเป็นไทแก่ตัวเองแล้ว ไม่ต้องไปขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ “ปลิง-ทาก” กลุ่มนี้กันอีกต่อไป โดยจดแจ้งการขอใช้สิทธิยกเว้นการไต่สวน ตรวจสอบ ต่อกรมสรรพากร และจัดทำบัญชีชุดเดียวสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2559 ให้ถูกต้อง พร้อมทั้งชำระและนำส่งภาษีอากรสำหรับระยะเวลาดังกล่าวให้ถูกต้อง เพียงเท่านี้ ก็รู้สึกถึงความเป็นคนดีของสังคมได้แล้ว

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ