เรียกศรัทธาต่างชาติ โจทย์หิน 'บ้านปู'

เรียกศรัทธาต่างชาติ โจทย์หิน 'บ้านปู'

เบนเข็มสู่ 'ธุรกิจพลังงาน' แผนกวักเงินต่างชาติคืน หลังพร้อมใจทิ้งช่วงราคาถ่านหินตกต่ำ 'สมฤดี ชัยมงคล' แม่ทัพหญิง 'บ้านปู'

ผลขาดทุน 1,534 ล้านบาท ในปี 2558 เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีกำไรสุทธิ 2,695 ล้านบาท ในปี 2557 ถือเป็นการ 'พลิกขาดทุนครั้งแรก' ในรอบ 15 ปี ของ บมจ.บ้านปู หรือ BANPU แม้ตลอดทั้งปี 2558 บริษัทจะมีต้นทุนขายลดลง 22% และมีต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อลิตรลดลงจาก 1.02 เหรียญสหรัฐ ในปี 2557 เหลือเพียง 0.53 เหรียญสหรัฐต่อลิตร

เหตุผลสำคัญของการขาดทุนในครั้งนี้ คงหนีไม่พ้นราคาถ่านหินเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลงจาก 65.36 เหรียญสหรัฐต่อตันในปี 2557 เหลือเฉลี่ย 55.53 เหรียญสหรัฐต่อตัน ในปี 2558 หลังราคาถ่านหินเฉลี่ยเหมืองประเทศอินโดนีเซียลดลง จาก 8.91 เหรียญสหรัฐต่อตัน มาอยู่ระดับ 58.35 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาถ่านหินเฉลี่ยของเหมืองประเทศออสเตรเลียลดลง 2.63 เหรียญออสเตรเลียต่อตัน มาอยู่ที่ 65.90 เหรียญออสเตรเลีย

หากย้อนกลับไปสำรวจ ราคาถ่านหินในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ราคาเคยขึ้นไปสร้างจุดสูงสุดที่ 120 เหรียญต่อตัน แต่เมื่อปริมาณการผลิตทั่วโลก 'ล้นตลาด' ราคาทยอยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ก่อนจะถูกกระชากอย่างแรงอีกครั้ง หลังเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเมืองจีน เข้าสู่ช่วง 'ซบเซา' ส่งผลให้ราคาไหลลงมาสัมผัส 'จุดต่ำสุด' ที่ระดับ 46 เหรียญต่อตัน

'สมฤดี ชัยมงคล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู บอกกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ว่า ตั้งแต่ราคาถ่านหินตกอยู่ในช่วงขาลง นักลงทุนสถาบัน และกองทุนต่างชาติ ต่างพากันลดสัดส่วนการถือหุ้น BANPU จากเดิมที่เคยถือเกิน 40% ปัจจุบันเหลือเพียง 25% ขณะเดียวกันกองทุนภายในประเทศ ก็ทยอยลดสัดส่วนเช่นกัน

ส่วนตัวเชื่อว่า หลังบริษัทหันมารุก 'ธุรกิจไฟฟ้า' อย่างเต็มตัว นักลงทุนเหล่านั้นอาจกลับเข้ามาลงทุนหุ้น BANPU อีกครั้ง จากการพูดคุยกับเหล่านักลงทุนต่างชาติหลายรายยังคงเชื่อมั่นในการทำธุรกิจของบริษัท และมองว่าธุรกิจไฟฟ้าจะทำให้ฐานะมั่นคงมากขึ้น ไม่ผันผวนเหมือนธุรกิจถ่านหิน ขณะที่นักลงทุนบางรายอยู่ระหว่างรอดูทิศทางราคาถ่านหินว่าจะกลับเข้าสู่จุดสมดุลช่วงไหน

'เมื่อราคาถ่านหินในช่วง 10 ปีข้างหน้า ไม่มีโอกาสกลับขึ้นไปยืนหลักร้อยเต็มที่คงไปไกบแค่ 70 เหรียญสหรัฐต่อตัน เหมือนที่เหล่ากูรูประเมิน ฉะนั้นเราจำต้องหางานใหม่ที่สามารถสร้างรายได้สม่ำเสมอ และมีกำไรที่ดี' นายหญิง ย้ำ พร้อมเล่าแผนธุรกิจไฟฟ้าฉบับย่อให้ฟังว่า

ตามแผนงานจะผลักดันบริษัทในเครือ ภายใต้ชื่อ 'บ้านปู เพาเวอร์' หรือ BPP เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะสามารถเสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 484 ล้านหุ้น ได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้าหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งในและนอกประเทศควบคู่ไปด้วย หลังเข้าตลาดหุ้น บ้านปู คงถือหุ้นบริษัทแห่งนี้เฉลี่ย 60%

เป้าหมายสำคัญของ 'ธุรกิจไฟฟ้า' คือ ขยายการลงทุน 'พลังงานทดแทน' ในต่างประเทศต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจน และโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ เป็นต้น เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ตัวเลขกำไรจากการดำเนินงานระดับ 50% จากปัจจุบันที่ยืนระดับ 40% (บนสมมุติฐานที่ราคาถ่านหินเฉลี่ย 52 เหรียญสหรัฐต่อตัน)

สำหรับประเทศที่น่าสนใจเข้าไปลงทุน เช่น ประเทศญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา เป็นต้น ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่อาจเป็นลักษณะซื้อต่อใบอนุญาตจากพันธมิตรท้องถิ่น หรือจับมือร่วมลงทุนกับพันธมิตร ซึ่งหากเป็นในลักษณะหลัง บริษัทต้องการถือหุ้นใหญ่เฉลี่ย 70% แต่ใจจริงบ้านปูต้องการซื้อใบอนุญาตจากเจ้าของเดิมมากกว่า เว้นบางประเทศที่จำเป็นต้องมีพันธมิตรท้องถิ่น เช่น ลาว หรือญี่ปุ่นบางโครงการ เป็นต้น

ตามแผนบ้านปูต้องการมีสัดส่วนรายได้จากพลังงานสะอาดเฉลี่ย 20% ภายในปี 2563 นั่นหมายความว่า จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ระดับ 1,800 เมกะวัตต์ จะขยับสู่ระดับ 2,400 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

ส่วนตัวมั่นใจว่า ไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากตอนนี้ได้เจรจากับพันธมิตรแล้วระดับหนึ่ง รอเพียงใบอนุญาตการขายไฟฟ้าจากทางการเท่านั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าหลายๆเรื่อง ภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า จากนั้นจะใช้เวลาประมาณ 12 เดือนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า

การลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดไม่ใหญ่มาก ถือเป็นกลยุทธ์ในการสร้างกระแสเงินสดที่รวดเร็วที่สุด ท่ามกลางเศรษฐกิจขาลงเช่นนี้ เพราะหากต้องการลงทุนโครงการขนาดใหญ่อาจต้องใช้เวลาดำเนินการนานเป็นปี เราคงรอไม่ไหว หากคิดจะฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุน และสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ

'อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น หรือ ROE ในการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าที่ดีควรยืนระดับ 12-15% ส่วนธุรกิจถ่านหินต้องอยู่ระดับ 25% ขึ้นไป' 

ปัจจุบันบริษัทและพันธมิตรประเทศญี่ปุ่น มีใบอนุญาตในการจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว 54 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้จากไฟฟ้าที่ผลิตแล้ว 5% ของรายได้รวม ซึ่งโครงการดังกล่าวอาจเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2559-2561

สำหรับความคืบหน้าของโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง ประเทศจีน กำลังผลิตติดตั้งรวม 1,320 เมกะวัตต์ ตอนนี้ยู่ระหว่างพัฒนาโครงการ คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปี 2560

ส่วนการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 100-300 เมกะวัตต์ บริษัทอาจจับมือกับพันธมิตรเร็วๆนี้ ขณะที่การประมูลโรงไฟฟ้า JAVA3 กำลังการผลิต 300 เมกะวัตต์ ก็อยู่ระหว่างเจรจาเช่นกัน

'ภาย 3 ปีข้างหน้า อาจได้ใบอนุญาตเพิ่มขึ้น นอกเหนือจากแผนที่บอกไปเฉลี่ย 100-200 เมกะวัตต์'

๐เล็งซื้อเหมืองถ่านหิน

'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' เล่าว่า เล็งจะซื้อเหมืองถ่านหินบนกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซียเพิ่มเติม เท่าที่สำรวจพบว่า มีเหมืองถ่านหิน 3 แห่ง กำลังการผลิตเฉลี่ย 2-6 ล้านตันต่อปีต่อเหมือง ซึ่งอยู่รอบๆเหมืองถ่านหินของเรา ปัจจุบันฐานะการเงินไม่ค่อยสดใส เพราะมีต้นทุนสูง หลังราคาขายตกต่ำ

ตอนนี้อยู่ระหว่างการพูดคุย เรายังตอบไม่ได้ว่า ภายในปีนี้จะเคาะการซื้อได้สักเหมืองหรือไม่ เพราะการซื้อเหมืองในช่วงนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ราคาถ่านหินจะตกต่ำ เนื่องจากเจ้าของเดิมบางแห่งยังสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ต่อเนื่อง แม้จะมีกำไรน้อย และต้นทุนสูงก็ตาม

บอกได้เพียงว่า หากเจอเหมืองถ่านหินที่ 'ถูกใจ' และ 'คุ้มค่าต่อการลงทุน' อาจใช้เงินลงทุนเฉลี่ยเหมืองละ 100-300 ล้านเหรียญ ซึ่งงบลงทุนส่วนนี้ยังไม่ได้ใส่ไว้ในแผนธุรกิจฉบับ 5 ปีข้างหน้า (ปี 2559-2563) ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดเฉลี่ย 450 ล้านเหรียญ และยังมีแผนจะออกหุ้นกู้ และขายหุ้นไอพีบ้านปู เพาเวอร์ ฉะนั้นเรื่องเงินลงทุนไม่ใช่ปัญหาสำหรับองค์กรแห่งนี้

ตามแผนธุรกิจถ่านหินในช่วง 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะลดการลงทุนธุรกิจถ่านหิน จาก 520 ล้านเหรียญ เหลือ 154 ล้านเหรียญ หลังราคาถ่านหินมีแนวโน้มจะอยู่ในช่วงขาลงยาวนานเกือบสิบปี

ขณะเดียวกันบ้านปูจะหันมาใส่ใจเกี่ยวกับเรื่อง 'ลดต้นทุน' มากขึ้น โดยเฉพาะในเหมืองถ่านหินอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ส่วนเหมืองถ่านหินในเมืองจีน บริษัทลดต้นทุน ด้วยการขนส่งทางรถไฟ และนำถ่านหินไปใช้ในโรงไฟฟ้าของ BANPU

ส่วนในแง่ของการสร้างกระแสเงินสดในธุรกิจถ่านหิน บริษัทจะนำถ่านหินจากเหมืองอินโดนีเซียและออสเตรเลียมาผสมรวมกัน เพื่อส่งให้ลูกค้า ซึ่งจะทำให้ถ่านหินมีคุณภาพมากขึ้น ถือว่า เป็นการนำส่วนที่ดีของแต่ละเหมืองมาสร้างมูลค่าเพิ่ม

๐จับตา 'จุดเปลี่ยน' ราคาถ่านหิน

'นายหญิงแห่งบ้านปู' ประเมินสถานการณ์ราคาถ่านหินในปี 2559 ว่า ปัจจุบันซัพพลายถ่านหินยังมากกว่าดีมานด์ แต่หลังจากเหมืองถ่านหินหลายแห่ง โดยเฉพาะเหมืองที่มีต้นทุนการผลิตสูง หรือมีคุณภาพถ่านหินต่ำได้ทยอยปิดกิจการหรือลดการผลิต อาจทำให้ดีมานด์กับซัพพลายจะเข้าสู่ 'จุดสมดุล' ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2560 นั่นหมายความว่า ราคาถ่านหินกำลังเดินทางถึง 'จุดเปลี่ยน' 

จริงๆ แล้วสัญญาณความเปลี่ยนแปลง เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปีก่อน หลังแหล่งผลิตถ่านหินหลักใน 3 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ ทยอยลดปริมาณการส่งออกถ่านหิน

ยกตัวอย่าง ประเทศอินโดนีเซีย เดิมเคยส่งออกถ่านหิน 420 ล้านตัน แต่ปี 2558 ลดการส่งออก 56 ล้านตัน และในปีนี้มีแนวโน้มจะลดการส่งออกอีก 50 ล้านตัน นั่นแสดงว่า เหมืองถ่านหินหลายๆแห่งในอินโดนีเซีย ต่างพากันลดกำลังการผลิตหรือปิดเหมืองถ่านหิน เธอ ย้ำ

'ราคาถ่านหินในตลาดโลกได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีโอกาสจะทยอยปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าราคาถ่านหินปีนี้จะยืนระดับ 52 เหรียญต่อตัน สูงขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 49 เหรียญต่อตัน' สมฤดี เชื่อเช่นนั้น

เธอ ทิ้งท้ายว่า ปีนี้บ้านปูจะ 'พลิกกลับมาเป็นกำไร' แน่นอน หลังรับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาครบทั้ง 3 ยูนิต กำลังการผลิตรวม 1,878 เมกะวัตต์ ซึ่งยูนิตที่ 3 ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา คาดว่า ปีนี้จะรับรู้กำไรจากโรงไฟฟ้าหงสาประมาณ 70 ล้านเหรียญ

'เป้าหมายของบ้านปู คือ ก่อนปี 2563 ต้องสร้างผลกำไรจากธุรกิจถ่านหิน และไฟฟ้าเป็นหลัก และจะมีธุรกิจเสริมที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน หรือเทคโนโลยีด้านพลังงาน'


                                                    เมื่อแผนพลังงานสะอาด 'สะดุด' 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ต่างพากันแตกไลน์ออกสู่ 'พลังงานทดแทนในประเทศ' บางบริษัทสร้างความหวังต่อหน้าผู้ถือหุ้นว่า ธุรกิจใหม่จะนำพาความรุ่งเรืองมาสู่องค์กร

แต่เมื่อรัฐบาลเลื่อนการประมูลใบอนุญาตขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนออกไปจากปี 2558 ทำให้เหล่าผู้ประกอบการต้องดิ้นหารายได้จากช่องทางอื่นมาประคองฐานะ บางรายตัดสินใจออกไปเสี่ยงทำธุรกิจนอกบ้าน เช่น ประเทศญี่ปุ่น แม้การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าจะอยู่สูง แต่อัตราการรับซื้อไฟฟ้าส่วนคงที่ หรือ FIT มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ยกตัวอย่าง บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC ก่อนหน้านี้ บริษัทตั้งเป้าหมายจะ 'รุกพลังงานลมเต็มตัว' ด้วยการก่อสร้าง 4 โครงการใหม่ กำลังการผลิตรวม 248.76 เมกะวัตต์

โดยภายใน 3 ปีข้างหน้า วางแผนจะมีกำลังการผลิตพลังงานลม 3,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ในมือ 3 โครงการ กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ 8.965 เมกะวัตต์ และ 4.8 เมกะวัตต์ ตามลำดับ

สุดท้ายไม่สามารถเดินได้ตามแผน บริษัทจึงตัดสินใจส่งบริษัทย่อย ซื้อหุ้นกลุ่มดาราเทวีเชียงใหม่ คือ บริษัท โรงแรมดาราเทวี, บริษัท เอ.พี.เค.ดีเวลลอปเม้นท์ และบริษัท ดาราเทวี ประมาณ 100% มูลค่าทั้งหมด 1,660 ล้านบาท

รวมถึงซื้อหนี้ของโรงแรมดาราเทวีจำนวน 860 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 2,520 ล้านบาท ซึ่งดีลนี้สร้างความไม่สบายต่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่พอสมควร เห็นได้จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

บมจ.เอเชีย กรีน เอนเนอจี หรือ AGE ในฐานะผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายถ่านหินสะอาดที่มีคุณภาพดีจากประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีความคิดจะแตกตัวออกไปสู่ 'พลังงานทดแทน' เพราะหวังจะมีรายได้สม่ำเสมอ หลังปีก่อนยอดขายถ่านหินต่างประเทศหดตัวมากถึง 80% เนื่องจากเมืองจีนในฐานะลูกค้าหลัก หยุดการนำเข้าถ่านหิน และหันไปบริโภคถ่านหินในประเทศแทน

แผนงานนี้ 'พนม ควรสถาพร' ในฐานะประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ ยอมรับว่า เมื่อก่อนเคยมีแผนจะรุกพลังงานทดแทนในประเทศ ที่ผ่านมาเคยขอใบอนุญาตขายไฟฟ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลทางภาคใต้กับทางการแล้ว แต่ก็มีเหตุผลบางประการที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ในขณะนี้ เหตุผลที่ว่า ไม่เกี่ยวข้องกับเอจีอี ตรงข้ามบริษัทมีความพร้อมมากในทุกด้าน

ถามว่า หากทางการเปิดประมูลรอบใหม่บริษัทจะเข้าไปร่วมประมูลหรือไม่ เขาตอบว่า ถึงเวลานั้นแล้วค่อยว่ากัน บอกได้เพียงว่า หากรัฐเดินหน้าอาจเห็นเราทำโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสงขลา กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ก็ได้ เพราะเราดำเนินการเสร็จแล้วในหลายๆ เรื่อง