ปัญหามาตรการบัญชีชุดเดียว (1)

ปัญหามาตรการบัญชีชุดเดียว (1)

ขอนำประเด็นปัญหาการยกเว้นจากการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร

สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ตามพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558 และการยกเว้นและลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ผู้ประกอบการซึ่งเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558 มาปุจฉา - วิสัชนา ดังนี้ 

ปุจฉา   คิดว่า มาตรการนี้จะสามารถทำให้ธุรกิจทำบัญชีชุดเดียวได้จริงหรือ

วิสัชนา ต่อประเด็นนี้ เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง มาตรการนี้ไม่สามารถทำให้ผู้ประกอบการทุกรายจัดทำบัญชีชุดเดียวได้เบ็ดเสร็จครบถ้วนทุกราย แต่อย่างน้อยสำหรับรายที่รู้สึกเบื่อหน่ายเกมส์ “วิ่งไล่จับ” เสือกับวัว หรือโปลิศจับขโมย หลายท่านที่ผมได้สัมผัสก็รู้สึกว่าดีที่จะได้เลิกเล่นเกมส์ที่ไม่รู้จักจบสิ้นนี้ แค่เพียงตั้งต้นจัดทำบัญชีชุดเดียว ด้วยหลักฐานที่ครบถ้วนทั้งหมดของตน ที่ทั้งเรียกรับ (ต้นฉบับ - รายจ่าย/ทรัพย์สิน) หรือที่ต้องออกให้ลูกค้า (สำเนา - รายได้/การรับเงิน) และที่ออกเพื่อใช้ภายใน กลุ่มนี้ ก็จะกลายเป็นคนดีที่น่ายกย่องทันที แต่จะมีมากมีน้อยไม่ว่ากัน ค่อยๆ สะสมเดี๋ยวก็เพิ่มมากขึ้นเอง ด้วยการคบค้าสมาคมกับสำนักงานบัญชีที่ดีมีคุณภาพ ทั้งบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยหรือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและประกอบกิจการในประเทศไทย จึงต้องสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ให้พัฒนาเจริญก้าวหน้าขึ้นไปแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ

แต่เท่าที่รับฟัง รัฐบาลไม่ได้มีมาตรการเดียวที่จะผลักดันให้มีการจัดทำบัญชีชุดเดียว เพียงเสกมนต์ “พ.ร.ก. ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร พ.ศ. 2558” เพื่อยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร รวมทั้ง “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 595) พ.ศ. 2558” เพื่อลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMES เท่านั้น แต่ยังจะมีมาตรการเสริม โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินการที่จำเป็น เพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในการกำกับดูแล ใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้ เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงินและการขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงิน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร (มาตรา 8 แห่งพระราชกำหนดยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการฯ)

อีกทั้งยังกำหนดให้นำ e-Payment e-Tax Invioce มาใช้เสริมทัพ เพื่อการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรให้มีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่งด้วย โดยจะกำหนดให้ใช้การจ่ายเงินผ่านระบบ E-PAYMENT สำหรับจำนวนเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไปทุก TRANSACTIONS มองเห็นเหมือนเป็นแหอวนที่ล้อมรอบประเทศนี้ไว้จากผู้ที่ไม่จริงใจต่อการจัดทำบัญชีชุดเดียวได้อย่างมีมนต์คลัง เรียกว่า เจ้าหน้าที่นั่งเฉยๆ เงินภาษีก็ไหลมาเทมา เพียงแต่หาทางอุดรูรั่วหรือช่องโหว่ให้ดี ให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีอากรมากขึ้น โฉมหน้าการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรจะเปลี่ยนไปจากเดิมมากมาย

นอกจากนี้ ยังต้องใช้ความร่วมมือจากเจ้าของเม็ดเงินภาษีอากร ให้มีส่วนร่วมในการจัดเก็บภาษีอากรกัน โดยเรียกรับใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี ใบส่งของ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ