รักหรอก ถึง 'ล้อ' เล่น

รักหรอก ถึง 'ล้อ' เล่น

ยกเครื่อง “ขบวนล้อการเมือง 71” เส้นแบ่งระหว่าง “เสียดสี” กับ “ปลุกปั่น” ในห้วงสังคมที่ “การเมือง” เป็นเรื่องทั้ง “คัน” และ “อ่อนไหว”

ทุกยุคทุกสมัย เมื่อถึงคราวสังเวียนแข้งประเพณีจามจุรี-ลูกแม่โดมเปิดม่านขึ้น นอกจากการจิกกัดกัน ผ่านสแตนเชียร์ที่ขนมุขมา “บลัฟ” กันชนิดเนื้อแสบ สีข้างถลอกแล้ว “ขบวนล้อการเมือง” ก็ดูเหมือนจะเป็นทั้ง “ลายเซ็น” และ “สีสัน” ของงานที่ไม่เคยขาดจากกัน

ถ้ายังจำกันได้...

ความวุ่นวายบริเวณหน้าประตูระหว่างขบวนกำลังเคลื่อนเข้าสู่สนาม จนถึงกลเม็ด “หุ่นซ้อนหุ่น” ทำให้ ทีมล้อการเมือง 70 ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมากทั้งในหน้าสื่อ และโลกโซเชียลฯ

ดังนั้น ไม่ว่างานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 71จะจบลงด้วยรอยยิ้มบนความสุข หรือรอยสีข้างถลอกของใครก็ตาม นี่คือเบื้องหลังของ “ทีมล้อการเมือง 71” ที่แบกรับทั้ง “แรงกดดัน” และ “แรงเสียดทาน” ผ่านกิจกรรมที่นักศึกษานับร้อยชีวิตร่วมด้วยช่วยกันตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา

ก่อนจะถึงงานไม่กี่วัน...

ใต้เงาสปอตไลท์ และแสงนีออน พื้นที่บริเวณด้านหลังตึกกิจการนักศึกษาถูกแปรสภาพกลายเป็น “กองบัญชาการล้อการเมือง 71” ขนาดย่อม หุ่นหลายตัวเริ่มเป็นรูปเป็นร่างจากการช่วยกันขึ้นโครง เลื่อยไม้ ตอกตะปู แปะกระดาษ ทาสี และงานอีกสารพัดเท่าที่จำนวนอาสาสมัครในแต่ละวันจะเอื้ออำนวย

ทุกวันหลังเลิกเรียน นักศึกษา และอาสาสมัครที่มีเวลาว่างจะทยอยมาช่วยงาน ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปจนสมควรแก่เวลาก็จะพากันแยกย้าย ก่อนจะเริ่มเข้มข้นขึ้นในช่วงท้ายๆ ใกล้ถึงวันงาน โดยเฉพาะปีนี้ เวลาที่พวกเขาได้มาสำหรับเตรียมงานค่อนข้างน้อยพอสมควร หลายๆ งานจึงต้องเร่งเพื่อให้เสร็จทันกำหนด...

ถ้าถาม ป๊อป - วรยุทธ มูลเสริฐ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ในฐานะแม่งานที่รับหน้าเสื่อเป็น “ประธานขบวนล้อการเมือง 71” เขายอมรับว่า “กดดัน” พอสมควรจากผลงานที่ “ทีมล้อ 70” ฝากเอาไว้เมื่อปีที่แล้ว

ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองแบบ “ไม่ปกติ” และการจับจ้องจากหลายๆ ฝ่าย ทำให้การนำเสนอมุมมองผ่านหุ่นในลักษณะนี้ยิ่งกลายเป็นทั้งความยาก และท้าทายที่จะยืนยันว่าขบวนล้อการเมืองของนักศึกษานั้น เป็นไปด้วยความสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

“ปีนี้เราก็ยังต้องรักษามาตรฐานไว้ให้เหมือนเดิม” เขาบอก

มาตรฐานที่ว่า ก็คือ “เนื้อหา” และ “มุมมอง” ที่ทุกคนในขบวนฯ พยายามสื่อให้ “ชัดเจน” อย่างมี “ชั้นเชิง” มากกว่า เพื่อตอบทั้งความคาดหวังของสังคม และยืนยันเจตนาสืบสานประเพณีที่ปฏิบัติต่อกันมา

“เราก็ไม่ได้มีเจตนาให้มันเป็นประเด็นทางการเมือง หรือสร้างประเด็นให้เกิดการฉกฉวยให้กลายเป็นการยุยงปลุกปั่นอยู่แล้ว”

ระหว่างนั้น หลายเงาร่างกำลังเคลื่อนไหวด้วยความคล่องแคล่วหลังแสงไฟจากสปอร์ตไลท์

“แค่หัวนั่นก็ใช้ 10 คนยกแล้วค่ะ” บิว - ธรณ์ธิดา เมธาจีรเวช สต๊าฟปี 3 จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชี้ให้ดูหุ่นสีแดงตัวใหญ่ที่คนอื่นๆ กำลังช่วยกันลงรายละเอียดให้ “มังกร” ดูสมจริงขึ้นมา

ถ้าวางความกังวลของผู้ใหญ่ และประเด็นการเมืองเอาไว้ข้างนอกก่อน เธอคิดว่านี่เป็นกิจกรรมที่ได้ฝึกทักษะที่หลากหลายที่สุดกิจกรรมหนึ่งในรั้วมหาวิทยาลัย

อย่าง ลัทธพล ยิ้มละมัย หรือ ทรัมเป็ต เฟรชชี่ปี 1 จากคณะรัฐศาสตร์ ที่แม้เป็นลูกทหาร แต่กิจกรรมทำนองนี้ เมื่ออธิบายให้เข้าใจ พ่อเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร

“เพื่อนเยอะดีครับ” รอยยิ้มนั้นทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อพูดถึงเพื่อนๆ ในกองบัญชาการแห่งนี้

ส่วน หนุ่มหัวฟูปี 1 จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกริกพล รื่นอารมย์ ที่เข้ามารับหน้าที่ “ฟรีแลนซ์” (เจ้าตัวแอบกระซิบว่าจริงๆ มันก็คือหน้าที่ “ทำทุกอย่าง”) มองว่า เขาได้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมแทบทุกกระบวนการ ซึ่งตรงนี้เหมือนการสร้างความมีส่วนร่วมให้กับทุกคน

ขณะที่ พรรัตน์ รัตนะ หรือ ไอซ์ สาวศิลปศาสตร์ปี 1 ที่กระโจนเข้ามาร่วมขบวนล้อฯ ครั้งนี้ด้วยการได้ยินเรื่องราวขบวนล้อฯ เมื่อปีก่อนเป็นแรงบันดาลใจรู้สึกว่า ถึงแม้ก้าวแรกจะเป็นเรื่องแนวคิดทางการเมืองที่เป็นต้นทุน แต่พอเข้ามาจริงๆ ตัวเธอได้ถูกเปิดวงสังคม และมุมมองเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวอื่นๆ ในสังคมให้กว้างขึ้นไปอีก

“ลูกเทพอะไรนี่ก็หยิบมาคุยกันนะคะ” เธอยกตัวอย่างก่อนจะขอตัวไปทาสีต่อ

ระหว่างนั้น แรงงานหน้าใหม่ๆ ได้ทยอยสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาถามไถ่ เสียงโวยวายมีให้ได้ยินบ้าง พอๆ กับเสียงหัวเราะจากการเย้าล้อกันไปมา ถึงอากาศเริ่มเย็นขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความคึกคักของกองบัญชาการแห่งนี้ลดน้อยลงเลย

โต้รุ่งกันเลยล่ะครับใครบางคนเล่าด้วยรอยยิ้ม

###

เลาะขบวนล้อฯ

เนื้อหาของขบวนล้อการเมืองได้กลายเป็นอะไรที่คน “ปูเสื่อ” รอ แต่กว่าจะกลายมาเป็นขบวนล้อการเมืองที่ปรากฏอยู่ในสนามให้ผู้ชมเห็นยังมีขั้นตอนอะไรต่างๆ มากมาย

อย่างขบวนล้อการเมือง 71 ครั้งนี้ พวกเขาใช้เวลาเตรียมตัวกันตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 เพื่อมองประเด็น และจับกระแสการเมืองในรอบปีที่ผ่านมา ก่อนจะผ่านกระบวนการหารือ-ถกประเด็นสำหรับเรื่องที่จะนำมาผูกร่างสร้างเป็นหุ่นขึ้นมาแต่ละชุด

ปีนี้ ทีมงานยอมรับว่ามีเวลาเตรียมตัวค่อนข้างน้อย เนื่องจากการเลื่อนเปิดภาคเรียนตามการเปิดประชาคมอาเซียน ทำให้เวลาทำงานของพวกเขามีอยู่ราว 25 วันเท่านั้น

ประเด็นที่ถูกเลือกขึ้นมาในปีนี้ ทีมงานตกลงกันเอาไว้ทั้งหมด 5 ชุด คือ รัฐธรรมนูญ ความมั่นคงทางไซเบอร์ ความสัมพันธ์ไทย-จีน คอรัปชั่น และเสียดสี

พวกเขายกให้ ประเด็นคอรัปชั่น และรัฐธรรมนูญ ถือเป็นตัวเอกของขบวนล้อการเมืองในปีนี้ เพราะเป็นเรื่องที่มีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง และหลากหลายที่สุดในรอบปีที่ผ่านมา หลายๆ กรณีในข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตคอรัปชั่นถือเป็นสิ่งที่พวกเขาจะต้องทำหน้าที่กระตุ้นเตือนสังคมไม่ให้มองผ่าน หรือมองข้ามความ “ผิดปกติ” ไป เหมือนอย่างที่ขบวนล้อการเมืองเคยทำหน้าที่มาทุกๆ ปี

ขณะที่ประเด็นรัฐธรรมนูญนั้น ถือเป็นอีกเรื่องที่ผู้คนในสังคมควรจะตระหนักรู้ โดยเฉพาะเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น มีจุดประสงค์ หรือเป้าหมายอย่างไรบ้าง โดยจะเป็นการชวนฉุกคิด และตั้งคำถามให้มากขึ้น

ขบวนที่ 1 รัฐธรรมนูญ

ประเด็นหลักๆ ของหุ่นขบวนนี้อยู่ตรงที่ รัฐธรรมนูญถูกเขียนขึ้นมาโดยมีข้อสังเกตที่น่าเป็นห่วงในเรื่องกรอบของสิทธิเสรีภาพ ที่หมิ่นเหม่คาบเกี่ยวไปถึงการริดรอนสิทธิ อีกทั้งคล้ายๆ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมีในการจัดการกับขั้วการเมืองที่เห็นต่าง ซึ่งอาจจะทำให้วัตถุประสงค์ของการใช้รัฐธรรมนูญเพื่อเป็นกฎหมายในการบริหารประเทศผิดไปจากที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจจะทำให้ประชาชนไม่ได้มีอำนาจอย่างแท้จริง และในปีนี้มีวาระตรงกับ 40 ปี เหตุการณ์ “ 6 ตุลา” ดังนั้นพวกเขาจึงจำลองหุ่น 6 ตุลากำลังใช้ความรุนแรงกับรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อใช้บอกเล่ามุมมองเหล่านี้

ขบวนที่ 2 ความมั่นคงไซเบอร์

ความมั่นคงไซเบอร์ หรือ นโยบาย Single Gateway เป็นอีกเรื่องที่มีข้อถกเถียงอย่างมาก รวมทั้งปฏิกิริยาสะท้อนกลับที่ค่อนข้างชัดเจน เรื่องนี้ทีมล้อฯ จึงแทนเกราะป้องกันข้อมูลข่าวสารของประเทศ ด้วย “กะลา” ซึ่งหากเกิดการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจริงๆ จนกลายเป็นความกังวลถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสิทธิส่วนบุคคล หากเปิดโอกาสให้กับเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ตลอดเวลา หุ่นขบวนนี้จึงทำหน้าที่ชวนคนในสังคมตั้งคำถามถึงแนวนโยบายที่กำลังจะถูกใช้ว่าเป็นผลดีจริงไหม หรือมีปัญหาอะไรที่รออยู่ผ่าน ลูกธนูที่พยายามปักทะลวงกะลาที่ครอบประเทศไทยไว้ โดยมีรูอยู่ตรงกลาง

ขบวนที่ 3 ความสัมพันธ์ไทย-จีน

เป็นการสะท้อนระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมหาอำนาจของเอเชียอย่างจีนในช่วงที่ระบบทางการเมืองของไทยเปลี่ยนไป การเจรจาต่อรองทางการค้าโดยเฉพาะเรื่องข้าวกับรถไฟความเร็วสูงที่เมื่อลงในรายละเอียดนั้น ประเทศไทยค่อนข้างเสียเปรียบในหลายๆ เรื่อง คล้ายๆ กับประเทศไทยกำลังเป็นลูกไก่ในกำมือของจีน โดยสื่อสารออกมาผ่านหุ่นมังกรสีแดงเหลืองตัวใหญ่ มีเด็กกำลังเล่นรถไฟอยู่ในอุ้มมือ เพื่อสื่อถึงการครอบงำของอิทธิพลจีน

ขบวนที่ 4 คอรัปชั่น

ถือเป็นหัวเรื่องที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน ประเด็นนี้ ถูกหยิบขึ้นมานำเสนอทุกปี โดยในปีนี้ ภาพที่ต่างออกไปอยู่ตรงรัฐบาลในสภาวะ “ไม่ปกติ” ซึ่งทำให้การวิพากษ์วิจารณ์ทำได้น้อย การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบทำได้ไม่เต็มที่ อีกทั้งภาครัฐเองก็ไม่ได้เปิดโอกาสให้ออกมาแสดงความคิดเห็นเท่าที่ควร จนอาจจะนำไปสู่คำถามที่คาใจประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะหลายๆ กรณีในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยสื่อผ่าน “หุ่นดาร์กเวเดอร์” มาเป็นสัญลักษณ์ของ “อำนาจนิยม” ที่คนทั่วไปรับรู้ รวมทั้งองค์ประกอบที่เกี่ยวกับการคอรัปชั่นอื่นๆ

ขบวนที่ 5 “อีเจี๊ยบเลียบอาวุธ

หุ่นตัวนี้เป็นการจำลองเพจดังจากโซเชียลมีเดีย “อีเจี๊ยบเลียบด่วน” ด้วยความแรงของ “กองแช่ง” ทำนอง “เข้าแก็งค์ไหน หัวหน้าตายหมด” โดยที่ผ่านมาไม่ว่าอีเจี๊ยบจะใส่เสื้อเชียร์ทีมไหน ทีมนั้นก็แพ้หมดหน้าตักแบบไม่ต้องสืบ พวกเขาจึงนำอีเจี๊ยบฯ มาสวมเสื้อลายพราง โดยมีเอกลักษณ์อยู่ตรงป้ายผ้า “เรารักทหารไทย”

แน่นอน ถ้าถามว่าตัวไหนมีปัญหามากที่สุดในการทำ ทุกคนต่างยกให้ ...ตัวนี้

###

เนื้อในหนัง ล้อการเมือง

นอกจากจะเป็นประเด็นที่ คสช.ให้ความสนใจเพราะเนื้อหาที่เสียดสี หรือ ล่อแหลมต่อความเข้าใจผิดนั้น ในทางกลับกันก็ยังมีดอกผลมากมายที่ถูกต่อยอดออกมาจากขบวนล้อการเมือง รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และการเรียนรู้ระบุว่า สิ่งที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ก็คือ การเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ที่ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยไหนก็จะมีการหยิบเอาประเด็นที่สำคัญทางสังคมเพื่อมาชี้นำให้เห็นมุมมองที่แปลกใหม่ที่คิดว่าสังคมอาจจะยังไม่ได้ฉุกคิดในประเด็นเหล่านั้น

“หลายๆ ครั้งประเด็นที่นักศึกษานำขึ้นมาก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงขึ้นมาในนโยบายของรัฐ หรือเกิดการทบทวนในนโยบายของรัฐ ดังนั้น ขบวนล้อการเมือง ไม่เพียงแต่เป็นกิจกรรมนักศึกษาทั่วไป แต่มันเป็นขบวนการที่แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดของนักศึกษาที่มีความห่วงใยต่อบ้านเมือง และอยากจะเห็นบ้านเมืองนี้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น”

ด้านฝ่ายภาครัฐอย่าง คสช.ก็ออกตัวว่า ไม่ได้จับตาอะไรเป็นพิเศษ เรื่องนี้ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคสช. ยืนยันเมื่อถูกถามถึงขบวนล้อการเมืองในงานฟุตบอลประเพณีฯ ครั้งที่ 71

เขามองว่าการจัดกิจกรรมทุกกิจกรรมนั้น หน้าที่ของเจ้าหน้าที่คือคอยให้การอำนวยความสะดวกมากกว่าการ “จ้องจับผิด” รวมทั้งการดูแลความปลอดภัยของผู้ร่วมงานที่อาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน หรือเกิดการแทรกแซงจากผู้ไม่หวังดีมากกว่า

ตลอดเวลาที่ผ่านมา โฆษกคสช. บอกว่า กิจกรรมของทางมหาวิทยาลัยกับเจ้าหน้าที่ก็มีความเข้าใจกันดี บางกิจกรรมที่ออกมาก็เพื่อความบันเทิง หรือเป็นสีสัน เพียงแต่ที่ต้องระวังก็คือเรื่องของประเด็นที่อาจจะเกี่ยวกับการเมืองโดยตรง ซึ่งอาจจะกลายเป็นการชี้นำทางความคิด ที่อาจะเกิดความเข้าใจผิด และความขัดแย้งตามมาได้

“ทางสถาบันการศึกษา คณาจารย์ที่ดูแลนักศึกษาอยู่ก็เข้าใจกับบริบททางการเมืองในปัจจุบันที่ค่อนข้างอ่อนไหว ซึ่งเขาก็หลีกเลี่ยงกันอยู่แล้ว และปัจจุบันเองนักศึกษาทั้งหมดก็เข้าใจ จะมีปัญหาก็มีแต่ส่วนน้อยเท่านั้น”

###

กว่าจะเป็น...ล้อการเมือง

ขบวนพาเหรด มีขึ้นอย่างจริงจังในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ -ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2481 เมื่อย้ายมาจัด ณ สนามศุภชลาศัย ซึ่งเป็นสนามกีฬาแห่งชาติ โดยสมัยก่อนจะมีความยาวมาก ทั้ง ดรัมเมเยอร์ วงดุริยางค์ ขบวนนิสิตนักศึกษา รวมทั้งขบวนล้อการเมือง ซึ่งในช่วงแรกเป็นชุดคั่นระหว่างชุดอื่นๆ

แต่ต่อมาในยุค 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 ก็มีเพิ่มมากขึ้นโดยเน้นวิพากษ์วิจารร์สังคมการเมืองอย่างชัดเจน จากหลักฐานภาพถ่ายที่พบเคยมีป้ายผ้าที่เขียนข้อความ เช่น “ปี (แห่งความขมขื่น) ของชาวนา” (ไม่ปรากฏปี แต่พออนุมานได้ว่าอยู่ก่อน พ.ศ. 2511)และขบวนพาเหรดล้อการเมือง ยังปรากฏต่อมาในลักษณะของการแต่งกาย มีพร็อพ หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นมา เพื่อให้การวิพากษ์วิจารณ์เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น

  ต่อมาในสมัยที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และอีกหลายคณะได้เกิดขึ้นในธรรมศาสตร์ ในช่วงที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ได้มาอยู่ที่ศูนย์รังสิตกันเกือบทุกคณะ การมีส่วนร่วมของทั้งสายสังคม สายวิทย์ ก็ได้เกิดขบวนพาเหรดที่มีหุ่นจากโครงไม้ ขึ้นโครงลวด แปะทับและทาสี จนมีลักษณะเป็น 3 มิติ อย่างทุกวันนี้ และยังมีกลอนป้ายผ้า ซึ่งหุ่นแต่ละตัวจะมีกลอนเพื่ออธิบายความคิด หรือคอนเซปต์ของหุ่นด้วย

ที่มา : www.cuaa.chula.ac.th/activities/cu-tu-football

สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

ภาพธรรมศาสตร์ โดย คณะทำงานจัดทำหนังสือภาพธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2541